โลกหมุนเร็ว/ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /ผู้ประกอบการ กับภูมิปัญญาดัดแปลง

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

ผู้ประกอบการ กับภูมิปัญญาดัดแปลง

 

ไปเที่ยวสงขลาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ในระหว่างที่สงขลากำลังอยู่ระหว่างเดินหน้าเข้าสู่การเป็นเมืองมรดกโลกโดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

เดินเที่ยวอยู่บนถนนนางงามซึ่งเป็นถนนสายหลักในตัวเมือง

สังเกตว่าเจ้าของร้านค้าต้อนรับคนต่างถิ่นเป็นอย่างดี

และมักจะถามว่าไปเที่ยวตรงโน้นตรงนี้มาหรือยัง เข้าใจว่ามีการรับรู้เรื่องการเดินหน้าเมืองมรดกโลกกันโดยถ้วนทั่ว

เมืองสงขลาสงบแต่ไม่เงียบเหงา รู้สึกได้ถึงความมีชีวิตจากความมั่นคงที่ทุกคนมีอาชีพ มีกิจการ มีการทำมาหากิน ถนนหนทางสะอาด มีระเบียบ มีการเติมศิลปะเข้าไปในเมืองเป็นภาพวาดบนกำแพงเพื่อดึงดูดความสนใจ

ยังคงรักษาวิถีชีวิตเดิมของคนสงขลาอย่างแท้จริง

ไม่มีคนต่างถิ่นเข้ามาทำธุรกิจ เปิดร้านกาแฟ เปิดโรงแรม และตักตวงทรัพยากรของสงขลาไป

ที่พักนักเดินทาง ร้านอาหาร ร้านขนม ร้านกาแฟ ล้วนมีเจ้าของเป็นคนท้องถิ่น

จุดนี้คือจุดแข็งของสงขลาที่เข้าใจว่าคนสงขลาช่วยกันรักษาเอาไว้

รวมพลังอย่างแข็งแกร่งเพื่อรักษาไว้ให้เป็นของคนสงขลาเท่านั้น

 

 

หนึ่งในธุรกิจที่พักที่อยู่บนโลเกชั่นที่ดีที่สุดบนถนนนางงามคือ บ้านในนคร ที่ผู้เขียนกับเพื่อนๆ ไปพัก

ทำให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า เมืองสงขลาจะเข้มแข็งได้ ต้องสร้างผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อรักษาธุรกิจในท้องถิ่นไว้

นอกจากบ้านในนครแล้ว เรายังไปเยี่ยม “ร้านหนังสือเล็กๆ” ของคุณอริยา ไพฑูรย์

ไปเยี่ยมแกลเลอรี่ของคุณปกรณ์ รุจิระวิไล ทั้งคู่เป็นคนสงขลาที่กลับมาบ้านเกิดเพื่อเป็นผู้ประกอบการ

บ้านในนคร เป็นบูติกโฮเต็ลของคุณดนัย โต๊ะเจ อดีตพนักงานของการบินไทย กับคุณนุชภรรยาซึ่งเป็นชาวสงขลา

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการบินไปประเทศต่างๆ เห็นที่พักมากมาย วัฒนธรรมมากมาย ก็กลับมาเปิดที่พักของตัวเอง

บ้านในนครเป็นบ้านเก่าอายุร่วม 100 ปีบนถนนนางงาม ตัวบ้านนี้เปลี่ยนมือมา 4 ครั้งจนมาถึงคุณดนัย หรือคุณแม ในห้องรับรองคุณแมยังวางรูปของเจ้าของเดิมทั้ง 3 ท่านไว้ให้เราได้รู้จักผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ก่อนจะมาเป็นที่พักนักเดินทางเช่นในปัจจุบัน

การมีเรื่องราวดั้งเดิม ทำให้สถานที่มีคุณค่าและความหมาย

 

ตึกหลังนี้เคยเป็นที่พักของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นตึก 3 ชั้นที่แข็งแรงมากหลังหนึ่งในสมัยนั้น

แข็งแรงหรือไม่ เวลาผ่านไปร้อยปียังนำมาทำเป็นโรงแรมได้เลย

เจ้าของบ้านที่มีชื่อในโฉนดที่ดินคนแรกคือพระนิเทศโลหะสถาน (วู้ดฮัล วุฒิภูมิ) ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงให้มาวางผังเมืองสงขลา และแบ่งปันเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย

 

ต้องไม่แปลกใจที่การเดินเที่ยวในตัวเมืองสงขลานั้นเดินสบาย ถนนทุกสายตัดเป็นบล๊อกสี่เหลี่ยมถึงกันหมด เหมือนนิวยอร์กน้อยๆ

เช่นเดียวกับที่พักแบบบูติกหลายแห่ง บ้านในนคร สะท้อนตัวตนของคุณแมผู้เป็นเจ้าของ เหมือนที่คุณแมบอกว่านำสิ่งเก่าและสิ่งใหม่มาผสมผสานกัน ถ้าถามว่าทำไมทุกวันนี้ที่พักแบบนี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น เหตุผลหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า เราได้สัมผัสตัวตนของเจ้าของ ซึ่งแตกต่างจากการไปพักโรงแรมที่มีรูปแบบเหมือนกันไปหมด

เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงสถานที่ซึ่งคุณแมบอกว่าใช้เวลา 6-7 เดือน คุณแมใช้วัสดุที่สะท้อนความเป็นภาคใต้ ตั้งแต่การเอาผ้าบาติกมาเย็บต่อกันเป็นม่านหน้าต่างทุกห้อง นำมาบุผ้าเป็นผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุมกล่องทิชชู่ ผ้าปูโต๊ะ และรองจาน

หลายอย่างที่คุณแมลงทุนทำเอง ทั้งที่ควรเป็นงานของช่างปูน เช่น การเรียงโมเสกที่พื้นให้เป็นลวดลายสวยงามแทนพรม เพราะช่างปูนคงจะทำไม่ได้อย่างใจ

ผนังของตึกแห่งนี้เมื่อปูนกะเทาะออกจะเห็นอิฐเปลือย ซึ่งบอกยุคสมัยและคุณลักษณะของท้องถิ่น อิฐแต่ละก้อนมีความยาวกว่าอิฐอยุธยา บ่งบอกว่านี่คืออิฐของสงขลา ไปเห็นที่ไหนก็บอกแหล่งที่มาได้

รายละเอียดหลายอย่างที่คุณแมใช้ “ภูมิปัญญาดัดแปลง” นำมาใช้ เช่น ไม้สามเหลี่ยมเล็กๆ ที่รองขั้นบันไดจากบ้านเดิมก็นำมาเป็นเท้าแขนรองชั้นวางของ เป็นต้น

การเป็นผู้ประกอบการที่พักแบบโฮสเทลเช่นนี้ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ อ่านใจผู้มาพักว่าต้องการอะไร คุณแมจัดอาหารท้องถิ่นแทรกเข้าไปในมื้อเช้า เช่น แทรกข้าวเหนียวหน้าแกงกุ้งที่เราไม่เคยรู้จักว่าคนสงขลาเขากินกัน

ทำให้เราได้สัมผัสสิ่งแปลกใหม่ที่จดจำไปเล่าต่อ

 

คนสงขลามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะรักษาความเป็นเมืองที่สงบ ปลอดภัย ปลอดจากอบายมุข คุณแมไม่อนุญาตให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาบริโภคในที่พัก เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้เมืองสงขลาปลอดจากอบายมุขต่างๆ นั่นเอง

คงไม่ยากอะไรสำหรับคนสงขลาซึ่งมีพื้นฐานทางธุรกิจอยู่แล้วที่จะผุดขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทำสงขลาให้พร้อมสำหรับการเปิดประตูให้คนจากที่อื่นเข้ามารู้จักสงขลา

และเท่าที่รู้ แหล่งประวัติศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่พันปีก่อนเมื่อมุสลิมเป็นผู้ครอบครองคาบสมุทรนี้กำลังถูกฟื้นฟู เพื่อให้เรารู้ลึกถึงความเป็นมาของสงขลามากขึ้น เป็นการศึกษาจากของจริงนอกเหนือไปจากการเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์สงขลา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าชมมากจริงๆ

กลับจากสงขลาด้วยความรู้สึกว่า “ต้องไปอีก” เพราะรู้ว่ายังมีอะไรที่เคลื่อนไหวต่อเพื่อนำอดีตมาสู่การชื่นชมในปัจจุบัน