อนาคตไทย-สหรัฐ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” จับตา “ชาลับห์ กุมาร” ว่าที่ “ทูตอเมริกัน” คนใหม่

สถานการณ์การเมืองไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยอยู่ในช่วงต้นปี 2562

ความชัดเจนนี้ส่งผลให้มิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “เป็นบวก” มากขึ้น

โดยเฉพาะกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีท่าทีเชิงบวกต่อไทย นับจาก “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ได้สายตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เพื่อเชิญเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2560

สำหรับมิติด้านความมั่นคงนั้น ผู้นำกองทัพทั้ง 2 ชาติ ก็แลกเปลี่ยนการเยือนกันมากขึ้น

 

ล่าสุด เดือนเมษายน 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นำผู้แทนเหล่าทัพ เดินทางไปทำพิธีวางพวงมาลา เพื่อแสดงความรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตจากสงคราม ณ สุสานแห่งชาติ (Arlington National Cemetery) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

จากนั้น ได้เดินทางไปหารือกับ พล.อ.เจมส์ แมตทิส รมว.กระทรวงกลาโหมสหรัฐ

นำไปสู่ผลการหารือที่ว่าสหรัฐยังยึดมั่นในความร่วมมือกับไทย เพื่อคงเสถียรภาพและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อสนับสนุน “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี” (Free and Open Indo-Pacific)

และตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ

หลังจากทั้ง 2 ประเทศได้ออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทย-สหรัฐ ค.ศ.2012 (2012 Joint Vision Statement for Thai-U.S. Defense Alliance)

ก่อนหน้านั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พล.ร.อ.แฮรี่ บี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก ได้มาเยือนไทยและเข้าพบ พล.อ.ประวิตร พร้อมตรวจเยี่ยมการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง คอบร้าโกลด์ 2018

พล.ร.อ.แฮรี่ บี แฮร์ริส เปิดเผยว่า การฝึกคอบร้าโกลด์มีโจทย์ที่ท้าทายเกี่ยวกับภัยคุกคามในภูมิภาคที่เปลี่ยนไปทุกปีในหลายๆ มิติ โดยสหรัฐได้เพิ่มกำลังทหารเข้าฝึกในปี 2018 มากขึ้นกว่า 2,000 นาย รวมกว่า 6,000 นาย เป็น “ตัวเลขแห่งความร่วมมือ” ที่สำคัญ

มีรายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร เคยเข้าร่วมรับประทานอาหารที่บ้านพัก พล.ร.อ.แฮรี่ บี แฮร์ริส ที่ฮาวาย ครั้งไปประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐ เมื่อปี 2559

เดือนเดียวกัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ที่ควบตำแหน่ง “เลขาธิการ คสช.” ได้เยือนฮาวายอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองกำลังทางบกสหรัฐประจำภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) เพื่อหารือด้านความมั่นคง

โดยได้เข้าพบ พล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก และ พล.อ.ต.เควิน บี ชไนเดอร์ เสนาธิการกองกำลังสหรัฐประจำภาคพื้นแปซิฟิก (PACOM)

รวมทั้งเยี่ยมชมฐานทัพ Wheeler Army Airfield (AAF), ชมการแสดงกองพลน้อยเฮลิคอปเตอร์โจมตี, เยี่ยมชมหน่วยกองพลทหารราบที่ 25 และชมสาธิตการฝึกทางทหารของ Mission Training Complex (MTC)

พล.อ.เฉลิมชัยเปิดเผยว่า ผบ.กองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก (PACOM) ได้เสนอให้กองทัพไทยเป็นเจ้าภาพประชุม ผบ.ทบ.ภาคพื้นแปซิฟิก ในปี 2562

ย้อนกลับไปเดือนมิถุนายน 2560 พล.อ.เฉลิมชัยได้ให้การต้อนรับผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก ในโอกาสเยือนไทย พร้อมกันนี้ พล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ ได้เข้าพบ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และได้ไปเยี่ยมชมการฝึกของ ร.31 รอ. ที่ จ.ลพบุรี ด้วย

สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ เคยเรียนหลักสูตรจู่โจม-แรงเยอร์ของสหรัฐ และจบปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย Southeastern University วอชิงตัน ดี.ซี.

ปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐยังได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่ออบรมหลักสูตรของ War College สำหรับผู้นำทหาร เรื่องภัยคุกคามหลายรูปแบบในโลกสมัยใหม่ พร้อมเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ไปเยี่ยมชมหน่วยงานเกือบ 2 สัปดาห์

หลังเดือนกันยายน เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงต้องจับตาแนวนโยบายของ ทบ.ไทยกับสหรัฐ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายทหาร “อเมริกันสไตล์” คนหนึ่ง

ส่วนท่าทีที่ไทยปรับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ก็ตรงกับโอกาสครบรอบ 65 ปี การตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารสหรัฐประจำประเทศไทย หรือ “จัสแม็กไทย” ที่ได้เปิดอนุสรณ์ก้อนหินบะซอลต์จาก จ.เชียงราย สัญลักษณ์ความร่วมมือใกล้ชิดและแข็งแกร่งดั่งหิน หลังสองฝ่ายร่วมภารกิจ “ถ้ำหลวง”

นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่กำลังจะหมดวาระ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการทหารระหว่าง 2 ชาติค่อนข้างแข็งแกร่งมาตลอด 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา และได้แก้ไขปัญหาที่ท้าทายไปพร้อมๆ กัน

อีกทั้งการฝึกคอบร้าโกลด์และการฝึกร่วมโปรแกรมอื่นๆ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งทหารจากฐานทัพโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น มาร่วมภารกิจถ้ำหลวง

โดยหลังจากไทยมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าความร่วมมือจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเป็น 100 เปอร์เซ็นต์

ด้าน พ.ท.จอห์น บะซีล ผู้อำนวยการแผนกฝึกร่วม-ผสม จัสแม็กไทย กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการทหารในช่วง 4-5 ปี ยังคงต่อเนื่อง ด้านยุทโธปกรณ์ สหรัฐยังคงความร่วมมือในการปรับปรุงเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศ ทั้งระบบสื่อสาร ระบบตรวจจับ ให้ทันสมัยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกองทัพเรือไทย ในเรื่องระบบควบคุมบังคับบัญชาและระบบเรด้าร์ตรวจจับรอบบริเวณน่านน้ำ ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงโครงการจัดหา ฮ.UH-72 ของกองทัพบก และจรวดฮาร์พูนของกองทัพเรือ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ไทยได้จัดหาอาวุธจากจีนมากขึ้นนั้น พ.ท.บะซีลมองว่า อาจมีหลายอย่างที่ไทยต้องการจัดซื้อจากสหรัฐ แต่เนื่องจากราคาแพงเกินไป เลยต้องมองหาจากที่อื่น แต่ยังยืนยันว่าสหรัฐมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุด ในแง่ความร่วมมือด้านการทหารและยุทโธปกรณ์ที่กองทัพไทยประจำการอยู่

โดยเฉพาะ 30-40 ปีที่ผ่านมา ถือว่ากองทัพไทยได้ซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐเข้าประจำการเกือบทั้งหมด แต่ตอนนี้ก็มีการเลือกซื้อจากประเทศอื่นด้วย ไม่เฉพาะแค่จีน ยังมีสิงคโปร์ หรือล่าสุดกองทัพเรือไทยได้ต่อเรือฟริเกตจากเกาหลีใต้ด้วย

สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ 2019 พ.ท.บะซีลกล่าวว่า จะเป็นวงรอบของ “ไลต์เยียร์” แต่ขอยืนยันว่าทั้ง “ไลต์เยียร์” และ “เฮฟวี่เยียร์” ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ปีหน้า สหรัฐจะส่งกำลังพลเข้าร่วมพอๆ กับปีนี้ แต่อาจลดลงเล็กน้อย ซึ่งไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนประเทศจีนนั้นได้เข้าร่วมฝึก “คอบร้าโกลด์” มา 3-4 ปีแล้ว ภายใต้โปรแกรมการฝึกช่วยเหลือประชาชน โดยทหารช่างและแพทย์ทหาร ส่วนจะปรับเข้าร่วมการฝึกทางยุทธวิธีหรือไม่ พ.ท.บะซีลกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย

แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงไทยมองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นความสำคัญของไทยมากขึ้น เพราะในปี 2562 ไทยจะเป็นประธานอาเซียน

อีกทั้งยังมียุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ที่สหรัฐต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในส่วนของอาเซียน สหรัฐก็จะยกระดับไทยกับฟิลิปปินส์มากขึ้น สำหรับการเพิ่มอินเดียเข้ามานั้น ก็มองกันว่าเพื่อเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคนี้

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว นโยบายของไทยคืออยู่ตรงกลาง ไม่แนบชิดจีนและสหรัฐมากเกินไป เพื่อไม่ให้ถูกหวาดระแวงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายต่างๆ ของสหรัฐนั้น ต้องรอให้มี “เอกอัครราชทูตคนใหม่” มาประจำประเทศไทยก่อน

โดยล่าสุดมีกระแสข่าวถึงรายชื่อที่รัฐบาลสหรัฐเสนอไปยังสภาคองเกรส เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยมีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลสหรัฐได้เสนอชื่อ “ชาลับห์ กุมาร” นักธุรกิจชาวสหรัฐเชื้อสายอินเดีย วัย 69 ปี ที่ทำบริษัทเกี่ยวกับหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมต่างๆ (เอวีจี กรุ๊ป) ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ ในโควต้าผู้สนับสนุนทางการเมืองของทรัมป์

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก Shalabh Kumar

แต่ยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะมีอีกหลายขั้นตอนในการพิจารณาแต่งตั้ง

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ปี 2562 เป็นปีที่สำคัญ ทั้งเหตุการณ์ภายในไทยเองที่จะมีการเลือกตั้ง และระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่จะมีเอกอัครราชทูตคนใหม่ พร้อมแนวนโยบายของสหรัฐกับภูมิภาคนี้ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

ทุกปัจจัยล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง