อะไรคือความใหม่และเก่าของพรรคการเมือง ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ปี่กลองการเลือกตั้งที่ดังขึ้นหลังจากที่กฎหมายสำคัญทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้น เป็นสัญญาณให้เกิดความคึกคักของคนการเมืองหรือคนที่อยากจะเข้าไปมีชีวิตอยู่ในวงจรการเมืองรวมตัวกันเพื่อเลือกตั้งอีกครั้ง

มีพรรคการเมืองชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการพูดถึงนโยบายใหม่ๆ มีการเปิดตัวของคนรุ่นใหม่ในทางการเมือง

แต่ป้ายใหม่ชื่อใหม่ อาจไม่ใช่ความใหม่อะไรในการเมืองไทยเลยก็ได้

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องวิเคราะห์และติดตาม

จากข่าวการให้จดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคการเมืองที่ กกต.เปิดให้ผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองต่างๆ มาจดจองชื่อพรรคตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจมาจดจองมากกว่า 100 พรรค

แสดงให้เห็นความตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนในการสร้างสรรค์การเมืองไทย

โดยเห็นว่าการตั้งพรรคการเมืองใหม่จะเป็นทางเลือกใหม่ๆ ของประชาชนให้พ้นจากวังวนทางการเมืองเก่า

แต่ความใหม่ทางการเมืองคงไม่ใช่เพียงแค่ชื่อ พรรคใหม่ ยังต้องมีอะไรใหม่มากกว่าแค่ชื่อหรือโลโก้พรรค

พรรคใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร

ประการแรก ในด้านผู้ก่อตั้งพรรค ควรสะท้อนให้เห็นถึงเลือดใหม่ทางการเมือง

เป็นน้ำดีที่ประสบความสำเร็จมาจากภาคส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อน

เช่น อาจเป็นนักบริหารผู้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจที่ดำเนินการด้วยหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับ

ไม่ใช่นายทุนธุรกิจที่สร้างตัวจากการเอาเปรียบประชาชน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจผิดกฎหมาย บ่อน ซ่อง สินค้าหนีภาษี ที่หวังใช้การเมืองเป็นเครื่องปกป้องธุรกิจหรือขยายอิทธิพลทางธุรกิจของตน

หากเป็นผู้บริหารในภาครัฐ ก็ควรมาจากผู้ที่รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานการบริหารเป็นที่ยอมรับ เติบโตมาด้วยฝีมือความสามารถ

ไม่ใช่ข้าราชการที่อิงแอบกับนักการเมือง พร้อมเปลี่ยนข้างเปลี่ยนสีไปตามการเมือง หรือเอาแต่สอพลอประจบจนได้ตำแหน่งใหญ่โต แล้วมามุ่งหวังกับการทำงานการเมืองเพื่อต่อสายชีวิตการทำงานหลังเกษียณ

แต่ควรเป็นน้ำดีภาครัฐที่เมื่อเปลี่ยนสายมาทางการเมืองแล้วมาช่วยให้การเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

หากมาจากภาคประชาสังคม เราก็มุ่งหวังอยากได้ภาคประชาสังคม หรือผู้ทำงานในภาคประชาชนที่มีอุดมการณ์ เสียสละ รู้แท้ปัญหาของชาวบ้าน ทำงานคลุกคลีกับประชาชนยาวนาน จนเห็นว่าการเข้าสู่การเมืองไม่ใช่การอิงเข้าหาอำนาจรัฐ แต่เป็นการรู้จักใช้อำนาจรัฐให้เป็นประโยชน์ในการออกนโยบายที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคม

เราคงไม่อยากได้เอ็นจีโอฉาบฉวยที่อ้างชาวบ้าน ไม่เคยสัมผัสผู้คน แต่ฉกฉวยสถานการณ์เพื่อถีบตนเองให้โดดเด่นเป็นที่รู้จักเพื่อเส้นทางการเมืองในอนาคต

หากมาจากนักวิชาการ คือคนที่คร่ำหวอดเติบโตมากับการทำงานวิชาการอย่างมีจรรยาบรรณ เป็นผู้รู้จริงเกี่ยวกับสังคมในมุมต่างๆ จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนเชี่ยวชาญ

และเมื่อมาสู่การเมืองแล้วก็สามารถนำความรู้ทางวิชาการที่ร่ำเรียนและพร่ำสอนอย่างมีคุณภาพในห้องเรียนเล็กมาใช้กับห้องเรียนที่ใหญ่ขึ้นในสังคมการเมือง

ไม่ใช่นักวิชาการที่ทำตัวเป็นผู้รับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างหลับหูหลับตา ลืมจรรยาบรรณในวิชาชีพ ลืมความถูกต้องชอบธรรม เพียงมุ่งเน้นการรักษาสถานภาพของฝ่ายการเมือง

เลือดใหม่ของผู้ก่อตั้งพรรค ควรสะท้อนให้เห็นองค์ประกอบใหม่เหล่านี้อย่างชัดเจน

ประการที่สอง ความใหม่ของนโยบายหรือแนวทางในการบริหารบ้านเมือง หากการก่อตั้งพรรคใหม่มาจากแนวคิดว่า พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมมีจุดอ่อนในการบริหารประเทศหรือนโยบายยังไม่ดี ยังไม่ถูกใจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ การก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ควรมีการเสนอนโยบายหรือแนวคิดในการบริหารบ้านเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม

นโยบายที่แตกต่างและเป็นรูปธรรมควรได้รับการเสนอจากพรรคการเมืองใหม่ มากกว่าการลอกเลียนวิธีการคิดของพรรคการเมืองเดิมที่เคยเสนอมา หรือเป็นเพียงการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่แต่ปราศจากแก่นที่แตกต่าง

การนำเสนอนโยบายที่สะท้อนถึงความรอบรู้ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และการตรวจทานจากประชาชน คือความใหม่สดที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อจูงใจให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง

แต่หากเป็นนโยบายที่เพียงแค่สะท้อนความคิดสวยหรู แต่เล็งผลยากในทางปฏิบัติ หรือเป็นนโยบายแบบเกทับบลัฟฟ์แหลก

เช่น พรรคนี้ให้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท อีกพรรคบอกจะให้ 2,000 บาท

แบบนี้คงไม่เรียกว่าเป็นความใหม่ในเชิงการเมือง กลายเป็นวังวนของการเสนอนโยบายแบบเดิมๆ

ประการที่สาม การนำเสนอตัวผู้สมัคร ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ได้นำเสนอคนใหม่ที่มีความสามารถมาเป็นตัวเลือกให้แก่ประชาชนหรือไม่ หรือเป็นเพียง “คนการเมือง” หน้าเดิม ที่โคจรย้ายพรรคจากพรรคเก่าไปยังพรรคใหม่ในจังหวะที่เห็นว่าพรรคนั้นน่าจะมีโอกาสเป็นรัฐบาล จะได้เกาะเกี่ยวความเป็น ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. เพื่อเดินหน้าต่อในอาชีพนักการเมืองเท่านั้น

การย้ายพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกหากมีพรรคการเมืองใหม่ที่ตรงใจในอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่า

แต่หากการย้ายดังกล่าวสะท้อนการกลับไปกลับมาในอุดมการณ์ของ “นักการเมืองเก่า”

ก็ไม่สมควรมองว่าเป็นสิ่งที่ให้ความใหม่ทางการเมือง แต่นี่คือเทศกาลเปลี่ยนค่ายย้ายข้างในช่วงฝนตกขี้หมูไหล

การเสนอรายนามของ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็เช่นกัน หากประกอบด้วยบุคคลใหม่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่ถนัดที่จะไปเดินสายหาเสียงแบบ ส.ส.เขต

โดยบุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะเข้ามาช่วยงานการเมืองไม่ว่าจะถูกจัดไว้ในลำดับที่เท่าไรหรือจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่คือความใหม่ของพรรคที่นำเสนอ

แต่หากรายนามในบัญชีรายชื่อ เป็นตัวจริงแค่ในลำดับส่วนต้นที่คาดว่าจะได้รับเลือก ที่เหลือเป็นชื่อใครก็ไม่ทราบที่ใส่มาเพื่อให้ดูมากดูครบ หรือประกอบด้วยนายทุนที่ลงขันในพรรคโดยเรียงจากจำนวนเงินที่สนับสนุน ก็ไม่ใช่ความใหม่ที่น่าชื่นชม

เช่นเดียวกันกับการสรรหาหรือได้มาซึ่งผู้สมัคร พรรคการเมืองใหม่น่าจะต้องใช้วิธีการทาบทามคนที่มีความรู้ความสามารถหรือพิจารณาจากการเข้ากันได้ในอุดมการณ์ของคนและพรรค ไม่ใช้วิธีการเสนอประโยชน์เพื่อดึงเข้าพรรคการเมือง

เช่น การเสนอเงินเพื่อซื้อตัวผู้สมัครเกรดเอ การสัญญาว่าจะให้เงินตอบแทนตามคะแนนเสียงที่ได้รับ เช่น หาได้ 20,000 เสียงสิ จะให้ค่าตอบแทนภายหลังเสียงละ 500 บาท หรือการเสนอตำแหน่งทางการเมืองแม้ว่าจะสอบตก

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความเก่าที่น่ารังเกียจ

ประการที่สี่ ในด้านวิธีการหาเสียง ความแตกต่างระหว่างความใหม่และความเก่าเปรียบได้กับคำว่า “น้ำดี” กับ “น้ำเน่า” การหาเสียงน้ำดีคือ การแข่งขันกันในเชิงนโยบาย ชูคุณสมบัติในเรื่องความรู้ความสามารถมากด้วยประสบการณ์ของตัวผู้สมัคร ชูนโยบายคำขวัญที่เป็นรูปธรรมจูงใจ ชูสิ่งที่เป็นแนวคิดอุดมการณ์ในการบริหารบ้านเมืองที่ต้องการผลักดันสังคมให้เดินหน้า

แต่การหาเสียงน้ำเน่าคือ การมุ่งโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน การขุดคุ้ยประวัติและความเลวร้ายของฝ่ายตรงข้าม การเสนอประโยชน์หรือใช้เงินทองเป็นสิ่งจูงใจ ไปจนถึงการใช้เงินซื้อเสียง

วิธีการคิดว่า ต้องโกงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ชัยชนะล้วนแต่เป็นเรื่องเก่าที่น่ารังเกียจ

การใช้อำนาจอิทธิพลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบารมี อำนาจเงิน หรืออำนาจรัฐมาสร้างความได้เปรียบมากบ้างน้อยบ้าง

ตอดเล็กตอดน้อยเอาทุกวิธีที่จะสร้างความได้เปรียบเหนือชาวบ้านล้วนเป็นเรื่องของวิถีทางการเมืองแบบเก่าซึ่งไม่สมควรพบเห็นในพรรคการเมืองใหม่ที่เสนอตัวแก่ประชาชน

พรรคการเมืองไม่ควรใหม่แค่ชื่อ แต่หากประกอบด้วยคนการเมืองรุ่นเก่าที่ยังมองการเมืองเพื่อประโยชน์ของตน ปราศจากนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีงามขึ้น ยังสรรหาผู้สมัครด้วยวิธีการซื้อตัวหรือเสนอประโยชน์

และยังจมปลักกับการหาเสียงแบบน้ำเน่า มุ่งใช้ทุกรูปแบบเพื่อชัยชนะโดยไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม

ชื่อใหม่ แต่พรรคเก่าครับ