กรองกระแส/สถานะของ คสช. จากลักษณะ ‘รุก’ ต่อเนื่อง เริ่มมีพื้นที่ ‘ตั้งรับ’

กรองกระแส

 

สถานะของ คสช.

จากลักษณะ ‘รุก’ ต่อเนื่อง

เริ่มมีพื้นที่ ‘ตั้งรับ’

 

หากมองจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หากมองจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้ง ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ประสานเข้ากับประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.

ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 57/2560 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 13/2561

สะท้อนความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมในทางกฎ กติกาทางการเมือง

การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคโดยนายอุตตม สาวนายน การเข้าดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคโดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ การเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคโดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ การเข้าดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคโดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

คือความพร้อมอันเท่ากับเป็นการเปิดปฏิบัติการ “รุก” อย่างต่อเนื่องในทางการเมืองไปยังทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทย

วันที่ 29 กันยายน จึงเป็น “เส้นแบ่ง” อย่างมีนัยสำคัญยิ่งในทางการเมือง

ยืนยันความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะอาศัยพรรคพลังประชารัฐในการเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ต่ออายุ คสช.ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี

เป็นเช่นนั้นจริงละหรือ

 

บทบาทพลังประชารัฐ

หัวรถจักรของ คสช.

 

หากดูจากความพร้อมอันสำแดงผ่านพรรคพลังประชารัฐยืนยันอย่างเด่นชัดว่าพรรคพลังประชารัฐคือหัวใจสำคัญของการสืบทอดอำนาจ

เป็นการต่อยอดผลงานและความสำเร็จของ คสช.

หากนำเอาพรรคพลังประชารัฐประสานเข้ากับพรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรครอร่วมรัฐบาลอื่นๆ อันเคยเป็นพันธมิตรเห็นชอบตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การก่อรูป “แนวร่วม” ของ คสช. แนวร่วมของการต่ออำนาจในทางการเมือง อำนาจที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งการรัฐประหารก็มีความเด่นชัด

การประสาน 250 ส.ว. กับอีก 250 ส.ส.ย่อมมีความเป็นไปได้

นี่ย่อมสะท้อนลักษณะ “รุก” ในทางการเมืองอย่างเด่นชัด นี่ย่อมยืนยันรูปธรรมแห่งชัยชนะอย่างเด่นชัด

แต่ภายในความเด่นชัดนี้ก็มิใช่ว่าจะไม่เกิดปํญหาใหม่ๆ เข้ามากระทบ

 

ปัญหาความชอบธรรม

ปัญหาธรรมาภิบาล

 

ปัญหาแรกที่โถมซัดเข้ามายังพรรคพลังประชารัฐคือ ความเหมาะสมของ 4 รัฐมนตรีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค

เส้นแบ่งระหว่างตำแหน่งรัฐบาล กับตำแหน่งในพรรคเป็นอย่างไร

เป็นความเหลื่อมซ้อนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับหัวหน้าพรรค เป็นความเหลื่อมซ้อนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับรองหัวหน้าพรรค เป็นความเหลื่อมซ้อนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับเลขาธิการพรรค เป็นความเหลื่อมซ้อนระหว่างรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกับโฆษกพรรค

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องลาออก

แต่นับวันเสียงเรียกร้องในทาง “สังคม” ก็จะกลายเป็น “กระแส” กดดัน

ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นปัญหาของรัฐบาล จะกลายเป็นปัญหาของ คสช. และจะนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยไปยังมาตรการต่างๆ อันก่อความได้เปรียบให้กับพรรคพลังประชารัฐ และก่อความเสียเปรียบให้กับพรรคการเมืองอื่น

ที่เคยประเมินว่า คสช.และรัฐบาลและโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐดำรงอยู่อย่างเป็นฝ่ายรุกในทางการเมืองก็เกิดการแปรเปลี่ยน

เริ่มตกอยู่ในสภาพ “ตั้งรับ” ทางการเมืองเด่นชัดและขยายวงขึ้นเป็นลำดับ

 

สภาพรุก อย่างรับ

สภาพรับ อย่างรุก

 

จากบัดนี้เป็นต้นไป คสช.มิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองอย่างด้านเดียวเหมือนที่กระทำมาตลอด 4 ปีหลังรัฐประหาร ตรงกันข้าม สถานการณ์เริ่มแปรเปลี่ยนและฝ่ายอื่นโดยเฉพาะที่แสดงออกโดยพรรคการเมืองเริ่มดำรงอยู่อย่างเป็นฝ่ายรุกบ้าง

การรุกของ คสช.จึงเป็นการดำรงอยู่ในแบบรุกแต่ก็ต้องรับ

ขณะเดียวกัน การถูกรุกและดำรงอยู่ในแบบตั้งรับอย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหารเป็นต้นมาของฝ่ายพรรคการเมืองก็เริ่มแปรเข้าสู่สถานะแห่งการรุกบ้าง ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าใด สถานะรุกและรับ รับและรุกก็จะยิ่งมีความเด่นชัด

นั่นก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเพลี่ยงพล้ำของ คสช. นั่นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพลิกสถานการณ์จากรับมาเป็นฝ่ายรุกได้อย่างไร

ทุกอย่างล้วนดำเนินไปตามอนุศาสน์ของซุนวูที่ว่า “การศึกมิหน่ายเล่ห์” ครบถ้วนทุกประการ