จัตวา กลิ่นสุนทร : สถาบันพระมหากษัตริย์ (2)

ทีนี้ถึงพุทธศักราช 2075 ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิไทยจำเป็นต้องไปตีเขมร เพราะขอมแปรพักตร์อย่างที่ว่า ก็ได้ราชบุตร 2 พระองค์มาไว้เป็นตัวจำนำเช่นเคย คือ นักพระสุโธ…นักพระสุทัน วิธีที่จะเอาเขมรไว้ใต้อำนาจโดยมีตัวประกันอยู่ในพระราชสำนักของไทยทำกันติดต่อเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์

ปรากฏว่าในรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ก็มีรัชทายาทเขมร 2 พระองค์ ชื่อ นักองค์นโรดม กับ นักองค์ศรีสวัสดิ์ เป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดินเขมรมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศฯ โปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในฐานะโอรส มีเครื่องอิสริยยศอย่างเดียวกับพระองค์เจ้าอื่นๆ ต่อมาได้เสด็จกลับคืนประเทศกัมพูชา และได้เป็นพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์

เพราะฉะนั้น ที่กระผมกล่าวมานี้ก็เพื่อจะยืนยันว่า พระเจ้าอู่ทองเมื่อแรกตั้งกรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของอาณาจักรกัมพูชาทั้งหมด อาณาจักรกัมพูชาแต่ก่อนนี้เป็นอาณาจักรใหญ่เกือบจะเรียกได้ว่าปกครองภาคนี้ของเอเชียอาคเนย์

 

พระมหากษัตริย์เขมรทรงปกครองด้วยลัทธิไศเลนทร์ ซึ่งแปลว่าผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ลัทธิการปกครองเช่นนี้มาจากคติพราหมณ์ในศาสนาฮินดู ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในเอเชียอาคเนย์

ในสมัยก่อนนั้นพราหมณ์ได้มายกเอาระบบ หรือคติความเชื่อถือในการปกครองของคนในภาคนี้ เอามาพัฒนาให้เข้ากับลัทธิพราหมณ์ ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีแต่พระมหากษัตริย์ปกครอง เป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากนัก แรกถือว่านอกเมืองหลวงมักจะมีภูเขาซึ่งมีเทพเจ้า หรือเทพารักษ์สถิตอยู่บนนั้น เป็นที่เคารพนับถือของคนในเมืองต้องคอยเซ่นสรวงสังเวยเอาไว้เพื่อให้มีความสุขความเจริญ เทพารักษ์เช่นนี้จึงปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหง ว่านอกเมืองสุโขทัยบนภูเขามีพระภูมิ ถ้าใครเซ่นไหว้ดีมีสุข บ้านเมืองก็เจริญ

เมื่อพราหมณ์มาถึงก็พยายามพัฒนาจากนี้เพื่อเอาลัทธินับถือพระศิวะ พระอิศวร อย่างที่ไทยเรียกเอามาใส่ เพราะพระอิศวร พระศิวะของพราหมณ์นั้นอยู่บนเขาไกรลาสแล้วก็เป็นที่นับถือของพราหมณ์ทั่วไป

พราหมณ์ที่เข้ามานี้อยู่ในลัทธินับถือพระอิศวร เมื่อได้สร้างคตินี้ขึ้นในที่สุดก็เอาองค์พระราชาธิบดีแต่ละองค์ยกขึ้นเป็นพระเจ้าเพื่อให้คนนับถือ

ทีแรกก็ตั้งพระเป็นเจ้าขึ้นก่อน แล้วก็ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามคติพราหมณ์ เพื่อให้มีความขลัง และความศักดิ์สิทธิ์

 

ในสมัยสุโขทัยเราไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพระเจ้ารามคำแหงขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระเชษฐาธิราช ไม่มีปรากฏว่าทำอย่างไรกัน แต่ว่ามีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้แต่ที่ยังใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นพิธีพราหมณ์ทั้งสิ้น เป็นการให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่องค์พระมหากษัตริย์ด้วยวิธีต่าง ๆ กัน

แต่ที่สำคัญก็คือ ว่าด้วยวิธีอุปโลกน์ขึ้นให้เป็นพระเป็นเจ้าทั้ง 3 คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม

คติไศเลนทร์ เริ่มในอินโดนีเซียก่อน แล้วเผยแพร่มาถึงเขมร ซึ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ปกครองประเทศต่างๆ แถบนี้มาโดยตลอดหลายร้อยปี เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงได้รับพระราชอำนาจ คือ ทรงยึดอำนาจที่จะปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่นี้ได้จากพระเจ้าแผ่นดินเขมร ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องตั้งพระองค์ขึ้นเป็นองค์ไศเลนทร์

เพราะมิฉะนั้นก็จะไม่สามารถมีพระราชอำนาจปกครองดินแดนต่างๆ ที่เขมรเคยปกครองมาก่อน ที่จะปกครองกันแบบคติไทยอย่างพ่อขุนรามคำแหงนั้นอาจจะเหมาะสมสำหรับเมืองเล็ก แต่เมื่อสร้างอยุธยาแล้ว เพราะเหตุอยุธยาเป็นมหาอำนาจ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมาก ปกครองดินแดนแถบรอบประเทศไทยมากมายหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และมลายูในภาคกลางราชอาณาจักรนครศรีธรรมราชก็ยังมี แล้วก็แผ่อำนาจอิทธิพล ด้วยเหตุนี้จะเป็นพ่อเมือง พ่อขุน กันต่อไปไม่ได้ เพื่ออานุภาพของชาติไทย…

จะพูดอย่างนี้ก็ได้ และเพื่อความเจริญวัฒนาถาวรจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบ…

 

พระเจ้าอู่ทองจึงเข้ารับพระราชอำนาจที่เคยมีอยู่ต่อจักรพรรดิเขมรมาไว้ในพระองค์ และได้มีการตั้งพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่แรกเริ่ม ให้เกียรติพระเป็นเจ้าในศาสนาฮินดู หรือเป็นองค์ไศเลนทร์

ในที่นี้ ถ้าเราคิดอย่างนี้จะอธิบายอะไรได้หลายอย่าง คือเราต้องคิดว่าคติของคนโบราณนั้น ถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ไทย คือ องค์พระศิวะประทับอยู่บนเขาไกรลาส เขาไกรลาสตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่เป็นประเทศราชอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพทั้งหมด จะต้องมีกำหนดปีละครั้งบ้าง สองปีครั้งบ้างส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายเพื่อแสดงว่ายังเป็นประเทศราชอยู่

ก็น่าจะถามว่าทำไมต้องต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ทำไมไม่ถวายอย่างอื่น เพชรนิลจินดา แก้วแหวน…อะไรๆ งาช้าง สารพัด ทำไมมาเจาะจงเอาต้นไม้เงินต้นไม้ทองปีละคู่บ้าง สองปีคู่บ้าง ทำไมเอาแค่นั้น

ก็เพราะเหตุว่า ราชอาณาจักรขององค์พระมหากษัตริย์นั้นเปรียบประดุจดังป่าหิมพานต์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระศิวะประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ บ้านเล็กเมืองน้อย ถึงแม้แต่เมืองใหญ่ที่ต้องการจะเข้ามาอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพก็ต้องถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของป่าหิมพานต์

และเหตุนี้ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาเท่ากับปลูกต้นไม้ในป่าหิมพานต์

ระบบนี้ใช้กันเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ถวายกันมามีความหมายอย่างนี้ เราก็ยอมอยู่ในมหาอาณาจักรซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นประมุขปกครองอยู่ด้วยพระบรมเดชานุภาพ

 

นอกจากนั้น เมื่อลัทธิไศเลนทร์ได้เข้ามาเมืองไทย ไม่ใช่เราไปยอมรับ ไปจำแบบเขามา เรานำระบบนี้มาใช้เพราะองค์พระมหากษัตริย์ไทยได้รับชัยชนะต่อไศเลนทร์องค์เก่าและทรงเป็นไศเลนทร์องค์ใหม่มีพระราชอำนาจ จากนี้จะเห็นได้ว่าระเบียบแบบแผนและสถาปัตยกรรมต่างๆ ขึ้นอยู่กับเขาพระสุเมรุทั้งสิ้น

ผมอยากเรียนให้ทราบว่า ถ้าเผื่อท่านผ่านไปได้เห็นในจังหวัดไหน พระปรางค์หลายองค์ในสมัยอยุธยาก็ดี สมัยรัตนโกสินทร์ก็ดี เป็นการสร้างตามระบบไศเลนทร์ หรือตามคติไศเลนทร์

คือสร้างเป็นรูปพระศิวะขึ้นประทับบนยอดเขา แบบสถาปัตยกรรมของไทย เมื่อพูดกันถึงพระปรางค์เราเริ่มต้นจากฐานไป… “ปัทมะ” ดอกบัวเขาไกรลาสตั้งอยู่บนภูเขาหิมาลัย แต่ว่ามีทะเลสาบ มีดอกบัวล้อมรอบเรียกว่า สระมุจลินท์

ขึ้นเขาไปอีกหน่อยเป็นฐานสิงห์เพราะบนเขานั้นสิงห์อาศัยอยู่…

เหนือฐานสิงห์ขึ้นไปอีกเป็นฐานครุฑมีรูปครุฑจำหลัก บนชั้นสูงขึ้นไปนกใหญ่อาศัยอยู่ ยอดสุดเรียกว่าฐานเทพพนม มีรูปองค์เทพพนมจำหลักโดยรอบ

เพทพนมคือเหล่าเทพยดาที่มาสักการบูชาองค์พระศิวะ

และยอดปรางค์นั้นที่จริงคือรูปศิวลึงค์ เพราะคติพราหมณ์ถือว่าพระศิวะนั้นแสดงพระรูปบอกได้ในฐานะที่เป็นศิวลึงค์เท่านั้น พราหมณ์นับถืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปรางค์ก็ดี อะไรก็ดี เป็นอย่างนี้หมด

โบสถ์วัดพระแก้วก็เช่นกัน ขึ้นต้นฐานล่างเรียกว่าฐานปัทมะ…มีสิงห์รายรอบ…เหนือฐานสิงห์ขึ้นไปอีกชั้นก็เป็นครุฑ แล้วเข้าไปชั้นในแลเห็นองค์บุษบก มีชั้นเทพนม แล้วถึงองค์พระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกตใส่ไว้แทนที่เคารพสูงสุดคือองค์พระศิวะ สถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างนี้ทั้งหมด

พระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกก็อยู่ในแบบนี้ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์นั่นแหละก็มีฐานขึ้นไปอย่างนี้จนถึงองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ คือ องค์ไศเลนทร์ ระเบียบประเพณีทั้งหมดที่เริ่มตั้งแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยายังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้โดยไม่ได้เสื่อมคลายลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงยังคงมีอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ถ้าจะถามว่าองค์ไศเลนทร์เมื่อครั้งพันปีมาแล้วเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือไม่ ขอตอบว่ามีอยู่ อยู่ที่ไหน อยู่ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นี่เป็นเรื่องที่แสดงถึงเกียรติภูมิของชาติไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันรวมอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่ภูมิใจของเรา เป็นที่เราเคารพนับถือ นี่เป็นขั้นแรกที่เราเห็นในสถาบันพระมหากษัตริย์

ทีนี้ เมื่อถือว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ก็ต้องมีสิ่งอื่นๆ ประกอบ ความจริงองค์พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พราหมณ์มิได้ถวายให้เป็นเฉพาะพระศิวะองค์เดียว แต่ให้เป็นพระพรหม และพระนารายณ์อีกด้วย

เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เราเห็นถึงความเป็นพระเป็นเจ้าขององค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในพระราชลัญจกร 3 องค์

องค์แรก คือพระราชลัญจกรมหาอุณาโลม อักษร “อุ” หนังสือขอมนั้นเป็นอักษรย่อคำว่า “โองการ” คือเทวโองการขององค์พระศิวะ เป็นคำสั่งสูงสุด มนุษย์ไม่มีทางที่จะไม่ปฏิบัติตาม ต้องปฏิบัติตามทุกเมื่อ

องค์ที่สอง คือตราพระครุฑพ่าห์ หรือครุฑพาหะ ครุฑเป็นพาหะของพระนารายณ์ จึงนำมาทำเป็นพระราชลัญจกร ซึ่งหมายถึงพระนารายณ์

และองค์ที่สาม คือตราพระราชลัญจกรหงส์พิมาน เป็นรูปหงส์ บนหลังมีบุษบก หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม ในพระราชลัญจกร 3 องค์นี้เมื่อประทับลงไปในพระราชโองการ หรือกฎหมายหลายอย่าง แต่ก่อนถือว่าเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้า เป็นคำสั่งเรียกว่า “พระบรมราชโองการ” เป็นโองการสูงสุด

นอกจากนั้นแล้วยังมีสิ่งประกอบอื่นๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของไทย ผมจึงอยากจะขอเรียนให้ทราบเพื่อจะได้รู้ว่าประเพณีที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ทุกวันนี้ซึ่งคนไทยยังรักษากันอยู่นั้นมาจากไหนคือเหตุสำคัญ

คือความเป็น “เทวราช” หรือเป็น “พระเป็นเจ้า” ของ “องค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งบรรพบุรุษของเราเชื่อถือกันมา