แยกกองทัพจากทหารการเมือง – ภารกิจ ผบ.ทบ.ในระยะเปลี่ยนผ่าน : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ยิ่งประเทศเดินหน้าสู่การเลือกตั้งมากเท่าไร

ความกังวลว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งก็รุนแรงขึ้นเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความเชื่อว่าจะมีรัฐประหารขวางเลือกตั้งเหมือนอย่างที่เคยเกิดในเดือนกันยายน 2549 ก็มีมากขึ้น

เช่นเดียวกับความวิตกว่าอาจมีการล้มเลือกตั้งในกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ คสช.ต้องการ

ภายใต้กระแสข่าวเรื่องเลื่อนหรือล้มเลือกตั้งในบั้นปลาย

สื่อพยายามกดดันให้ผู้บัญชาการทหารบกตอบตรงๆ ว่าจะไม่รัฐประหารได้หรือไม่

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พลาดที่บอกว่ากองทัพจะยุ่งการเมืองเมื่อมีเหตุจำเป็น

เพราะจากนั้นสื่อก็รายงานว่า ผบ.ทบ. “ไม่รับปากไม่รัฐประหาร” จนถูกคนส่วนใหญ่โจมตีไม่มีชิ้นดี

ภายใต้กระแสวิจารณ์จากคนแทบทุกกลุ่มในสังคม ผู้บัญชาการเหล่าทัพรายอื่นๆ ปกป้องคุณอภิรัชต์โดยยืนยันว่ากองทัพจะยุ่งการเมืองเฉพาะเวลาที่มีเรื่องเท่านั้น

ผลก็คือกระแสสังคมที่วิจารณ์ข่าวผู้บัญชาการทหารบกขู่รัฐประหารกลายเป็นวิจารณ์ข่าวใหม่ว่าผู้นำทุกเหล่าทัพดาหน้าขู่รัฐประหารไปโดยปริยาย

นอกจากสื่อหรือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารจะมองว่าคำพูดคุณอภิรัชต์คือการขู่ใช้กำลังล้มรัฐบาล

สื่อหรือพรรคที่อวยทหารก็ตีความว่าคำพูดนี้เป็นการขู่ยึดอำนาจเหมือนกันด้วย เพียงแต่คนกลุ่มนี้ยุว่าผู้บัญชาการทหารบกทำถูกที่พูดแบบนี้ ไม่อย่างนั้นความสงบในบ้านเมืองไม่มีวันเกิดขึ้นมา

พล.อ.อภิรัชต์เข้าสู่ทางสายใหม่ของชีวิตท่ามกลางการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่มีโอกาสก่อรัฐประหารที่สุด

ทั้งที่ท่านเป็นข้าราชการ ซึ่งโดยหลักและโดยกฎหมายแล้วต้องไม่ยุ่งกับการเมืองเลยก็ตาม

ภูมิหลังด้านครอบครัวของ พล.อ.อภิรัชต์เป็นหนึ่งในเหตุแห่งความระแวงท่านในปัจจุบัน

แต่ที่จริงการที่ท่านเป็นลูกของหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2534 ไม่ควรเป็นเหตุให้ท่านถูกมองว่าจะรัฐประหารในอนาคต ไม่ต้องพูดว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2534 มีพฤติกรรมต่างจากหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 อย่างสิ้นเชิง

พูดอย่างรวบรัดที่สุด พล.อ.สุนทรยึดอำนาจแล้วไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ, ไม่มีการสมนาคุณพลเอกผู้ก่อรัฐประหารโดยตั้งทุกคนเป็นรัฐมนตรีอย่างปัจจุบัน

นายกฯ หลังรัฐประหารคืออดีตทูตซึ่งไม่มีพฤติกรรมรับใช้คณะรัฐประหาร และรัฐมนตรีส่วนใหญ่คือนักบริหารภาคเอกชนที่เป็นลูกจ้างมากกว่าเจ้าสัวนายทุน

ตรงข้ามกับข้อครหาว่าผู้บัญชาการทหารบกจะรัฐประหารเพราะชินชากับการยึดอำนาจ

ความเป็นจริงคือ ท่านมีโอกาสดีกว่าคนอื่นที่จะเห็นหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งไม่มีพฤติกรรมสืบทอดอำนาจ, ไม่มีส่วนเป็นนายกฯ คนนอกหลังเลือกตั้งปี 2535 และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการที่สามพลเอก “สุ/เต้/ตุ๋ย ปราบปรามประชาชน

พูดอย่างตรงไปตรงมา พล.อ.อภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเวลาที่ความสัมพันธ์ของกองทัพกับการเมืองมีปัญหาที่สุดในประวัติศาสตร์

และความไม่ปกตินั้นทำให้สังคมระแวงการรัฐประหารโดยตรง

แม้ผู้บัญชาการทหารบกจะเป็นข้าราชการประจำที่โดยหลักแล้วไม่ควรยุ่งการเมือง

แต่ด้วยความเป็นจริงของประเทศที่ทหารตั้งตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลของประเทศโดยต่อเนื่องหลังปี 2549 ข้าราชการตำแหน่งนี้ยุ่งการเมืองจนแทบเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในความเป็นจริง

นับตั้งแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้กองทัพล้มล้างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ทั้งที่มีประชาชนเลือกเกือบ 17 ล้านคน ผู้บัญชาการทหารบกกลายเป็นข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายเลือกนายกฯ ถึง 2 คน ทั้งโดยรัฐประหารแล้วให้พลเอกที่เป็นองคมนตรีเป็นนายกฯ ในปี 2549 และรัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ในปัจจุบัน

12 ปีหลังรัฐประหาร 2549 คือ 12 ปีที่คนไทยถูกปกครองด้วยนายกฯ ของผู้บัญชาการทหารบกโดยตรง 5 ปีครึ่ง

หรือหากรวมรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีคนเชื่อว่าได้เป็นนายกฯ เพราะทหารช่วย ประเทศไทยก็อยู่ใต้นายกฯ ของทหารถึง 8 ปี

ขณะที่นายกฯ ซึ่งประชาชนเลือกนั้นได้ปกครองประเทศแค่ 4 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากผู้บัญชาการทหารบกจะมีอำนาจในการเลือกนายกฯ และตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ตรงๆ

ผู้บัญชาการทหารบกยังเป็นข้าราชการตำแหน่งเดียวที่ได้เป็นรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหารปี 2549 ด้วยเช่นกัน

หลังปี 2549 เป็นต้นมา ผู้บัญชาการทหารบกที่ได้เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีมีทั้งสิ้น 4 ราย

คุณประวิตรที่จะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม 8 ปี หากอยู่ในตำแหน่งนี้ถึงเลือกตั้งปีหน้า

คุณประยุทธ์และคุณอนุพงษ์จะเป็นนายกฯ และรัฐมนตรี 5 ปี

ส่วนคุณอุดมเดช สีตบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหมในรัฐบาลที่ร่วมรัฐประหารขึ้นมา ถ้าไม่นับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ผู้บัญชาการทหารบกทุกคนล้วนเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดยรัฐประหารเองหรือโดยรุ่นน้องสมนาคุณก็ตาม

ภายใต้สภาพที่กองทัพทวีอิทธิพลทางการเมือง ผู้บัญชาการทหารบกที่อยู่ในตำแหน่งนานล้วนมีโอกาสดำรงตำแหน่งการเมืองสูงกว่าคนอื่น

ตัวอย่างเช่น คุณประยุทธ์คุมกองทัพบก 4 ปีแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ เกือบ 5 ปี

ส่วนคุณอนุพงษ์คุมกองทัพบก 3 ปี แล้วคุมมหาดไทยหลังรัฐประหารจนปัจจุบัน

สำหรับผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มที่มีตำแหน่งแค่ 1 ปีอย่าง พล.อ.อุดมเดช, พล.อ.ธีรชัย และ พล.อ.เฉลิมชัย คนแรกได้เป็นแค่รัฐมนตรีช่วยกลาโหมเท่านั้น

ส่วน พล.อ.ธีรชัย และ พล.อ.เฉลิมชัยไม่มีตำแหน่งอะไรในคณะรัฐบาลด้วยเหตุผลที่กล่าวไป

ด้วยภูมิหลังที่ผู้บัญชาการทหารบกยุ่งการเมืองจนตั้งตัวเองเป็นนายกฯ, มีส่วนเลือกให้คนเป็นนายกฯ รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

สังคมไทยมีเหตุให้ระแวงว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ยุ่งการเมืองจนอาจก่อรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะท่านจะคิดอย่างที่คนกังวลหรือไม่ได้คิดเลยก็ตาม

จากรัฐประหาร 2549 ถึงรัฐประหาร 2557 ผู้บัญชาการทหารบกกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนตั้งตัวเองเป็นนายกฯ และตั้งพรรคพวกเป็นรัฐมนตรีอย่างไม่เคยปรากฏในสมัยอื่นๆ

ความกังวลจึงเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์จากความเป็นจริงที่ถอยหลังสู่ทิศทางที่เลวร้ายก่อน พล.อ.อภิรัชต์จะดำรงตำแหน่งนี้หลายปี

หนึ่งในสาเหตุที่คนจำนวนหนึ่งเบื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งคือความรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่ทำให้ได้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่รัฐบาลทหารที่เกิดหลังปี 2549 และปี 2557 ทำให้ประชาชนเห็นว่าชนชั้นนำที่เกาะกลุ่มด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องและกำลังอาวุธไม่มีทางเป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่ในสังคม

นักรัฐศาสตร์อาวุโสที่เสียชีวิตไปแล้วอย่างศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยเสนอว่าการที่กองทัพมีอำนาจการเมืองคือประตูสู่การพังทลายของกองทัพในระยะยาว

เหตุผลคือ เมื่อตำแหน่งทางทหารเป็นที่มั่นของอำนาจการเมือง นายพลที่เป็นนายกฯ ย่อมทำทุกทางให้ทหารที่เป็นคนของตัวเองคุมกองทัพตลอดไป

เมื่ออำนาจทางทหารควบแน่นกับอำนาจการเมือง บุคลากรคุณภาพสูงจะไม่พอใจที่การโยกย้ายในกองทัพเชื่อมโยงกับการสร้างฐานอำนาจเพื่อนายกฯ นายพลไม่รู้จบ

ส่วนบุคลากรคุณภาพต่ำก็จะเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อหวังโตทางลัดมากขึ้น

ผลก็คือกองทัพสูญเสียความเป็นทหารอาชีพและระบบคุณธรรมเสื่อมทราม ในคำอธิบายของอาจารย์ชัยอนันต์ซึ่งพัฒนาจากการพิจารณาความสัมพันธ์ของกองทัพกับการเมืองใน 8 ปีที่ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ

ทหารซึ่งเสียโอกาสเติบโตทางวิชาชีพจะเห็นว่าการล้มรัฐบาลคือวิธีทลายความอยุติธรรมในกองทัพที่ดีที่สุด จากนั้นการรัฐประหารหรือผลักดันให้เปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ ก็จะตามมา

พล.อ.อภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหารบกในระยะเปลี่ยนผ่านที่กองทัพมีภารกิจสำคัญกว่ารับใช้การเมือง

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองจากปี 2549 ถึงปี 2557 ได้สร้างทหารการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ ต้องการดึงกองทัพไปเป็นฐานอำนาจตัวเองอย่างที่ทำสำเร็จมาเกือบจะตลอด 12 ปี

เพื่อที่จะทำให้กองทัพเป็นหนึ่งในเสาค้ำประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน

กองทัพต้องกลับไปสู่ความเป็นกลาง, เป็นทหารอาชีพ และไม่รับใช้กลุ่มการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น

เพราะกองทัพที่เอียงย่อมกลายเป็นกองทัพที่เลือกข้าง และกองทัพที่เลือกข้างย่อมสูญเสียสมรรถนะในการอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนทุกฝ่ายในสังคม ทหารการเมืองถูกมองว่าไม่ใช่ตัวแทนคนส่วนใหญ่ได้

แต่กองทัพต้องไม่ถูกมองว่าเป็นลูกน้องทหารการเมืองจนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

อันที่จริง พล.อ.อภิรัชต์รับตำแหน่งสำคัญนี้โดยต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครมีสองประการ

หนึ่งคือ การมีตัวแบบอย่าง พล.อ.สุนทร ซึ่งแม้จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2534 ก็ไม่ถูกครหาว่าเป็นทหารการเมือง

และสองคือ การมีภารกิจที่อดีตผู้บัญชาการทหารบกเตรียมจะทำการปฏิรูปกองทัพครั้งสำคัญ

ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณราชการ พล.อ.เฉลิมชัยประกาศว่ากองทัพนับจากนี้จะดำเนินภารกิจสำคัญสามเรื่อง

หนึ่งคือ ปรับโครงสร้างกองทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์อนาคต

สองคือ การย้ายหน่วยงานรถถังและยานเกราะจากกรุงเทพฯ

และสามคือ ลดกำลังพลเพื่อลดงบฯ ที่ต้องจัดสรรให้ส่วนนี้ปีละ 40-50%

พล.อ.เฉลิมชัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกในระยะเปลี่ยนผ่านที่เผชิญสถานการณ์การเมืองเช่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์

แต่หนึ่งปีของ พล.อ.เฉลิมชัย คือหนึ่งปีที่กองทัพรับใช้ทหารการเมืองน้อยมาก

ซ้ำยังสามารถปักธงปฏิรูปกองทัพในแง่กำลังพล, ขนาด และงบประมาณในระยะยาว

ไม่ว่าผู้บัญชาการทหารบกจะมีมุมมองต่อการเมืองในปัจจุบันและความขัดแย้งในอดีตอย่างไร การลากเส้นแบ่งจากทหารการเมืองโดยขจัดเงื่อนไขซึ่งทำให้สังคมมองว่ากองทัพเลือกข้างจะเป็นประโยชน์กับกองทัพที่สุด เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพอย่างผู้บัญชาการทหารบกท่านที่แล้วพูดไป

แม้เวลานี้จะมีคนบางกลุ่มสนับสนุนให้ พล.อ.อภิรัชต์ยุ่งการเมือง แต่ผลลัพธ์คือกองทัพจะเสียหายมากขึ้นเพียงเพื่อได้รับคำสรรเสริญของพวกสอพลอซึ่งหวังให้คณะรัฐประหารชุดใหม่ตั้งให้มีตำแหน่งการเมือง