ศูนย์เยาวชนในหมู่บ้านตำรวจ ควรเดินหน้า ได้ประโยชน์กว่าเสาธงสูงสุดในโลก

เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง

จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล

จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์

(พระบรมราโชวาท พระราชทานไว้ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2518)

ความเจริญเติบโตทางกายภาพของกรุงเทพมหานครสามารถหลับตามองเห็นได้มานานหลายปีแล้ว

ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ตำรวจนครบาลที่มีสายตายาวไกลต่างมองไปถึงการแบ่งซอยเขตความรับผิดชอบ สถานที่ทำการและอาคารบ้านพัก ขยายตำแหน่ง เพิ่มกำลังพล เครื่องมือเครื่องใช้ ให้เพียงรับมือกับปัญหาของเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

เหตุใดจึงกล่าวเฉพาะตำรวจนครบาล?

ก็เพราะว่าคนไทยเราแต่ไหนแต่ไรมาจะทำหรือจะสร้างอะไรมักไม่คิดจะออกไปทำไกลตัว ทุกอย่างจึงแออัดยัดเยียดกันอยู่ในกรุงเทพฯ

อากร ฮุนตระกูล ลงสมัครรับเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ชูนโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ผมเห็นด้วยเต็มร้อย สื่อมวลชนฮือฮากันยกใหญ่ ได้เสียงมา 5 หมื่นเศษเท่านั้น

เมื่อเราต่างพอใจจะอึดอัดและเบียดเสียดกันในกรุง ตำรวจนครบาลก็จำเป็นจะต้องขยายตัวโตตามไปด้วยในหลายองคาพยพ

ในยุค พล.ต.ท.มนัส ครุฑไชยันต์ (พล.ต.อ./รอง อ.ตร.) เป็น ผบช.น. ท่านเป็นคนมีสายตายาวไกลและเป็นนักพัฒนา เห็นว่าการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกับเรื่องของอาชญากรรมและความมั่นคง ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการต่างๆ โดยมี พ.ต.อ.ภุชชงค์ จุณณวัฒน์ (พล.ต.ต.) ผู้กำกับการนโบายและแผนงานฯ เป็นเลขานุการ

 

แผนแม่บทของกรมตำรวจฉบับที่ 1 ปี พ.ศ.2530-2534 ที่ว่าด้วยเรื่อง “การให้สวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจ” มีส่วนหนึ่งกล่าวถึงการจัดสร้างอาคารที่ทำการและอาการที่พักรวมให้กับข้าราชการตำรวจ

ตำรวจนครบาลยุคนี้จึงผุดไอเดียโครงการสร้างที่ทำการใหม่และอาคารที่พัก 3 โครงการหลัก คือ

ที่ทำการ สน.บางชัน ให้มีอาคารที่พัก 12 หลัง จำนวน 360 ครอบครัว

ที่ทำการ สน.ประเวศ ให้มีอาคารที่พัก 12 หลัง จำนวน 360 ครอบครัว

ที่ทำการ สน.บางมด ให้มีอาคารที่พัก 10 หลัง จำนวน 300 ครอบครัว

หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จก็เท่ากับเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ตามมา และเป็นเรื่องปกติที่ย่อมมีปัญหาของสังคมตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวัยรุ่น หรือแม้แต่ตัวตำรวจเอง

ตำรวจนครบาลยุคนั้นจึงดำริจะจัดสถานที่ไว้สำหรับให้ตำรวจและครอบครัวได้ใช้ประกอบกิจกรรม ทั้งออกกำลังกาย และการสันทนาการต่างๆ

 

ปี2531 เป็นยุคสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนและสตรี ทั้งในเมืองและชนบทให้ได้ตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานโดยให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ รู้จักวิธีปฏิบัติตนในด้านสุขภาพพลานามัยและโภชนากร มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ มีสุขภาพจิตที่ดี มีคุณธรรมและจริยธรรม

โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนและศูนย์เยาวชนทั้งในเมืองและชนบท เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนโดยใช้กิจกรรมกีฬา นันทนาการ การฝึกอาชีพ รวมทั้งการฝึกอบรมด้านศีลธรรมและจริยธรรมเป็นหลัก

รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก ตรงกับความคิดของ บช.น. ที่ต้องการสถานที่สำหรับให้ตำรวจและครอบครัวได้ใช้ประกอบกิจกรรม ทั้งออกกำลังกาย และการสันทนาการต่างๆ รวมทั้งให้ตำรวจและครอบครัวตำรวจได้มีความสัมพันธ์กับประชาชนรอบบ้าน จึงเกิดขึ้น

ทั้งนี้ โดยใช้งบประมาณของ กทม. ทั้งในส่วนของการก่อสร้างอาคารและสนามกีฬา ตลอดจนการบริหารและจัดการศูนย์เยาวชน

ดังนั้น เมื่อ บช.น. เสนอโครงการก่อสร้างอาคารทั้ง 3 แห่ง พ.ต.อ.ภุชชงค์ จุณณวัฒน์ จึงปรับแผนเป็นเสนอสร้าง “ศูนย์เยาวชนในแฟลตตำรวจ” ซึ่งฝ่ายตำรวจจะได้กำไรทั้งขึ้นทั้งล่อง

แม้จะใช้เวลาเดินเรื่องประสานงานไป-มาระหว่างหน่วยงาน บช.น. กรมตำรวจ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร และกรมธนารักษ์ ผู้ดูแลที่ดินราชพัศดุ ในที่สุดโครงการนี้ก็สำเร็จที่ สน.บางมด ในปี พ.ศ.2532

 

หลังผมเกษียณอายุไม่นาน ยังปรับเศรษฐกิจส่วนตัวไม่ลงตัว ผมไปรับจ้างทำงานเอกชนแถวแขวงแสมดำ ถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน

เลิกงานที่บริษัทแล้ววันไหนไม่มีกิจธุระเร่งด่วน ขากลับบ้านก็อดไม่ได้ที่จะขับรถโฉบเฉี่ยวแวะเวียนผ่านเข้าไปหาบรรยากาศโรงพักที่บางมด

แล้วก็พบว่าบริเวณรอบ สน.บางมด หนาแน่นด้วยตึกรามบ้านช่องมากกว่าเดิมซึ่งเป็นพื้นที่กสิกรรม อย่างไรก็ตาม อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านแถวนั้นก็ยังอยู่ในรูปแนวนอนหรือ landscape ที่ดูเป็นแนวตั้งอยู่บ้างก็เฉพาะอาคารแฟลตที่พักของตำรวจ กับบางอาคารริมถนนใหญ่ (พระราม 2)

ที่น่าสนใจก็คืออาคาร “ศูนย์เยาวชน” ใกล้แฟลตมีสนามกีฬาบาสเกตบอลขนาดมาตรฐาน กับสนามฟุตบอลขนาดเล็ก เป็นภาพแปลกในสายตาคนกรุงที่แทบไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ จนเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่าต้องปรับที่ว่างบางมุมในแหล่งสลัมให้เป็นที่สาธารณะของส่วนรวม

ภายในตัวตึกสูง 3 ชั้น มีที่เพาะกาย ห้องอ่านหนังสือ ชั้นบนเป็นห้องประชุมและห้องสันทนาการ พัฒนาบุคลิกภาพ ฝึกโยคะ เรียนนาฏศิลป์ และดนตรีไทย ฯลฯ ครอบครัวชาวบ้านและครอบครัวตำรวจต่างมาใช้ประโยชน์จากศูนย์เยาวชนกันคึกคัก

เสียดายที่โครงการหลัง สน.ประเวศ ไม่ได้รับการสานต่อ ผ่านไปทางอุดมสุขแล้วใจไม่ค่อยดี เพราะราคาที่ดินละแวกนั้นแพงขึ้นทุกวัน ราคาที่ดินจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา

น่าจะมีใครสักคนเดินหน้าเรื่องศูนย์เยาวชน มีที่ดินว่างกว่าบางมด หมู่บ้านตำรวจก็ใหญ่กว่า ผู้ว่าฯ กทม. ยุคนี้ก็เป็นตำรวจเก่า เชื่อว่าสร้างศูนย์เยาวชนน่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าสร้างเครื่องรางของขลังหรือสร้างเสาธงสูงที่สุดในโลกนะครับ