บทวิเคราะห์ : มองบทบาท “จีน-อินเดีย” ใน BCIM

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ตัวแปรสำคัญของความสัมพันธ์จีนและอินเดียเป็นส่วนที่กระทบต่อพัฒนาการของ BICM โดยตรงคือ Indo-Pakistan crisis ในช่วงก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะมีอาวุธนิวเคลียร์ ยุคนั้นความขัดแย้งอาจจะยังเป็นแค่ศาสนาที่แตกต่างกันคือ ปากีสถานส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

แต่พอยุคที่ทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์พัฒนาความขัดแย้งจนถึงขั้นมีวิกฤตการณ์ระหว่างกันก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น (1)

ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของจีนกับปากีสถานโดยการก่อตั้ง China Pakistan Economic Corridor แต่จีนได้เข้าไปลงทุน ให้เงินกู้และพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Gwador Port ใน Arabian sea และมองไปไกลถึง Persian Gulf Gwador Port นั้นจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ OBOR และเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลางและตะวันออกกลาง

ส่วนนี้ใกล้กับพรมแดนของอิหร่านและครอบคลุม Strait of Hormus ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายน้ำมัน

มีการมองว่าท่าเรือนี้ต้องกลายเป็นฐานทัพเรือจีน Gwador เป็นท่าเรือน้ำลึกห่างจากการาจีเมืองหลวงปากีสถาน 470 กิโลเมตร

เป็นช่องระบายหรือระเบียงเศรษฐกิจและพลังงานในมหาสมุทรอินเดีย Gwador เป็นแม้กระทั่งท่าเรือขนส่งของจีนที่เชื่อมได้ทั้งถนน รถไฟหรือท่อส่งน้ำมัน (2)

 

จริงอยู่ BICM เน้นเรื่องระเบียงเศรษฐกิจคือ cooperation zone, growth zone, growth pole หรือจริงๆ เป็นการเน้น connectivity

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของ BICM ในแง่สองมหาอำนาจคือ อินเดียและจีน คือการเข้ามามากขึ้นของจีน และกล่าวจริงๆ คือ การมีอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง

ในอีกแง่หนึ่ง การเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นของจีนในด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในมณฑลยูนนานซึ่งเร่งสนับสนุนมณฑลนี้โดยผ่าน BICM จะสร้างความสงสัยต่อนโยบาย Act East Policy (ASP) ของอินเดียโดยเฉพาะนโยบายต่อรัฐต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนืออันมีลักษณะทางกายภาพที่มีพื้นที่ครอบคลุมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางด้านความสำคัญทางประวัติศาสตร์ การผูกพันกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันทางด้านการค้า วัฒนธรรมและชาติพันธุ์

ดังนั้น BICM ที่ริเริ่มจากจีนตั้งแต่ปี 1999 และกลับมากระตือรือร้นอีกในช่วง 2013 ที่นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง โดยการผลักดันยุทธศาสตร์ OBOR จึงเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ หากดูจากสองมหาอำนาจจีนและอินเดีย อินเดียไม่ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นทั้งมหาอำนาจและอยากพัฒนาภาคตะวันออกที่ล้าหลังของตนเอง ส่วนปัญหาพื้นฐานคือจีนสนับสนุนปากีสถานซึ่งเป็นคู่แข่งขันกับอินเดียอยู่ก่อนแล้วทั้งทางศาสนา ปัญหา Khasmir ที่ยังคาราคาซัง อำนาจอาวุธทางทหารและนิวเคลียร์ รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน ปากีสถาน และการให้เงินลงทุนท่าเรือน้ำลึก Gwador ของปากีสถาน อันเชื่อมโยงต่อมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกจ้างผิวในรัฐยะไข่ในเมียนมา เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความที่ Gwador ของปากีสถานอาจกลายเป็นทั้งท่าเรือนำลึก เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟอันนับเป็นแหล่งระบายสินค้าจีน แต่ในเวลาเดียวกันเป็นพื้นที่หลักประกันการขนส่งน้ำมันและก๊าซให้กับความมั่นคงพลังงานของจีนอีกด้วย

ดังนั้น BICM ในแง่อินเดียจึงไม่อาจเดินต่อไปได้ง่ายๆ

 

ก้าวต่อไปของ BICM

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายประการพร้อมๆ กัน เช่น ด้านเศรษฐกิจโลกมีทั้งความไม่เท่าเทียมกันและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

แต่ก็มีบางส่วนจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในลักษณะของการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จมากคือ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีทั้งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การร่วมมือแบบ ASEAN+3 ASEAN+6 เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะระบบเศรษฐกิจภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงด้านฐานการผลิตในที่ที่มีแรงงานราคาถูก การเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้น

รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานอพยพไปยังพื้นที่มีการจ้างงาน เช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมายังอาเซียนภาคพื้นทวีปที่เจริญกว่า เช่น ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ทางรถไฟ การโดยสารเรือและการเดินทางด้วยเครื่องบินราคาประหยัดก่อให้เกิดการไหลบ่าของผู้คนข้ามประเทศ ข้ามภูมิภาคจำนวนมาก

แต่ทว่า สิ่งที่เรียกว่า Flow และ connectivity เกิดขึ้นน้อยมากในกรณีของ BICM ซึ่งมีแต่อยู่ระหว่างการศึกษาและการประชุมทั้งๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1999 ก้าวที่ยากลำบากของ BICM น่าจะมีสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ

ประการที่ 1 ความซับซ้อนในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ระหว่างอินเดีย ปากีสถาน ความหวาดระแรงของเมียนมาต่อจีนที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธตามชายแดนจีน เมียนมา

ประการที่ 2 หากดูความเชื่อมโยง BICM จากเมืองคุนหมิงของจีนไป Kolkata ของอินเดียเกือบจะไม่คืบหน้าเลยเพราะเป็นการลงทุนสร้างถนนระหว่างสองฝ่าย ประเทศละ 200 กิโลเมตร แต่กลับเป็นเส้นถนนที่ไม่มีความสำคัญทางการค้าและการบริการ เช่น จีนมีเส้นทางการค้ากับเมียนมาจาก Ruili/Yunnan to Muse to Lashio อยู่ก่อนแล้ว

อีกทั้งในความเป็นจริง การเชื่อมโยงโดยการลงทุนท่าเรือน้ำลึก เช่น Gwador มีความสำคัญทั้งการขนถ่ายสินค้า การขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดียและเชื่อมกับตะวันออกกลาง แต่ท่าเรือดังกล่าวเป็นของปากีสถานที่ลงทุนโดยบริษัทของจีน

ดังนั้น การปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นของจีนในปากีสถานย่อมสร้างความระแวงให้กับอินเดียในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น อินเดียจึงยกเครื่อง Look East Policy มาเป็น Act East Policy สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นทั้งตลาดและมีความเหมือนทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กับอินเดียอยู่แล้วมากขึ้น

ประการที่ 3 OBOR และ MSR ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง แม้จะเป็นมหายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเอเชีย เอเชียกลาง ยุโรปและอินโดจีน แต่เมื่อเข้ามาผลักดันต่อ BICM ก็เป็นโครงการวาดฝันและไม่ได้เชื่อมต่อกับอะไรเลย เช่น ความล้มเหลวของข้อเสนอของจีนในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลเมียนมาปัจจุบัน แต่ครั้นจะเชื่อมต่อกับ CPEC ระหว่างจีนกับปากีสถานซึ่งเชื่อมต่อทางถนนและพื้นที่เช่น Kashmir กลับกระตุ้นให้อินเดียมองว่านี่เป็นภัยคุกคามของจีนและปากีสถานโดยตรง

ดังนั้น BICM จ7งเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มที่มีน้อยและสำเร็จน้อยมากในเอเชียใต้

——————————————————————————————————————-
(1) Christoph Bluth, “India and Pakistan : A Case of Asymmetric Nuclear Deterrence” The Korean Journal of Defense Analysis 22, No. 3 (September 2010) : 387-406.

(2) Ghulam Ali, “China”s Strategic Interests in Pakistan Port at Gwador,” East Asia Forum, March 24, 2013, http://www.eastasiaforum.org/2013/03/24/chinas-strategic-interests-in-pakistans-port-at-gwadar/