รองเท้าของซินเดอเรลล่ามีที่มาจากการค้าโลกข้ามสมุทร ในยุคเหล็ก เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นิทานเรื่องซินเดอเรลล่า และปลาบู่ทอง มีที่มาเก่าแก่จากนิทานเรื่อง “นางเย่เสี้ยน” ของชาวจ้วง ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงทั้งการที่นางเอกทำรองเท้าหล่นหาย และการปรับทุกข์กับเจ้าปลาคาร์พครีบแดง ตาสีทอง ตัวเขื่อง โดยถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือเก่าที่ชื่อ “โหย่วหยางจ๋าจู่” หรือ “เรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเมืองโหย่วหยาง” ที่ต้วนเฉิงซี (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1346-1406) ได้เรียบเรียงเอาไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายราชวงศ์ถังของจีนเลยทีเดียว

(ดูรายละเอียดในข้อเขียนที่ชื่อ “ซินเดอเรลล่า และปลาบู่ทอง มีที่มาจากนิทานของชาวจ้วง” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2561)

แต่ถ้าจะนับเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวชะตาโศก ที่ทำรองเท้าหาย แล้วจู่ๆ ก็ไปตกอยู่ในมือของเจ้าชาย หรือพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ จนทรงตกหลุมรักเจ้าของรองเท้า และได้ครองคู่กันในที่สุดนั้น ก็มีบันทึกของนิทานทำนองอย่างนี้ ที่เก่าแก่ยิ่งกว่าเรื่องของนางเย่เสี้ยนเสียอีกนะครับ

ส่วนนางเอกของนิทานเก่าแก่เรื่องที่ว่านี้มีชื่อว่า “โรโดปิส” (Rhodopis) ที่มีอยู่ในบันทึกของพวกกรีกและโรมันนั่นเอง

 

นางโรโดปิสเองก็เป็นหญิงสาวดวงชะตาสุดอาภัพในเมื่อตอนแรกเริ่มของท้องเรื่องไม่ต่างไปจากนางซินหรืออีเอื้อยของใครต่อใคร แต่เรื่องของนางโรโดปิสนี้ ไม่มีทั้งแม่เลี้ยงและพี่สาวที่ติดแม่มาคอยกีดกันหรือกระทำการกดขี่บีฑาเลยสักนิด

นิทานเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงแม้กระทั่งเรื่องพ่อของเธอ และแม่แท้ๆ ที่ตายลงไป เธอก็เพียงแค่เป็น “หญิงงามเมือง” เท่านั้นเอง

แต่หญิงงามเมืองในโลกของพวกกรีกโบราณนั้น อย่างน้อยๆ ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

ประเภทแรก เรียกว่า “ปอร์ไน” (pornai) ซึ่งมีรากคำมาจากศัพท์ของกรีกโบราณเองนั่นแหละ คือคำว่า “pernemi” ซึ่งแปลว่า “การขาย” หญิงงามเมืองประเภทนี้จึงหมายถึงหญิงสาวที่ขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับทรัพย์สินเงินตรา ตามอย่างที่มักจะเข้าใจกันเป็นปกตินี่แหละ

ส่วนหญิงงามเมืองประเภทที่ 2 เรียกว่า “เฮไตรา” (hetaera หรือ hetaera ก็เรียก) มีรากศัพท์หมายถึง “คู่เคียง” (companion) ดังนั้น หญิงงามเมืองประเภทนี้จึงต่างออกไปจากประเภทแรกแน่

เพราะในขณะที่ใครก็ตามในยุคโน้น ต่างก็สามารถที่จะใช้เงินซื้อเพื่อแลกกับบริการทางเพศของพวกปอร์ไนเป็นครั้งคราว

แต่สำหรับพวกเฮไตรานั้น พวกเขาจะต้องเสียค่าจ่ายเหมาให้กับต้นสังกัดของพวกเธอ เพื่อแลกกับการได้เธอคนนั้นมาอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด (แน่นอนว่า ย่อมหมายถึงคู่หูบนเตียงด้วย) ตลอดช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน แล้วแต่จะตกลงกันเอาไว้

ดังนั้น สาวๆ ที่ทำงานเป็นเฮไตราส่วนใหญ่จึงมักจะมีเป็นพวกที่มีการศึกษาในระดับหนึ่ง เพราะค่าบริการที่จ่ายออกไปนั้น ไม่ใช่เพื่อเรื่องบนเตียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงค่าความสัมพันธ์ระหว่างกันในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย แถมบางนางก็ไม่ได้มีต้นสังกัด และเลือกที่จะให้บริการเฉพาะแต่กับบุรุษที่พวกเธอพึงพอใจเท่านั้นนะครับ สถานภาพทางสังคมของสาวๆ เฮไตรานั้นจึงไม่ถึงกับเลวร้ายจนเกินไปนัก

และก็แน่นอนด้วยว่า แม่นาง “โรโดปิส” ในนิทานที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เธอก็ทำงานเป็นหญิงงามเมืองประเภทที่เรียกว่า “เฮไตรา” นี้เอง

 

เรื่องของนางโรโดปิสนั้น เป็นนิทานสั้นๆ ที่กล่าวถึงครั้งหนึ่งในขณะที่หญิงงามเมืองนางนี้กำลังจะอาบน้ำ นกอินทรี (บางสำนวนก็เล่าว่าเป็นพญาแร้ง) ได้โฉบลงมาคาบเอารองเท้าแตะข้างหนึ่งของเธอ ที่หญิงรับใช้ได้ถือเอาไว้ (อย่างที่บอกว่า อันที่จริงแล้วสาวๆ ที่เป็นเฮไตรานั้นมีชีวิตที่ไม่ลำบากนัก) บินหายขึ้นไปบนท้องฟ้า

แถมยังบินไปจนถึงเมืองเมมฟิสในประเทศอียิปต์ แล้วก็ทำรองเท้าตกลงไปบนหน้าตักของฟาโรห์ ในขณะที่กำลังเสด็จอยู่ในที่กลางแจ้งอย่างพอดิบพอดี

ฟาโรห์ทอดพระเนตรเห็นรองเท้าข้างนั้นเข้าก็ทรงชื่นชมในความงามของรูปเท้าของเจ้าของรองเท้า พอๆ กับที่ทรงรู้สึกอัศจรรย์กับเหตุพิสดารที่เกิดขึ้น

จึงทรงสั่งกำลังคนให้ออกตามหาเจ้าของรองเท้าข้างนี้ไปในทุกทิศทาง จนกระทั่งพบเจ้าของคือนางโรโดปิส ที่เมืองเนาคราติส (Naucratis) ทั้งคู่จึงได้สมรักสมรสกันตามสูตรไปในที่สุด

 

ถึงแม้ว่าเมืองเนาคราติสปัจจุบันจะอยู่ในประเทศอียิปต์

แต่เมืองดังกล่าวนี้ก็วางตัวอยู่บนลำน้ำคาโนปิก (Canopic) สาขาหนึ่งที่แยกออกจากแม่น้ำไนล์ไปทางตะวันตกสุด

และเป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์กลางความเป็นอียิปต์ ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน บริเวณปากน้ำไนล์ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญ เช่น เมืองไคโร เมืองเมมฟิส หรือเมืองกิซ่า เป็นต้น) กับเมืองสำคัญที่พวกกรีกยึดจากอียิปต์มาได้ที่ปากแม่น้ำคือ เมืองอเล็กซานเดรีย

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจไปหรอกนะครับว่า ทำไมนิทานเรื่องนี้จึงถูกพวกกรีกบันทึกเอาไว้

แถมยังใช้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเองอย่างเรื่องหญิงงามเมืองเฮไตรา มาใช้อธิบายความถึงสถานะทางสังคมของนางโรโดปิส นางเอกของเรื่อง ซึ่งน่าจะมีต้นเค้ามาจากวัฒนธรรมของชาวอียิปต์มันเสียอย่างนั้น

 

บันทึกเกี่ยวกับนางโรโดปิส อยู่ในบันทึกเรื่อง “Geographica” (อาจแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “ภูมิศาสตร์”) ของนักภูมิศาสตร์เลือดกรีกที่ชื่อว่า สตราโบ (Strabo, พ.ศ.480-567) ซึ่งเรียบเรียงจนแล้วเสร็จเมื่อระหว่าง พ.ศ.536-563

ก่อนที่จะถูกกล่าวถึงอีกครั้งในหนในงานของนักปาฐกถาคนสำคัญคนหนึ่งของโรมันอย่าง คลอดิอุส อีลิอานุส (Claudius Aelianus, พ.ศ.718-778) หรือที่มักจะเรียกกันในหมู่ผู้ศึกษาอารยธรรมโรมันว่า “อีเลียน” ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด” (หรือที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า Miscellaneous History) ของเขา

โดยเฉพาะอีเลียนนั้น ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับนิทานเรื่องนางโรโดปิสเอาไว้ว่า เป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่เนิ่นนานมาแล้ว

และยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ฟาโรห์ในเรื่องนี้น่าจะหมายถึง ฟาโรห์ซามติกที่ 1 (Psamtik I, 121-67 ปีก่อนพุทธศักราช) หรือที่พวกโรมันเรียกว่าฟาโรห์ซามเมติคุส (Psammeticus) แห่งราชวงศ์ที่ 26 ของอียิปต์

ไม่ว่าฟาโรห์ในนิทานเรื่องนี้จะเป็นฟาโรห์ซามติกที่ 1 จริงหรือไม่ก็ดี แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า นิทานเรื่องนางโรโดปิสมีอยู่ในบันทึกของชาวกรีกและโรมันในช่วงคาบเกี่ยวกับความเจริญของการเดินเรือเพื่อการค้าโลกข้ามสมุทรของโลกตะวันตกที่สัมพันธ์กับภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างพอดิบพอดี

 

หนังสือ Periplus of the Erythrean sea (หมายถึงมหาสมุทรอินเดีย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ในช่วงหลัง พ.ศ.600 เพียงเล็กน้อย ได้บันทึกไว้ว่า ในช่วงก่อน พ.ศ.600 ไม่นานนัก ชาวโรมันเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อฮิปปาลุส (Hippalus) ได้ค้นพบกระแสลมมรสุมที่พัดตรงไปมาระหว่างทะเลแดงกับชมพูทวีปในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน

การค้นพบดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร เป็นผลให้การค้าโลกขยายตัวขนานใหญ่ พ่อค้าสามารถเดินทางค้าขายระยะไกลได้สะดวกดายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ลมมรสุมนี้ภายหลังเรียกชื่อว่าลมมรสุมฮิปปาลุส เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ)

ข้อความในหนังสือเล่มที่ว่า ยังมีหมายความซ่อนไว้อีกว่า ก่อนหน้าการโดยสารเรือระหว่างพื้นที่บริเวณเป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเล

เมื่อมีการค้าบริเวณเลียบชายฝั่งทะเลจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ชุมชนเลียบชายฝั่งทะเลจะพัฒนาใหญ่โตขึ้นในช่วง “ยุคเหล็ก” ซึ่งก็คือช่วงที่พวกกรีกและโรมันบันทึกเรื่องของนางโรโดปิสเอาไว้

โดยเฉพาะเมื่อในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เองยังมีข้อความระบุอีกว่า เรือจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งก็คือภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรานั้น จะต้องใช้เรือท้องที่แล่นเลียบชายฝั่งไป โดยต้องเปลี่ยนเรือที่ปลายแหลมสุดของชมพูทวีป

แน่นอนว่า การบันทึกรายละเอียดของการเดินทางอย่างนี้ ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการติดต่อถึงกันระหว่างพวกโรมันกับภูมิภาคอุษาคเนย์

จึงไม่น่าที่จะแปลกใจอะไรนักถ้าหากว่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ที่เกิดขึ้นจากรองเท้าที่หลุดหายไปของนางโรโดปิสจะถูกเล่าขานกันในท้องเรือ ตั้งแต่ท่าเรือเมืองอเล็กซานเดรีย หรือท่าเรืออื่นๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาจนถึงอุษาคเนย์แห่งนี้ และถูกส่งผ่านไปจนถึงพวกจ้วง ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน จนเอาไปผนวกเข้าเป็นเนื้อเรื่องสำคัญส่วนหนึ่งของนิทานเรื่องนางเย่เสี้ยนในภายหลัง จนปรากฏเป็นบันทึกอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ถังของจีน

โดยเฉพาะเมื่อมีการพบตะเกียงโรมันสำริด อายุราว พ.ศ.500-600 ที่บริเวณพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพราะเป็นตะเกียงที่กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในนิทานเรื่องนางเย่เสี้ยน ฉบับที่ต้วนเฉิงซีบันทึกเอาไว้ในสมัยปลายราชวงศ์ถังนั้น เขาได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า พระราชาที่พบรองเท้าของนางเย่เสี้ยนจนต้องออกตามหาเจ้าของด้วยรักแท้นั้น เป็นเจ้าผู้ครองเกาะใหญ่แห่งหนึ่งในทะเลทางใต้ ซึ่งมีเกาะบริวารอีกนับพัน

ต้วนเฉิงซียังระบุเอาไว้ด้วยว่า ชื่อเมือง (หรือชื่อเกาะ?) ของพระราชาองค์นี้คือ “Tuohan” ซึ่งตรงกับชื่อในบันทึกโบราณของจีนสมัยราชวงศ์สุย-ถัง กล่าวถึงเมืองใดเมืองหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ (ซึ่งยังไม่ทราบชัดว่าคือเมืองใดมาจนทุกวันนี้) ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรนักที่จะมีบางท่านเชื่อว่า เฉพาะความเข้าใจในนิทานเรื่องนางเย่เสี้ยนนั้น หมายถึง กลุ่มวัฒนธรรมที่ครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของอุษาคเนย์อย่าง “ศรีวิชัย”

ไม่ว่าพระราชาผู้เป็นรักแท้ของนางเย่เสี้ยน จะหมายถึงพระราชาแห่งศรีวิชัยหรือไม่ก็ตาม

แต่ข้อความตรงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่เชื่อมต่อการส่งทอดของนิทานเรื่องรองเท้าของนางโรโดปิส ไปเป็นรองเท้าของนางเย่เสี้ยน ที่มีการค้าในภูมิภาคอุษาคเนย์ช่วงยุคเหล็กเป็นพื้นที่ส่งผ่านสำคัญ ก่อนที่จะมีการส่งกลับไปยังยุโรป

แล้วพัฒนาต่อไปเป็นเรื่องรองเท้าของซินเดอเรลล่าในที่สุด