เศรษฐกิจ/เปิดศึกชิง 2 แหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ ทอดยาวร่วม 2 ปี…สุดท้ายหน้าเดิม ปี ’62 รู้…ปตท.สผ.-เชฟรอน ฝ่าอาถรรพ์

เศรษฐกิจ

 

เปิดศึกชิง 2 แหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ

ทอดยาวร่วม 2 ปี…สุดท้ายหน้าเดิม

ปี ’62 รู้…ปตท.สผ.-เชฟรอน ฝ่าอาถรรพ์

 

ตั้งแต่รัฐบาลประกาศเข้าสู่กระบวนการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในทะเล จำนวน 2 แหล่ง คือ เอราวัณที่จะหมดสัญญาสัมปทานปี 2565 และบงกชที่จะหมดสัญญาสัมปทานปี 2566 ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เมื่อปี 2559

โดยมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศมากขึ้น ได้เพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560

ครั้งนั้นเนื้อหากฎหมายถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานเดิม คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดูแลแหล่งเอราวัณ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลแหล่งบงกช กระทั่งการเตรียมจัดประมูลรอบใหม่ต้องยืดเยื้อออกไปจากกำหนดเดิม

เพราะรัฐบาลโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพียรพยายามชี้แจงว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติและพยายามออกไปโรดโชว์ประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุน

แต่ตัวแปรสำคัญในการเข้าประมูลครั้งนี้คือ ความน่าสนใจของ 2 แหล่งก๊าซที่มีปริมาณจำกัด แต่จำเป็นต้องคัดเลือกเอกชนเข้าผลิตต่อหลังผู้รับสัมปทานเดิมหมดอายุเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ มี 5 บริษัทแสดงความสนใจ ได้แก่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ร่วมดาวน์โหลดเอกสารการประมูลผ่านเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อาทิ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียน วีเซลสคาฟท บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group

 

กระทั่งวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เอกชนที่ยื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน หรือโอเปอเรเตอร์ อย่างเป็นทางการ แบ่งเป็น แปลงเอราวัณ มีผู้สนใจ 2 รายคือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เครือ ปตท.สผ. ร่วมกับบริษัท เอ็มพีจี2 (ประเทศไทย) จำกัด เครือมูบาดาลา สัดส่วนลงทุน 60:40 และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24

ขณะที่แปลงบงกช มีผู้ยื่นเป็นโอเปอเรเตอร์จำนวน 2 รายคือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เครือ ปตท.สผ. สัดส่วน 100% และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24

เงื่อนไขประมูลมี 2 ประเด็นหลักที่รัฐให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ ประเด็นสัดส่วนการเปิดให้รัฐเข้าถือหุ้น 25% ซึ่งเป็นข้อสำคัญของระบบพีเอสซี และประเด็นข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า การเปิดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมทุนนั้น รัฐจะถือหุ้น 25% ของการลงทุนทั้งหมด โดยหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาร่วมถือหุ้นควรมีสภาพคล่องสูง ไม่อยู่ในสภาวะขาดทุน เนื่องจากจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ส่วนจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานหรือไม่อยู่ที่รัฐจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรณีที่บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ยื่นประมูลระบุว่าตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐและเสนอตัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ตามหลักการถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจริง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่

ทั้งนี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะได้ผู้ชนะของ 2 แหล่งก๊าซ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดือนธันวาคม จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะถึงคิวลงนามสัญญาการผลิต จบขั้นตอนการประมูลอย่างสมบูรณ์

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้คะแนนในข้อเสนอต่างๆ นั้น ได้กำหนดน้ำหนักในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประมูลที่สำคัญคือ ข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด น้ำหนัก 65%, เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐไม่ต่ำกว่า 50% ของปริมาณการผลิตกำหนด น้ำหนัก 25%, เสนอผลตอบแทนพิเศษให้รัฐ อาทิ โบนัสการผลิต น้ำหนัก 5% และข้อเสนอในการจ้างคนไทยเข้าทำงานปีแรกไม่ต่ำกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 5 ปี น้ำหนัก 5%

จากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด น้ำหนัก 65% เท่ากับว่าผู้ประมูลรายใดที่เสนอขายก๊าซต่ำสุด มีโอกาสชนะแน่นอน!!!

 

สาเหตุที่รัฐวางเงื่อนไขราคาก๊าซต่ำสุดตลอด 20 ปีของสัญญาประมูลระบบพีเอสซี ก็เพราะต้องการดูแลค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศตลอด 20 ปีจากนี้ เพราะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทยมาจากก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 60% และในปริมาณก๊าซธรรมชาติดังกล่าวส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ และบางส่วนนำเข้าจากประเทศเมียนมา

โดยเอราวัณและบงกชเป็นแหล่งผลิตหลักถึง 75% หรือคิดเป็นปริมาณการผลิต 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันของกำลังผลิตในอ่าวไทย ซึ่งปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติตลอดจน “ราคาที่ต้องถูก” จะสอดคล้องไปกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพีฉบับใหม่) ที่เตรียมคลอดในเร็วๆ นี้ ซึ่งนายศิริประกาศยืนยันว่า ตลอดแผนพีดีพี 20 ปี (2561-2580) ค่าไฟฟ้าจะไม่เกิน 3.60 บาทต่อหน่วย

ผลจากการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชนัดนี้ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังประเมินว่า การพัฒนา 2 แหล่งจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ช่วง 10 ปีแรก ก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากเอกชน 4 รายที่จับมือกันเข้าประมูล เป็นที่น่าสนใจว่า บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากฝรั่งเศส ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชปัจจุบัน และผ่านคุณสมบัติทุกขั้นตอนแล้วก็ขอถอนตัวในท้ายที่สุด

 

รายงานข่าวระบุว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่ ปตท.สผ.ยื่นประมูลแหล่งบงกชเพียงรายเดียว เพราะต้องการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว เนื่องจากมีความชำนาญ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทโททาล ซะทีเดียว เพราะตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ชนะประมูลสามารถเปิดรับผู้ร่วมทุนรายใหญ่หลังการลงทุนผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น ต้องติดตามความสัมพันธ์ของทั้งคู่อีกครั้ง

นอกจากนี้ ตลอดการเตรียมการยื่นประมูล ปตท.สผ.และเชฟรอนก็พยายามเจรจาเพื่อเข้าประมูลแหล่งเอราวัณร่วมกัน แต่สุดท้ายการเจรจาไม่ลงตัว จนต่างคนต่างจับมือกับพันธมิตรมาแข่งกันเอง

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมรับว่า แม้จะมีผู้ที่สนใจยื่นซองประมูลเข้ามาหลายราย แต่น้อยกว่าที่คาดการณ์ เพราะเดิมมีผู้สนใจทั้งไทย ยุโรป สหรัฐ จีน ตะวันออกกลางตามที่กรมเดินทางไปเชิญชวน

แต่เนื่องจากเงื่อนไขมีความเข้มข้น ศักยภาพปริมาณและความยากง่ายในการผลิตของไทยไม่จูงใจให้เอกชนเข้ายื่นซองประมูล ทำให้บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากฝรั่งเศส ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชปัจจุบันและผ่านคุณสมบัติให้ยื่นประมูลถอนตัวในช่วงท้าย

เวลานี้ ปตท.สผ.และเชฟรอน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของ 2 แหล่งจึงเลือกลงสนามชิงแหล่งก๊าซในฐานะโอเปอเรเตอร์ อย่างน้อยก็เพื่อรักษาแหล่งก๊าซเดิมของตัวเองให้ได้…