เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ขัวน้อยบ้านชีทวน

คุณระลึก ธานี อดีต ผอ.การประถมศึกษา จ.อุบลราชธานี และประธานคณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา ได้ส่งหนังสือ “ขัวน้อยบ้านชีทวน” มาให้

จึงได้รำลึกความหลังครั้งพาคณะกรรมาธิการค่านิยมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนาในสภา สปช.ไปศึกษางานด้านศิลปวัฒนธรรมในวิถีชุมชนบ้านชีทวน บ้านท่าศาลา อำเภอเขื่องใน เมืองอุบล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2558 วันเดียวกันนี้เลยที่ท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยี่ยมพื้นที่เดียวกันในปีนี้ คือ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2561 สามปีพอดี

“ขัว” หมายถึงสะพานที่ชาวอีสานเรียกรู้กัน

“ชีทวน” หมายถึงลำน้ำชีที่ไหลทวนขึ้นมา เหมือนชื่อ “ชีหลง” ที่เมืองสุรินทร์ คือลำน้ำชีไหลเลี้ยวหลงเข้ามา

ไม่ได้หมายถึงนางชี หรือ NUN นะ ไทยเราหมายรวมถึงนักบวชทั่วไปไม่จำกัดเพศ ดังเรียกชีมานั้นด้วย NUN

นอกเรื่องนิดนะ ด้วยทำให้นึกไปถึงชื่อบ้านนามเมือง เช่น “ชีหลง” และ “สงเปือย” ซึ่งชวนลามกไปโน่นแท้จริง คำชีหลงคือลำน้ำชีหลง และสงเปือย คือดงต้นเปือย ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ ดังคำว่า “สงคราม” ลำน้ำสายหนึ่งที่นครพนม นั่นก็หมายถึงดงต้นครามนั่นเอง เพราะ “สง” ในพื้นถิ่นอีสานหมายถึงดง หรือไม้ที่ขึ้นอยู่งอกงาม

เพราะฉะนั้น ก็อย่าเตลิดหลงไปกับคำ “ชีหลง-สงเปือย” ล่ะ

บ้านชีทวนมีวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ มีธรรมาสน์สิงห์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็น “ใจบ้านใจเมือง” สถิตอยู่วัดนี้อยู่บริเวณ “หัวขัว” คือหัวสะพานน้อยพอดี

ที่เรียก “ขัวน้อย” เพราะเป็นสะพานแคบแค่พอเดินสวนกันได้พอดี

สะพานนี้ทอดยาวข้ามผืนนา เชื่อมระหว่างบ้านชีทวนกับบ้านหนองแคน มีวัดสองวัดอยู่หัวขัวพอดี คือวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน กับวัดศรีธาตุเจริญสุข บ้านหนองแคน ความสูงของสะพานก็แค่ช่วงอกเท่านั้น

แต่ประวัติของสะพานนี้ยืนยาวสูงส่ง ยิ่งยงและกว้างใหญ่นัก

เริ่มสร้างเป็นสะพานไม้หรือขัวไม้เมื่อ พ.ศ.2350 เสร็จปี 2360 สิบปีพอดี สมัยปลายรัชกาลที่ 1 จากขัวไม้ซึ่งต้องซ่อมสร้างกันอยู่จนเป็นสะพานคอนกรีตแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2561 ปีนี้ ตกราว 200 ปีพอดี

จึงเป็นสะพานที่มีอายุยืนยาวใช้งานต่อเนื่องอย่างมีชีวิตชีวามากที่สุด

ยิ่งใหญ่ตรงที่สะพานนี้เกิดด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านสองบ้านคือ บ้านชีทวนกับบ้านหนองแคนร่วมกันด้วยต้องการให้พระสองวัดนี้เดินบิณฑบาตระหว่างญาติโยมสองหมู่บ้านได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมทุ่งนา หากผ่านข้ามทุ่งนาโดยไม่ทำให้ข้าวและท้องนาเสียหายสมพุทธบัญญัติ

ศรัทธานี้จึงยิ่งใหญ่ด้วยเป็นศรัทธาบุญกุศลโดยแท้

แม้ไม่ยาวนักคือราวสี่ร้อยเมตรเศษ แต่ยืนยาวด้วยอายุมาตลอดสองร้อยปี แม้ด้วยงบฯ ไม่มาก กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ราวแปดแสนกว่าบาทเท่านั้น แต่มากด้วยน้ำใจชาวบ้านอันประเมินค่าไม่ได้เลย

สะพานนี้จึงเป็นสะพานประวัติศาสตร์ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองอุบลไปทันที

ก็สะพานแบบนี้แหละที่ดึงผู้คนให้อยากมาพบมาเห็นสักครั้งในชีวิต อย่างสะพานมอญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ข้ามน้ำที่สังขละบุรี เมืองกาญจน์ หรือสะพานอูเบงที่มัณฑะเลน์ พม่า ซึ่งเป็นสะพานไม้สัก

สะพานดังกล่าวนี้ล้วนสร้างด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ด้วยฝีมือของชาวบ้านล้วนๆ และมีวัดในพุทธศาสนาเป็นเป้าหมายด้วยกันทั้งสิ้น

จำเพาะขัวน้อยบ้านชีทวนนี้งามเป็นพิเศษด้วยเป็นสะพานข้ามทุ่งนาข้าวที่โล่งลิ่ว ทุ่งข้าวเปลี่ยนสีไปตามฤดู โล่งอกโล่งใจสบายตาน่าเดินพักผ่อนหย่อนใจยิ่ง มิพักต้องกล่าวถึงประโยชน์โดยตรงด้วยซ้ำ

คุณระลึก ธานี บอกบุญเรื่องจะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา รวมทั้งภูมิทัศน์โดยรอบว่าจะลงศิลาฤกษ์อาคารราวกลางปีหน้า พ.ศ.2562

ก็ขออนุโมทนาบุญกุศลเจตนามา ณ ที่นี้

นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว ขอเสนอให้เอาตัว “ขัวน้อย” นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ไปพร้อมกันด้วยเลย

ที่เมืองบุรีรัมย์ มี “สวนคุณปู่” อยู่ริมนาริมทาง นอกจากเขาทำเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจริมทุ่งแล้วยังมีสะพานไม้ทอดข้ามแปลงนาไปไม่ไกล แต่มีช่วงที่เขาทำเป็นลักษณะศาลาและหอห้างสูงขึ้นไปให้คนปีนกะไดขึ้นไปชมทิวทัศน์ได้ กลายเป็นแหล่งนิยมของคนเมืองที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ พาเด็กเล็กมาเดินบนสะพาน ปีนกะไดเล่น สนุกสนานแบบใหม่กลางทุ่งอีกด้วย

ขอเสนอให้ขัวน้อยบ้านชีทวนทำอย่างนี้ได้เลย คือทำเป็นหอห้างนาเป็นระยะไปตามช่วงสะพานสักสามช่วง นอกจากให้คนได้นั่งพักแล้วก็ได้ปีนกะไดขึ้นชมทิวทัศน์ในมุมกว้างรอบทิศ สูดอากาศบริสุทธิ์กลางทุ่ง ซึ่งปัจจุบันหาที่อย่างนี้ยากแล้ว

พิเศษคือ เอา “หอห้างนา” หรือ “เถียงนา” น้อยๆ ลอยฟ้านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ไปด้วย

เช่น เรื่องราวความเป็นมาของสะพานอันเป็นประวัติศาสตร์ควบคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์

เรื่องความเป็นมาของบ้านชีทวนและบ้านหนองแคน

เรื่องเล่าของคนเก่าคนแก่สองหมู่บ้าน

และ… ฯลฯ

โดยทั้งหมดนี้เล่าผ่านอย่างมีศิลปะด้วยการออกแบบของศิลปินและอาจารย์จากคณะศิลปะประยุกต์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี นั่นแหละ

ให้เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ แต่งดงามตามวิถีชุมชน ก่อนจะเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์อันอลังการนั้น

และนี่จะเป็น “ภูมิบ้านภูมิเมือง” นำร่องให้ชุมชนทั่วประเทศได้เป็นตัวอย่าง

สร้างศูนย์รวมความรักศรัทธา ที่เป็นจริง

๐ บ้านชีทวนชวนชีเป็นศรีบ้าน

สร้างคนดีศรีอีสานพิมานสมัย

สืบสายเลือดสายลำแม่น้ำใจ

สะอาดใสเป็นศรีบ้านชีทวน