วิเคราะห์ : ศึกชิงหัวหน้า ปชป. “มาร์ค” ชูม็อตโต้ไม่เกรงใจใคร โชว์ความใหม่ “MakeMyMark”

เปิดศึกชิงหัวหน้า ปชป. “มาร์ค” ชูม็อตโต้ไม่เกรงใจใคร โชว์ความใหม่ “MakeMyMark”

ไทม์ไลน์การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่รับสมัครสมาชิกพรรคที่สนใจจะลงสมัครรับการหยั่งเสียงเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค

โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้นจำนวน 3 คน

ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้แก่ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป.

และผู้สมัครหมายเลข 3 ได้แก่ “เสี่ยจ้อน” นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.

ทั้งนี้ ผู้สมัครหมายเลข 1 คือนายอภิสิทธิ์ มีสมาชิกลงนามรองรับมีมากที่สุดถึง 80 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ใหญ่ของพรรคหลายคนลงชื่อรับรองให้นายอภิสิทธิ์ อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่

อีกทั้งมีอดีต ส.ส.ที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส. ได้ลงนามรับรองนายอภิสิทธิ์ด้วย อาทิ นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร นายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.อุบลราชธานี

ส่วนผู้ลงนามรับรองให้ นพ.วรงค์ ผู้สมัครหมายเลข 2 มี 29 คน ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.จาก จ.สงขลา และอดีต ส.ส.ในภาคเหนือ รวมถึงนายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคเหนือ

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ผู้สมัครหมายเลข 3 มีผู้ลงนามรับรองให้จำนวน 20 คน ซึ่งมีชื่ออดีต ส.ส.ที่มีข่าวว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ทั้งนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต ส.ส.จันทบุรี นายบุญเลิศ ไพรินทร์ และ พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา

แต่อย่างไรก็ตาม การลงชื่อรับรองดังกล่าวไม่ได้แสดงว่าทุกคนจะลงคะแนนในการหยั่งเสียงเลือกคนที่ตัวเองรับรองเป็นหัวหน้าพรรค

ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ได้คัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งพรรค หรือ กกต.พรรค เพื่อมาดำเนินการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจำนวน 5 คน ได้แก่ 1.นายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานกรรมการ 2.นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กทม. 3.นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีต ส.ส.สงขลา 4.นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด 5.นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีต ส.ส.กทม. เป็นเลขานุการกรรมการ

จากนั้นจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งแบบหยั่งเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 1-5 พฤศจิกายน โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้จะมีการเพิ่มจุดลงคะแนนในพื้นที่ลงคะแนนทุกจังหวัดที่มีสมาชิกพรรค จังหวัดละ 1 จุดด้วย

และเมื่อการหยั่งเสียงเสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น. วันที่ 5 พฤศจิกายน กกต.พรรคจะรวบรวมคะแนนหยั่งเสียงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคในทันที และมีการประกาศผลต่อไป

ทำให้ กกต.พรรคหมดหน้าที่ทันทีด้วย

ทันทีที่สงครามสายเลือด ปชป.เริ่มขึ้น ผู้สมัครทุกคนต่างลงพื้นที่หาเสียงจากสมาชิกพรรค และเดินสายปราศรัยบ่งบอกวิสัยทัศน์ของแต่ละคน เรียกได้ว่า เผ็ด เด็ด ดุดัน ไม่มีฝ่ายไหนยอมแพ้กันแม้แต่นิดเดียว

เริ่มจากนัมเบอร์วัน “เดอะมาร์ค” กับวิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นเรื่องอุดมการณ์ มุ่งหน้าเพื่ออนาคตของประเทศ” พร้อมกับลงพื้นที่สงขลาด้วยวลีเด็ด “ผมอายุ 54 ปีแล้ว หมดเวลาเกรงใจใคร” นอกจากนี้ ยังเปิดแคมเปญผ่านแฮชแท็กในโซเชียลมีเดีย #MakeMyMark ที่ต้องการสะท้อนตัวตนของนายอภิสิทธิ์ และยังมีการเปิดตัวคลิปวิดีโอ “เขาว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่ “ใหม่”” ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการยืนยันว่าตนเองยังมีความสดใหม่ ทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตลอดเวลา

โดยเจ้าตัวระบุว่า “ถ้าคำว่าใหม่ของคนอื่นคือคำว่านักการเมืองหน้าใหม่ ผมก็ไม่ใหม่ แต่ถ้าคำว่าใหม่ หมายความว่า เป็นนักการเมืองที่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอๆ พร้อมเปลี่ยนแปลงเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ผมบอกได้เลยว่าตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และตลอดชีวิตนักการเมือง ผมไม่เคยหยุดเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย”

ส่วนที่บอกว่า “หมดเวลาเกรงใจ” นั้น เจ้าตัวก็ตอบชัดว่า “ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น” แม้ว่านักข่าวจะถามถึงความเกรงใจต่อคนในทำเนียบรัฐบาล หรือคนใกล้ชิดคนที่อยู่ในทำเนียบฯ ก็ตาม

มาที่นัมเบอร์ทู “หมอวรงค์” ลงพื้นที่ทั่วภาคภายใต้การสนับสนุนของนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรค และนายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน ที่มากับวิสัยทัศน์ที่ว่า “กล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชน”

โดยสิ่งที่หมอวรงค์ต้องการจะเปลี่ยน คือ 1.เปลี่ยน ปชป. เปลี่ยนเป็นพรรคที่ทำมากกว่าพูด เปลี่ยนเป็นพรรคที่เป็นทีมเวิร์ก เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจ สร้างบทบาทประธานสาขา 2.เปลี่ยนการเมืองให้เป็นที่พึ่ง พรรค ปชป.จะต้องเปลี่ยนจากฝ่ายค้านผูกขาด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ลดทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งแยกประชาชน และ 3.เปลี่ยนประเทศ เป็นประเทศชั้นนำของโลก เริ่มต้นด้วยการปราบโกง

งานนี้หมอวรงค์ยอมรับว่า แม้จะเป็นมวยรองแต่ก็สู้ทุกทาง แม้กระทั่งทางไสยศาสตร์ ที่ล่าสุดเจ้าตัวเปิดเผยว่า

“มีความมั่นใจที่จะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เพราะได้เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางที่คนไทยเชื่อถือศรัทธาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีคุณวิเศษในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่พระครูอมร ธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว มอบให้แก่ผมและคณะกลุ่ม “เพื่อนหมอวรงค์” ด้วย”

ขณะที่นัมเบอร์ทรี “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ ผู้ผันตัวเองไปรับใช้งานปฏิรูปให้ท็อปบู๊ต แล้วกลับมาซบบ้านเกิดอย่าง ปชป. ก็ไม่น้อยหน้า ชูโรงมาด้วยวิสัยทัศน์ ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ 1 Democrat 1 One Family หรือ “4 ปฏิรูป 5 กฎเหล็ก 6 ยุทธศาสตร์”

4 ปฏิรูป คือ 1.ปฏิรูปภาวะผู้นำ 2.ปฏิรูปการบริหารจัดการ 3.ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ และ 4.ปฏิรูปวิสัยทัศน์นโยบาย

ส่วน 5 กฎเหล็ก คือ 1.เลือกตั้งสุจริต ไม่ทุจริตเลือกตั้ง 2.หาเสียงสร้างสรรค์แข่งขันนโยบายความสามารถ 3.รับทุนคุณธรรม ไม่รับทุนสามานย์ 4.ไม่คอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง และ 5. ยึดมั่นระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับ 6 ปฏิรูป ได้แก่ 1.ยึดมั่นอุดมการณ์พรรค 10 ข้อ 2.พัฒนาสู่สถาบันการเมืองประชาชน 3.เป็นผู้นำการเมืองสีขาวด้วยภาวะผู้นำที่เด็ดเดี่ยวเด็ดขาด 4.อัพเกรดสู่องค์กรทันสมัย “ดิจิตอลประชาธิปัตย์” 5.สร้างคลื่นลูกใหม่

และ 6.สร้างนโยบายและวิสัยทัศน์แบบติดดิน ติดดาว ติดโลก ติดรากหญ้า

ล่าสุด ได้เปิดตัวพร้อมแสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค โดยเจ้าตัวระบุว่า “ถ้าเลือกผมเป็นหัวหน้าพรรค การบอยคอตครั้งที่แล้วจะเป็นครั้งสุดท้ายของพรรค และจะไม่ยกพรรคให้ใครทั้งนั้น”

สามคน สามวิสัยทัศน์ สามหนทาง แต่จะต้องมีหนึ่งเดียวที่จะคว้าเก้าอี้ผู้นำพาพรรคพระแม่ธรณีสู่เส้นทางประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งหน้า การหยั่งเสียงในพรรค ปชป.ครั้งนี้ถือเป็นรูปแบบใหม่ของต้นแบบการให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคตด้วย

ดังนั้น จะเห็นหนทางเป็น “แบบใหม่ (แต่ไม่ใหม่)” หรือ “แบบกล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร” และ “แบบไม่บอยคอตเลือกตั้ง” เหล่าสมาชิกพรรคสีฟ้าทั่วประเทศทั้งหลายจะเป็นผู้ชี้ชะตา