วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / สู่ร่มกาสาวพัสตร์ เอวังพระคุณแม่มิได้มีด้วยประการฉะนี้-เท่านั้น

วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

 

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

เอวังพระคุณแม่มิได้มีด้วยประการฉะนี้-เท่านั้น

 

ลุงชิตช่วยเก็บสำรับ พระปานบอกโยมแม่ให้เตรียมรับฟังเทศน์ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยซึ่งโยมแม่ปฏิบัติเป็นประจำ จึงไม่ติดขัด “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ) สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)”

– พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์

จากนั้นลุงชิตกล่าวอาราธนาศีลนำ โยมแม่กล่าวตาม

มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเน นะสะหะ ปัญจะ ศีลานิยาจามะ

ทุติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเน นะสะหะ ปัญจะ ศีลานิยาจามะ

ตติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเน นะสะหะ ปัญจะ ศีลานิยาจามะ

– ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล 5 พร้อมกับสรณะ 3 – แม้ในวาระ 2 – แม้ในวาระ 3

 

เมื่ออาราธนาศีลห้าจบ พระปานพนมมือตั้งนะโม 3 จบ “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ให้โยมแม่ว่าตาม – ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง – พระปานให้ศีลห้าตั้งแต่ข้อแรก ถึงข้อห้า โยมแม่รับศีลตาม

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจจะงดเว้นจากการประทุษร้ายร่างกายและชีวิตของผู้อื่น

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจจะงดเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้

กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจจะงดเว้นจากการประทุษร้ายของรักของชอบใจของผู้อื่น (โดยนัยหมายถึงไม่ล่วงในกามผู้อื่น หรือผิดลูกผิดเมียใคร)

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจที่จะงดเว้นจากการประทุษร้ายผู้อื่นด้วยวาจา ไม่โกหก ไม่พูดจาเพ้อเจ้อ

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจที่จะงดเว้นจากการประทุษร้าย สติสัมปฤดี โดยการดื่มสุราและเสพของมึนเมาทุกชนิด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เมื่อว่าศีลห้า จบด้วย อิมมานิปัญจะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ แปลความว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจที่จะงดเว้น ให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้ง 5 ข้อ

ระหว่างมาถึงข้อที่ 5 พระปานยังนึกถึงคำเตือนของโยมแม่เรื่องการดื่มอย่าให้มากนักนะลูก ยิ่งเมื่อคืนพระปานดื่มมาหนัก แทบตื่นไม่ไหว แม่ส้มจีนจะมาคอยปลุก บางครั้งยังเตรียมน้ำหวานไว้ให้ดื่ม นัยว่าเพื่อคลายอาการเมาค้าง พระปานนึกยิ้มในทีที่ต้องมาให้ศีลข้อนี้ยังกับให้สัญญากับโยมแม่ขณะเป็นพระกระนั้น

 

อาราธนาศีล ให้ศีล รับศีลจบ ลุงชิตอาราธนาธรรมต่อ “พรหมา จะโลกาธิปติ สหัมปะติ กัตอัญชะลี อัญธิวะรัง อะยาจะถะ สันตีธะ สัตตาปปะระ ชักขะชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อนุกัมปิมัง ปะชัง”

หมายความว่า ท้าวสหัมบดีพรหมเป็นบรมในพรหมาทรงฤทธิ์ศักดากว่าบริษัททุกหมู่พรหมน้อมหัตถ์นมัสการประดิษฐาน ณ ที่สมควรแล้วจึงบังคมชุลีบาทพระสัมมาขอพรอันประเสริฐวาระเลิศมโหฬารปวงสัตว์ในโลกากิเลสน้อยก็ยังขอองค์พระจอมปราชญ์สู่ธรรมาสน์อันรูจี โปรดแสดงพระสัจธรรมเทศนาและวาทีเพื่อให้สำเร็จผลแด่ปวงชนบรรดามีสู่สุขเกษมศรีสมดั่งเจตนาเทอญ

พระปานตั้งนะโม 3 จบ เริ่มเทศนาด้วยคำบาลีเรื่องอานิสงส์บรรพชาอุปสมบท ว่า

 

กิจโฉ มนุสสะปะฏิลาโภ กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง กิจโฉ พุทธานัมปังปาโหติ

บัดนี้อาตมภาพจักแสดงพระธรรมเทศนาพรรณนาผลานิสงส์การบรรพชาอุปสมบทอนุโมทนาบรรพชากิจ

บรรพชาคือการบวชเป็นสามเณร อุปสมบทคือการบวชเป็นพระ เมื่อมุ่งถึงความหมายแห่งการบวช คือการออกจากความไม่สงบเข้าหาความสงบ เพราะฆราวาสมีเรื่องที่จะให้เกิดความไม่สงบนานาประการ เช่น บุตร-ภรรยา และผู้เกี่ยวข้อง การประกอบอาชีพ การชิงดีชิงเด่น อิจฉาริษยา

การบวชมุ่งออกจากความไม่สงบเข้าหาความสงบ มุ่งตัดภาระเครื่องกังวล ผู้ที่บวชเป็นพระ ถ้าบวชด้วยศรัทธาความเชื่อ และปฏิบัติกิจตามระเบียบวินัยแล้ว ย่อมได้รับความสงบอย่างแท้จริง ผู้บวชสามารถตัดภาระต่างๆ ได้ การบวชทำได้ยากเพราะต้องประกอบด้วยเป็นมนุษย์ผู้ชาย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นโรคที่รังเกียจของสังคม ได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดา ไม่มีหนี้สิน ไม่อยู่ระหว่างคดีที่ศาล…

พระปานว่าตามบทเทศน์ในคัมภีร์ใบลานที่นำมา แล้วจึงว่าถึงเรื่องของโยมส้มจีนที่คลอดพระปานเป็นผู้ชาย เป็นลูกชายคนโต ว่าถึงความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกมาแต่น้อยคุ้มใหญ่ กระทั่งได้บวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่โยมแม่นับถือมาตลอดชีวิต กระทั่งทุกวันนี้

ระหว่างพระปานเทศน์ โยมแม่พนมมือฟังสงบนิ่ง สีหน้าระบายยิ้มดูจะเต็มตื้นในบุญกุศลที่ได้รับจากการบวชลูกชายคนสุดท้าย ทั้งยังมีโอกาสได้ตักบาตร ถวายอาหารเพล และฟังธรรม ในใจยังคิดไปถึงว่า พระปานมาเทศน์จะลาสึกหรือเปล่า ขอให้อยู่ในผ้าเหลืองไปอีกเถิด ยิ่งได้อยู่ในพรรษาจะดีไม่น้อย

แม้จะฟังเทศน์ที่พระปานว่าถึงพระคุณของแม่ ว่าด้วยการมีโอกาสอยู่กับแม่บ้างไม่ได้อยู่บ้าง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่โยมส้มจีนยังรับรู้ถึงความตั้งใจของพระลูกชายที่หวังจะให้แม่ได้รับผลบุญการบวชที่มาเทศน์ให้ฟังครั้งนี้ จนเมื่อพระปานปรับเปลี่ยนเสียงจากธรรมดาเป็นสำเนียงเทศน์เมื่อใกล้จบว่า

อานิสงส์ที่โยมแม่ได้อุปสมบทลูกครั้งนี้มีมากเหลือพรรณนา จะหาคำใดมากล่าวได้ไม่หมด ดังที่มีผู้แต่งเป็นบทเพลงว่า พระคุณของแม่นั้นแม้เอาโลกมาทำปากกา เอาท้องฟ้าแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรเป็นหมึกวาด ประกาศพระคุณแม่ไม่พอ ดังเพลงค่าน้ำนมที่เปรียบเลือดในอกกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน…

พระปานรู้สึกเหมือนมีก้อนขึ้นมาจุกในลำคอ ก่อนจะกล้ำกลืนลงไปแล้วจบลงว่า “อานิสงส์ของที่โยมแม่ได้บวชลูกมีดังได้วิสัชนามา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

โยมแม่ก้มกราบ เงยหน้า นัยน์ตาคลอน้ำตาแห่งความปีติ

เช่นเดียวกับพระปานขยับเนื้อขยับตัวพยายามกลั้นน้ำตาที่เอ่อท้นไม่ให้ไหลออกมาบนใบหน้า ณ ขณะนั้นได้

…เอวังพระคุณแม่มิได้มีด้วยประการฉะนี้เท่านั้น