เสียงเคาะระฆัง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เสียงเคาะระฆัง
สุจิตต์ วงษ์เทศ

เสียงระฆังมีพลัง ฟังแล้วทั้งกระด้าง (จนบางคนสะดุ้ง) และไม่กระด้าง โดยใช้งาน
ได้ทั้งอาณาจักรและศาสนจักร
“เสียงระฆังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา” กลอนพระอภัยมณี
ของสุนทรภู่ พรรณนาตอนสุดสาครถูกชีเปลือยหลอกไปผลักตกเหวจนสลบ แล้วค่อยๆ
รู้สึกตัว ก็สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงระฆังตีส่งสัญญาณว่าโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมาช่วยเหลือ
แสดงว่าในความเงียบสงัด แต่เสียงระฆังก็ดังจนสะดุ้งได้
เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม จะให้เสียงระฆังบอกทางสวรรค์เหมือนบรรพกาลได้ไฉน?

เคาะระฆังตอนย่ำรุ่ง

“เสียงระฆัง” ตอนใกล้รุ่งถูกใช้เป็นเครื่องบอกเวลาผัวหนุ่มเมียสาวสำเร็จกิจ
“เมกเลิฟ นอตวอร์” (make love, not war) ตั้งแต่หัวค่ำจนฟ้าสาง มีในกลอนเสภา
ขุนช้างขุนแผน ตอนนางศรีประจันสอนลูกสาวคือนางพิมทำกับข้าวเอาใจผัวเมื่อก่อน
แต่งงานกับพลายแก้ว ดังนี้

อุตส่าห์จำทำให้ผัวกินลอง ล้วนแต่ของมีกำลังทั้งสามสิ่ง
ทำให้กินเนืองเนืองเปรื่องขึ้นจริง ทุกสิ่งของแท้เป็นแน่นอน
ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน
พอตกค่ำขึ้นท้ายไม่หลับนอน พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง

“พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง” น่าจะหมายถึงผัวขึ้นคร่อมเมีย แล้ว
ทำท่าพายเรือโยกตัวไปมาไม่หยุดหย่อนตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้สว่าง ก็สำเร็จสมประดีเมื่อ
ได้ยินเสียงตีระฆังปลุกพระสงฆ์เตรียมครองจีวรออกบิณฑบาต
เสภา “สอนลูกสาว” ที่คัดมานี้จากหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่”
(สำนักพิมพ์สยามรัฐ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 หน้า 100-103) อาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์
ปราโมช เชื่อว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง (วัดระฆัง) แล้วยังบอกอีกว่า “เคยมีฉบับพิมพ์เก่า
มาก ขาดๆ วิ่นๆ…” แต่ต่อมาฉบับพิมพ์นี้หายไป อาจารย์คึกฤทธิ์จึงเขียนบอกว่า “ที่
เอามาลงได้ในที่นี้นั้นมาจากความจำของผมเองทั้งสิ้น”

ระฆังเป็นอำนาจ

ระฆัง เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทั้งทางอาณาจักรและทางศาสนจักร มีความเป็น
มา (พัฒนาการ) หลายพันปีมาแล้ว
ในทางอาณาจักร เป็นเครื่องยศ แสดงความเป็นใหญ่ของผู้ถือครองระฆัง
ในทางศาสนจักร เป็นเครื่องตี มีเสียงศักดิ์สิทธิ์ก้องกังวาน กระจายบนพื้นที่กว้าง
ขวางและห่างไกล ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาผีจนถึงศาสนาพุทธ
ดังที่พบหอระฆังประจำวัดเป็นส่วนมากในไทย มีตำนานระฆัง พบที่วัดระฆังและ
วัดสระเกศ แล้วเชิญไปไว้วัดพระแก้ว (มีรายละเอียดในบทความเรื่อง “ระฆัง” กับ
“หอไตร” ที่วัดระฆัง ปกรณัมอำพราง สมัยรัชกาลที่ 1 ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20-26 กรกฎาคม 2561)
ฆ้อง, ระฆัง คำภาษามลายู
ระฆังกับฆ้อง มีรากเหง้าที่มาอย่างเดียวกัน แต่ต่อมามีรูปร่างต่างกัน
ระฆัง เป็นคำเดียวกับ ฆ้อง ที่คนแต่ก่อนบางทีเรียกควบคู่กันว่า “ระฆ้องระฆัง”
เป็นคำยืมจากภาษามลายูว่า gong หมายถึง เครื่องตี ใช้แขวนตีจากข้างนอก
bell เป็นเครื่องตีของตะวันตก ใช้แขวนตีจากข้างในด้วยลูกกระทบ ซึ่งตรงข้าม
กับ gong ของอุษาคเนย์
gong (ฆ้อง, ระฆัง) เป็นวัฒนธรรมลักษณะเฉพาะของอุษาคเนย์ ซึ่งไม่พบในโลก
ตะวันตก ดังนั้นในภาษาอังกฤษจึงยืมคำมลายูไปใช้โดยทับศัพท์ว่า gong