ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9) ว่าด้วย อิสลามในกัมพูชา

จรัญ มะลูลีม

ตามรัฐธรรมนูญปี 1993 ของราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เสรีภาพทางศาสนาได้รับการรับรอง

รัฐธรรมนูญกัมพูชาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยผ่านรัฐสภาและถือเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองของประเทศ

ตำแหน่งแห่งที่ของศาสนาอิสลามทุกวันนี้ในกัมพูชาก็ถูกมองผ่านบริบทข้างต้น นั่นคือรัฐธรรมนูญให้การรับประกันเสรีภาพทางศาสนา จากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาพบว่าชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญและมีความเข้มแข็งจนทำให้อิสลามได้รับการยอมรับ

มุสลิมในกัมพูชาได้ชื่อว่าเป็นประชากรที่เข้มแข็งโปร่งใส มีจิตอาสาและมีบทบาทสำคัญอยู่ในกัมพูชาใหม่

ในเวลาเดียวกันจะต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าอย่างน้อยอิสลามก็เป็นส่วนสำคัญของกัมพูชามาตลอดสองสามศตวรรษด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นในงานวิชาการแต่อย่างใด

ความสำคัญดังกล่าวในแง่มุมที่เห็นได้ก็คืออิสลามได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของชาวจามมุสลิมกัมพูชามาอย่างต่อเนื่องและเป็นอัตลักษณ์ของชาวจาม

ชาวจามในกัมพูชาทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม แม้ว่าชาวมุสลิมทั้งหมดไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องเป็นจามก็ตาม

ศูนย์กลางแห่งอิสลามนั้นอยู่ในชีวิตของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นชาวจามหรือคนกลุ่มอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นจำนวนประชากรที่มีความสำคัญทั้งในทางตัวเลข ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

 

จนมาถึงปัจจุบัน ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าชาวจามมาเป็นชาวมุสลิมตั้งแต่เมื่อใด รู้เพียงแต่ว่าอิสลามมาถึงจามปาตั้งแต่ตอนต้นของศตวรรษที่ 9

นับจากศตวรรษที่ 14 เป็นต้นไป อิสลามได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ศรัทธา เป็นศาสนาของชาวจามปา และชาวมาเลย์จากคาบสมุทรมาเลย์ (Malay Peninsula) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลันตันและเลยมาถึงปัตตานี (Kelantan-Pattani) ทั้งนี้ พวกเขามีสายสัมพันธ์ทางศาสนาที่ดีต่อกันมาโดยตลอด

ความสัมพันธ์นี้นำไปสู่การมาถึงของเจ้าชายหนุ่มแห่งจามปา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกษัตริย์ โพธิ์ ร่ม (Po Rome 1627-64) ที่เดินทางมายังกลันตันเพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการในการสอนอิสลาม (Islamic Teaching)

ปัจจุบันการมายังรัฐกลันตันเพื่อเรียนการสอนอิสลามยังคงดำเนินต่อไป

 

ชาวมุสลิมในกัมพูชาปัจจุบันมีความหลากหลาย เช่น ชาว Cheyeas, Khmers, อินเดียและอาหรับ ในจำนวนนี้ชาวจามถือว่ามีความสำคัญอย่างแท้จริง ชาวจามไม่เพียงแต่เป็นชาวมุสลิมกัมพูชาที่มีอยู่อย่างหลากหลายเท่านั้น แต่โดยทั่วไปยังได้รับการยอมรับว่าเป็นชุมชนมุสลิมที่มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ถือเป็นกระดูกสันหลังของชุมชนมุสลิมและมีบทบาทอยู่ในสังคมกัมพูชาโดยรวม

กระนั้นโดยพื้นฐานแล้วชาวจามเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใหญ่สองกลุ่มได้แก่

1. จามชะรีอัต (Cham Shariat) คือชาวจามที่ปฏิบัติตามชะรีอะฮ์ (Shari”ah) หรือกฎหมายอิสลามตามจารีตของสำนักคิดชาฟิอี (Shafi tradition of Islam) และกลุ่มจาฮีดหรือเกาม์ หะกีกัต (Kaum Hakekat) หรือที่รู้จักกันในนาม เกาม์ ญุมาอัต (Kaum Jumaat) หรือจามบานี (Chams Bani) ซึ่งค่อนข้างจะมีอัตลักษณ์ของอิสลามแค่เปลือกนอก

อย่างไรก็ตาม ชาวจามชะรีอัตเป็นกลุ่มที่มีพลวัตและมีอิทธิพลครอบคลุม อัตลักษณ์ของพวกเขาโดยพื้นฐานก็คือภาษาจาม ซึ่งยังคงดำรงอยู่ในวัฒนธรรมของชาวจามจนถึงทุกวันนี้ กระนั้นพวกเขาก็มีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีความเคร่งครัด

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น อัตลักษณ์อิสลามของพวกเขากลายมาเป็นส่วนที่แยกกันไม่ได้กับอัตลักษณ์ของความเป็นชาวกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่สามซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจะได้รับการพัฒนาในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร และกลุ่มนี้โดยเบื้องต้นแล้วจะประกอบไปด้วยกลุ่มที่เป็นสมาชิกของจาฮีดที่กำลังจะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวทางอิสลามของกลุ่มอะห์มะดีญะฮ์ (Ahmadiya)

มีการคาดการณ์หลายประการถึงประชากรมุสลิมในกัมพูชาปัจจุบัน จำนวนร้อยละของชาวมุสลิมที่มีความสัมพันธ์กับประชากรทั้งหมดของราชอาณาจักรนั้นโดยปกติกล่าวกันว่ามีอยู่ร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 5 ของประชากรกัมพูชานั่นคือ 650,000 คน

ซะการียา อาดัม (Zakariyya Adam) เลขาธิการของรัฐในกระทรวงลัทธิและศาสนา (Cults and Religions) ให้ข้อคิดเห็นว่าจำนวนมุสลิมจะน้อยกว่าครึ่งล้านเล็กน้อย แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะยืนยันถึงความถูกต้องอย่างแท้จริงของจำนวนซึ่งมีอยู่ในเวลานี้

เขาบอกว่าบางทีทางที่ดีที่สุดที่จะสำรวจถึงจำนวนของชาวมุสลิมที่มีอยู่ในกัมพูชาก็คือการมองไปที่การกระจายตัวของมัสญิดที่มีอยู่ทั่วราชอาณาจักร

ในตอนต้นทศวรรษ 1990 เมื่อเริ่มมีการฟื้นฟูอิสลามในกัมพูชาอีกครั้งนั้น โดยทั่วไปเชื่อกันว่ามีมัสญิดอยู่ราว 100 มัสญิดที่ปรากฏให้เห็นในราชอาณาจักรในปี 2007

ตามรายงานล่าสุด พบว่าจำนวนมัสญิดทั่วราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นเป็น 400 มัสญิด และตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมสถานที่ละหมาดขนาดเล็ก (มุศอลลาหรือสุเหร่า) ซึ่งปกติจะทำหน้าที่รองๆ ลงมาจากมัสญิด

ที่อาจกล่าวเพิ่มเติมได้ก็คือโรงเรียนสอนศาสนาหรือมัดเราะห์ซะฮ์ 300 แห่งกระจายไปทั่ว 315 หมู่บ้านตลอดราชอาณาจักรกัมพูชา

ที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างมากก็คือความเป็นจริงที่ว่าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในภาคปฏิบัติจะพบว่ามีอยู่ในทุกจังหวัดของกัมพูชานับจากพนมเปญ พระวิหารไปจนถึงพระสีหนุ (Preah Sihanouk)

 

มัสญิดที่มีชาวมุสลิมมารวมกันมากที่สุดจะเห็นได้ในจังหวัดกัมปงจาม (Kg.Cham) ซึ่งมีมัสญิดอยู่ถึง 148 มัสญิด และได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของชาวมุสลิมกัมพูชาด้วยเช่นกัน

จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า เสม ซอกเพรย์ (Sem Sokprey) ซึ่งเป็นรองผู้ว่าราชการ (Deputy Governor) ของกำปงจามก็เป็นชาวมุสลิมเช่นกัน

จังหวัดอื่นๆ ที่มีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมากได้แก่ กำปงชนาง (Kg. Chnang) ซึ่งมีมัสญิดอยู่ถึง 42 แห่ง

รองผู้ว่าจังหวัดกำปงชนาง ศอลิห์ เซน (Saleh Sen) ก็เป็นชาวมุสลิมเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าในเวลานี้ชาวมุสลิมกัมพูชาได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ในทางการเมืองและการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับเมืองหลวงของกัมพูชาอย่างพนมเปญมีมัสญิดทั้งสิ้น 12 แห่ง