ร้อน-หนาว เรื่องพลังงาน : เทวินทร์ วงศ์วานิช

“คม” ความคิด (3)

ร้อน-หนาว เรื่องพลังงาน

สมัยผมเด็กๆ ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานแทบทั้งหมด

เราผลิตน้ำมันใช้เองไม่ได้เลย ประเทศเราผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องพลังงานมาพอสมควรนะครับ

จากที่เคยนำเข้า 100% จนกระทั่งค้นพบแหล่งพลังงานในประเทศ จากที่เคยไม่มีความรู้ เป็นเจ้าของแหล่งพลังงานแต่ไม่สามารถพัฒนาเองได้

แต่วันนี้ คนไทยสามารถพัฒนาแหล่งพลังงานได้ทั้งในและต่างประเทศ

สร้างบุคลากรด้านปิโตรเลียมอีกจำนวนไม่น้อยเลย

ผมอยากให้คนไทยทุกคนได้ภูมิใจในความสามารถของคนไทยด้วยกันเอง

และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ประมาท เพราะพลังงาน โดยเฉพาะปิโตรเลียมของเรามีจำกัดนะครับ

ซึ่งอาจหมดลงภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

หากเรายังใช้กันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า

เราก็จะถอยหลังกลับไปพึ่งพาการนำเข้า

เสียเงินซื้อน้ำมันและก๊าซเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

ขาดสำนึกคุณค่าพลังงาน

ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีศักยภาพน้ำมันและก๊าซมากเพียงพอต่อความต้องการใช้

แต่คนไทยก็โชคดีครับ ที่มีผู้วางรากฐานด้านพลังงานที่เข้มแข็งไว้ต่อเนื่องตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา

ทำให้วันนี้เรามีพลังงานใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

เมื่อเปิดสวิตช์ ไฟฟ้าก็สว่าง

ขับรถเข้าปั๊มก็มีน้ำมันให้เติม

และจะว่าไปแล้ว เราแทบไม่เคยเจอวิกฤตขาดแคลนพลังงานเลย

จะเดือดร้อนอยู่บ้างก็ช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวน ตามราคาพลังงานในตลาดโลก

จากความสะดวกสบายนี้เอง

ทำให้เราอาจจะขาดสำนึกในเรื่องคุณค่าของพลังงาน

คนไทยใช้พลังงานอย่างไม่ระมัดระวัง

ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก

พลังงานต้องมองยาวๆ

หลายท่านคงทราบนะครับว่า ปิโตรเลียมที่เราใช้กันในวันนี้คือผลของการวางแผนและทำงานต่อเนื่องมาอย่างน้อย 15 ปี

และการทำงานของเราในวันนี้ก็คือเพื่อผลในอนาคตอีกหลายปี

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ผมจะเล่าให้ฟังครับ

การผลิตปิโตรเลียม “ไม่ใช่เจาะลงไปใต้ดินวันนี้ แล้วพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าจะนำขึ้นมาใช้ได้เลย”

กว่าจะมาถึงขั้นที่จะเจาะหลุมเพื่อผลิตก๊าซหรือน้ำมัน เราต้องทำการสำรวจเพื่อหาแหล่งกักเก็บ (Reservoir)เสียก่อนซึ่งโดยปกติก็ใช้เวลา 3-6 ปี

หลังจากที่บริษัทน้ำมันได้รับสิทธิจากรัฐบาลเพื่อสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม โดยเก็บและศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ดูลักษณะโครงสร้างใต้ดินว่าพื้นที่นี้มีโอกาสที่จะพบปิโตรเลียมหรือไม่

เมื่อพบโครงสร้างที่เหมาะสม ก็จะเริ่มเจาะหลุมสำรวจเพื่อยืนยันว่ามีจริงและมากพอที่จะคุ้มค่าต่อการพัฒนาหรือไม่ อาจจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี

เมื่อยืนยันได้ว่ามีพอ งานที่ตามมาจะใช้เงินทุนสูงมาก คือวางแผนการพัฒนาแหล่งออกแบบและติดตั้งแท่นต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ วางท่อเชื่อมระหว่างแท่น และเจาะหลุมผลิต ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี

ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสำรวจ จนถึงวันที่ทำการผลิตปิโตรเลียมได้ จึงใช้ระยะเวลาเร็วที่สุดคือ 10 ปี หรืออาจจะยาวไปถึง 15 ปี

สถานการณ์พลังงานของไทยที่น่ากังวลที่สุดวันนี้ก็คือ ถ้าเราไม่สามารถสำรวจหาแหล่งใหม่ๆ หรือไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการกับสัมปทานที่จะหมดอายุ เราอาจประสบปัญหาจากการผลิตที่ทยอยลดน้อยลง

เพราะการหยุดลงทุนของผู้รับสัมปทาน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ไข เราอาจต้องทนทุกข์กับปัญหาพลังงานยาวนานถึง 6-7 ปีทีเดียว

มรดกมากมายแค่ไหนก็หมดได้

ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ปิโตรเลียม” มีจำกัด

เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และในวันนี้เราใช้สิ่งที่สะสมมาตั้งแต่อดีต เพราะปิโตรเลียมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น เกิดจากการสะสม เกิดจากการย่อยสลายอินทรียสาร พวกซากพืชซากสัตว์ หรือเปลือกหอยอะไรก็แล้วแต่มาเป็นล้านๆ ปี

หากจะเปรียบเป็นมรดกก้อนใหญ่ที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้กับคนบนโลกก็น่าจะใกล้เคียง

ในแต่ละประเทศก็ได้รับส่วนแบ่งมรดกไม่เท่ากัน

มากบ้างอย่างประเทศในกลุ่มโอเปค

น้อยบ้างอย่างประเทศไทย

บางประเทศก็ไม่มีเลย

ซึ่งมรดกก้อนนี้หากเราใช้อย่างสิ้นเปลือง ใช้โดยไม่คำนึงถึงคนอื่นๆ หรือคนรุ่นหลัง มันก็จะหมดไป

ต่อให้มีมรดกมากมายแค่ไหนก็หมดได้ หากเราไม่รู้จักพัฒนา

ไม่รู้จักสร้างสรรค์แหล่งพลังงานอื่นๆ ขึ้นมาทดแทน

ไม่เคยส่งเสริมให้คนใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย

ทุกคนอยากใช้น้ำมันราคาถูก อยากมีน้ำมันใช้อย่างเต็มที่ ใช้เท่าไหร่ก็ได้ ผมเองก็อยากได้

แต่ในความเป็นจริงทุกคนก็ทราบดีว่า ปิโตรเลียมของเรานี้มีจำกัด หาและผลิตได้ไม่พอใช้ และหายากขึ้นทุกวัน

ผมถึงอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแล ใช้อย่างประหยัด ใช้อย่างรู้คุณค่า

ถึง ปตท.จะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจขายน้ำมันและก๊าซ

แต่ก็ไม่เคยส่งเสริมให้คนใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย

เพราะภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่งของเราคือ ความมั่นคงทางพลังงานของคนไทย

ทำอย่างไรให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ทั่วถึง

ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ถ้าแหล่งก๊าซหยุดซ่อมบำรุง แล้วคนไทยจะมีพลังงานใช้หรือเปล่า?

ผมขอเล่าให้เห็นภาพง่ายๆ คือ แท่นผลิตก๊าซและระบบท่อขนส่ง ก็เหมือนกับรถยนต์ที่ต้องนำเข้าศูนย์เพื่อเช็กระยะ การซ่อมบำรุงย่อย (Minor Maintenance) ก็จะกำหนดไว้ที่ 1-2 ปีต่อ 1 ครั้ง

ส่วนการซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Maintenance) จะกำหนดไว้ที่ 5 ปีต่อ 1 ครั้ง

ทีนี้เป็นไปได้ไหมที่จะมีการหยุดจ่ายก๊าซหรือการซ่อมแซมนอกกำหนดเวลา

แน่นอนว่า มีครับ

ซึ่งนี่ก็คือโลกแห่งความเป็นจริงในอุตสาหกรรมพลังงาน ความเสียหายที่ไม่คาดคิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราก็ต้องพร้อมรับมือแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถกลับมาจ่ายก๊าซได้เร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่พวกเราตั้งใจทำกันมาตลอดคือ

1. การวางแผนที่ดีในการซ่อมบำรุง ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเราเยอะ เช่น เราสามารถดึงข้อมูลจาก sensor มาวิเคราะห์ว่าควรจะกำหนดการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไรจึงจะพอดีเวลา ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป อันนี้เรียกว่าเป็น Predictive Maintenance

2. การแสวงหาแหล่งที่มาของพลังงาน (Sources of Supply) จากหลายๆ แหล่ง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทดแทนกันได้เมื่อต้องมีการซ่อมบำรุง หรือเกิดปัญหาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง

เห็นได้ว่าทุกภาคส่วนได้ช่วยกันเตรียมพร้อม มั่นใจได้ว่าไม่มีการขาดแคลนพลังงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่พวกเราทุกคนช่วยกันได้ คือการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า

ถ้าเราใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเราครับ

น้ำมันแพง “ทุกข์”

น้ำมัน “ถูก” เป็นธรรม

จริงหรือ!??

หลายคนเอาราคาน้ำมันไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกพลังงาน ทำให้คิดว่าน้ำมันแพง

ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นการมองปัญหาพลังงานเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะต้องการใช้พลังงานมากๆ ในราคาถูก

มากกว่าเป็นเรื่องส่วนรวมของประเทศ ที่ต้องสูญเสียเงินนำเข้าพลังงานเป็นมูลค่ามหาศาลทุกๆ ปี

จากที่ผมทำงานด้านพลังงานมา 30 กว่าปี ได้เห็นความตั้งใจของบุคลากรในแวดวงพลังงานที่ต้องการสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้ประเทศ

จึงอยากให้คนไทยอย่ามองอะไรเพียงแต่แง่เดียว

หลายคนคิดว่าปัญหาคือ “ราคาน้ำมันแพง”

เราลืมไปว่า “การไม่มีพลังงานใช้” ต่างหาก จะเป็นความเดือดร้อนที่สร้างทุกข์อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้คนไทยมีน้ำมันพอใช้

อยู่ที่ไหนของประเทศก็หาน้ำมันใช้ได้

เรื่องความเป็นธรรมหลายคนอาจไม่เข้าใจ

คิดว่าราคาถูกคือเป็นธรรม

แต่ที่จริงแล้ว ความเป็นธรรมคือ ต้องเป็นธรรมกับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ถ้าราคาแพงไป ผู้บริโภคก็เดือดร้อน

ถูกเกินไป ผู้ประกอบการก็ขาดทุน

ขาดทุนก็เลิกทำ เลิกทำ ผู้บริโภคก็ไม่มีน้ำมันใช้

ดังนั้น ราคาต้องเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งเราใช้เยอะ มลภาวะยิ่งสูง ก็ต้องมีเงินภาษีเอาไปดูแลสิ่งแวดล้อม