ต่างประเทศอินโดจีน : สาวเวียตนาม ผู้คว้ารางวัล “วาคลาฟ ฮาเวล” บทเพลงแด่ผู้ต่อต้าน

น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีการมอบ “รางวัล” ระดับโลกที่ใช้ชื่อว่า “รางวัลวาคลาฟ ฮาเวลเพื่อการแข็งขืนอย่างสร้างสรรค์” หรือ “Vaclav Havel Prize for Creative Dissent” อยู่ด้วย

นี่เป็นรางวัลที่ริเริ่มโดยธอร์ ฮัลวอร์สเซน ประธานมูลนิธิฮิวแมนไรท์ (เอชอาร์เอฟ) องค์กรไม่แสวงกำไรในนิวยอร์กเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มอบรางวัลเป็นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน

เป็นรางวัลสำหรับ “บุคคล” ที่ “ต่อต้านแข็งขืนอย่างสร้างสรรค์ แสดงความกล้าหาญและสร้างสรรค์ออกมาเพื่อท้าทายอยุติธรรมและดำรงชีวิตอยู่ในสัจจะ” ที่ตั้งชื่อตามรัฐบุรุษ, นักเขียนและนักต่อต้านชาวเช็กผู้ล่วงลับ

เมื่อ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการมอบรางวัลนี้ให้กับ 2 บุคคลกับอีก 1 กลุ่มบุคคล ระหว่างเวทีการประชุมเสรีภาพที่เอชอาร์เอฟจัดขึ้นที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เรียกว่า “ออสโล ฟรีดอม ฟอรัม”

1 ใน 3 ผู้ได้รับรางวัลคือ “โด เหวียน ไม คอย” นักร้องสาววัย 34 ปี ชาวเวียดนาม!

 

ไม คอย เล่นกีตาร์มาตั้งแต่ 8 ขวบ เรียนรู้จากพ่อที่เป็นครูดนตรี อายุ 12 เริ่มออกงาน เล่นดนตรีตามงานแต่งร่วมกับผู้เป็นบิดา ต่อมาเข้าเรียนดนตรีจริงๆ จังๆ ที่โรงเรียนดนตรีแห่งหนึ่งในโฮจิมินห์ซิตี้ ลาออกในอีก 3 ปีต่อมา ด้วยเหตุผลที่ว่า “ราบเรียบ” จน “น่าเบื่อ”

ใช้เวลาแสวงหาสีสันให้ตัวเองตามคลับตามบาร์ในโฮจิมินห์ซิตี้อยู่พักใหญ่ ก่อนกลายเป็น “ดาว” ของวงการเมื่อปี 2010 เมื่อสถานีโทรทัศน์ของรัฐเลือกอัลบั้มของเธอเป็น “อัลบั้มแห่งปี”

แต่แทนที่จะสนุกกับการเป็นดาราและหาเงินไปตามเพลง เธอกลับใช้มันเป็นเครื่องมือในการ “ตั้งคำถาม” ให้กับกลุ่มคนที่ถูกบีบ ถูกกดดันจนต้องจำกัดตัวเองอยู่ในซอกหลืบของสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

เริ่มต้นด้วยการทวงสิทธิ์ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่อด้วยการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

ซึ่งทั้งขัดใจและขัดต่อแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ไม คอย ไม่แยแส เดินหน้าทดสอบความท้าทายต่อความเชื่อของตนเองต่อไป ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐ โดยไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามหนุนหลังในปี 2016

แลกมาซึ่งความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น พูดได้เต็มปากเต็มคำมากขึ้นว่า การเลือกตั้งในเวียดนามนั้น “เฟค”

“แต่บางทีนั่นอาจกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเลือกตั้งกันมากขึ้น แทนที่จะไม่แคร์ ไม่เคยพูดถึงเลือกตั้งสักคำก่อนหน้านี้”

เธอถูก “ตัดสิทธิ์” เพราะ “ขาดคุณสมบัติ” ตั้งแต่ยังไม่มีการหย่อนบัตร แต่หลายคนบอกว่าสิ่งที่เธอทำ ทำให้ทั้งชาติถกกันเรื่องการเมืองมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แล้วก็เป็นเหตุผลที่ทำให้บารัค โอบามา เลือกเธอเป็นหนึ่ง “ฝ่ายค้าน” ที่ได้พบสนทนาในฐานะแขกส่วนตัวระหว่างการเยือนเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 2016

 

จุดแตกหักระหว่างรัฐกับไม คอย เกิดขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน 2017

ไม คอย ยืนถือป้าย “มิโซจินิสต์” เพื่อประท้วง “คนเหยียดสตรีเพศ” อยู่ข้างเส้นทางที่ขบวนรถยนต์ของทรัมป์ต้องผ่านในกรุงฮานอย

หลังจากนั้น ไม คอย กับ เบนจามิน สวอนตัน สามีชาวออสเตรเลีย เริ่มถูกรังควานมากขึ้นเรื่อยๆ คอนเสิร์ตถูกเจ้าหน้าที่บุก ถูกก่อกวนจนต้องย้ายบ้านหนีถึงสองครั้งสองหน

เดือนมีนาคมปีนี้ เธอถูกกักตัวอยู่ที่สนามบิน 8 ชั่วโมง หลังกลับจากทัวร์แสดงดนตรีในยุโรป ต้นฉบับอัลบั้มใหม่ถูกยึดไปหน้าตาเฉย

ถึงทุกวันนี้ เป็นไปไม่ได้ที่ไม คอย จะแสดงดนตรีในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยได้อีก กระนั้นเธอก็ยังจัด “คอนเสิร์ตลับ” ต่อไปในหลายสถานที่ หรือไม่ก็ไปแสดงออกอย่างเต็มที่ในต่างแดน

เนื้อหา ท่วงทำนองของเพลงแหลมคมยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งประท้วง ทั้งแข็งขืน ต่อต้าน

งานในอัลบั้มใหม่ของเธอ ว่าด้วยความรู้สึกของคนที่ต้องทำงานอยู่ภายใต้ระบบเซ็นเซอร์โดยเฉพาะ

เพราะเชื่อว่าคนเราจะรู้สึกเสรีได้อย่างไรตราบเท่าที่งานทุกชิ้นยังถูกเซ็นเซอร์อยู่ตลอดเวลา