พบกับ “เดนิส มูเควเก” ด๊อกเตอร์มิราเคิลผู้คว้าโนเบลสันติภาพ นักสู้ต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) เขาถูกเรียกขานว่าเป็น “ด๊อกเตอร์มิราเคิล” หรือ “หมอมหัศจรรย์” จากทักษะการผ่าตัดและการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงให้เอาชนะอาการบาดเจ็บและบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน

เดนิส มูเควเก วัย 63 ปี เป็นนรีแพทย์นักรณรงค์ผู้ใช้เวลามากกว่า 2 ทศวรรษเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่น่าตกใจของผู้หญิงในดีอาร์คองโก

และงานของเขาได้ถูกหยิบยกมาเล่าไว้ในภาพยนตร์ปี 2015 ที่ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เรื่อง “เดอะ แมน ฮู เมนด์ส วีเมน”

นพ.มูเควเกที่มีลูก 5 คน เป็นผู้ที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการวิพากษ์วิจารณ์การล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในสงคราม

และกล่าวโจมตีบรรดาผู้นำโลกที่ล้มเหลวในการหยุดยั้งเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

นพ.มูเควเกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2018 ร่วมกับนาเดีย มูราด เหยื่อข่มขืนของกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลนี้มาแล้วหลายครั้งในอดีตจากงานของเขา

“เดนิส มูเควเก เป็นผู้ที่อยู่แถวหน้าสุด เป็นสัญลักษณ์ที่สากลเป็นหนึ่งเดียวที่สุด ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติของความพยายามอย่างยากลำบากในการยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ” เบริต ไรสส์-อันเดอร์เซน กล่าวในการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

“หลักการเบื้องต้นของเขาคือ ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน”

นพ.มูเควเกเรียกร้องให้โลกมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อเรื่องการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธสงคราม

“เราสามารถขีดเส้นแดงในการต่อต้านอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพและอาวุธนิวเคลียร์ได้” นพ.มูเควเกเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016

“ทุกวันนี้เราต้องขีดเส้นแดงในการต่อต้านการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธสงคราม” เขากล่าว

และว่า วิธีการดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ “ถูกและมีประสิทธิผล” ของการก่อการร้ายที่ทำให้เหยื่อเหมือนถูกจำคุกตลอดชีวิต

 

ในชีวประวัติฉบับภาษาฝรั่งเศสของเขา “เปลดัวเยร์ ปูร์ ลา วี” (ร้องขอชีวิต) มูเควเกเล่าถึง “ความลึกของความน่าหวาดกลัว” ที่เขาได้เผชิญในจังหวัดคิวูใต้บ้านเกิดของเขา ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งโรงพยาบาลแพนซีในเมืองบูคาวู

นพ.มูเควเกเริ่มต้นทำงานในโรงพยาบาลลาเมรา ทางตอนใต้ของเมืองบูคาวูซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาได้เรียนรู้ถึงรอยแผลหลังคลอดขั้นรุนแรงที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ตลอดชีวิต

หลังจากนั้นเขาได้พบกับเหยื่อข่มขืนที่น่าตกตะลึงเป็นครั้งแรก

นพ.มูเควเกเล่าย้อนถึงช่วงเวลาดังกล่าวในปี 1999 ปีที่เขาตั้งโรงพยาบาลแพนซีขึ้นมา นพ.มูเควเกบรรยายว่า ผู้ที่ก่อการข่มขืนได้สอดปืนเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิงและยิงอย่างไร

“กระดูกเชิงกรานทั้งหมดของเธอแตกละเอียด ผมคิดว่าต้องเป็นคนบ้าเท่านั้นที่ทำได้แบบนี้ แต่ในปีเดียวกันนั้นผมต้องรักษาผู้หญิงที่มีอาการลักษณะคล้ายกันนี้ 45 ราย” นพ.มูเควเกเล่า

“เป็นเวลา 15 ปีที่ผมได้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนหมู่ที่กระทำต่อร่างกายของผู้หญิงและผมไม่สามารถงอแขนอยู่ได้ เพราะว่าความมีมนุษยธรรมสากลเรียกร้องให้เราเอาใจใส่และช่วยเหลือผู้อื่น”

 

อย่างไรก็ตาม งานของ นพ.มูเควเกยังทำให้ชีวิตของเขาแขวนอยู่บนเส้นด้ายอีกด้วย โดยเขารอดตายจากการถูกโจมตีเมื่อปี 2012 มาได้อย่างฉิวเฉียด ซึ่งผู้คุ้มกันของเขาเสียชีวิต

นพ.มูเควเกต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันของเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาสันติภาพของยูเอ็นที่โรงพยาบาลแพนซีอย่างถาวร

โรงพยาบาลแพนซีของเขาที่มี 450 เตียง ให้บริการด้านนรีเวชศาสตร์และสูตินรีเวช โดยให้การรักษาผู้หญิงปีละมากกว่า 3,500 คน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ และให้คำปรึกษาและผ่าตัดกับผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บภายในอย่างรุนแรงโดยไม่คิดค่าบริการ

นพ.มูเควเกเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1955 ในเมืองบูคาวู เป็นลูกคนที่ 3 จาก 9 คน เขาได้รับแรงบันดาลใจที่จะเป็นหมอจากพ่อของเขาที่เป็นศาสนาจารย์ซึ่งไปเยี่ยมผู้ป่วยอยู่บ่อยครั้ง

หลังศึกษาด้านการแพทย์ในประเทศบุรุนดี เขากลับมาทำงานที่โรงพยาบาลในเมืองลาเมรา ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาด้านความเชี่ยวชาญนรีเวชศาสตร์ที่ฝรั่งเศส

นพ.มูเควเกได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้ง รางวัลโอลอฟ ปาล์ม ไพรซ์ เมื่อเดือนมกราคมปี 2009 รางวัลซาคารอฟในปี 2014 และรางวัลสันติภาพโซลเมื่อเดือนกันยายน 2016