จรัญ มะลูลีม : ฮัจญ์กษัตริย์ ตอนที่ 3 “กลับสู่เส้นทางระลึกถึงพระเจ้า”

จรัญ มะลูลีม

ราวหนึ่งชั่วโมงของการเดินทาง แขกผู้มาเยือนก็มาถึงนครมักกะฮ์

พวกเขาได้รับการต้อนรับด้วยน้ำซำซำ (Zam zam)

สำหรับบ่อน้ำซำซำนั้นเชื่อกันว่ามลาอิกะฮ์ (คือผู้ที่อัลลอฮ์สร้างขึ้น ถูกสร้างจากแสงว่าง ไม่มีเพศ ไม่รับประทานอาหาร ไม่หลับนอน ไม่ขัดขืนคำสั่งของอัลลอฮ์ มีจำนวนมาก ทำหน้าที่แตกต่างกันไป) ญิบรีล (Gabriel) เป็นผู้เปิดบ่อน้ำนี้ให้เพื่อช่วยชีวิตท่านหญิงฮาญัร (Hagar) และอิสมาอีล (Ishmael) บุตรน้อยของเธอ และอินทผลัม รวมทั้งเครื่องดื่มและของคบเคี้ยวหลากหลายชนิด

ในการต้อนรับแขกของกษัตริย์ทางการซาอุดีอาระเบียได้จัดเตรียมแพทย์และการบริการด้านสาธารณสุขเอาไว้อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในนครมักกะฮ์ไม่ว่าจะเดินทางไปตอวาฟ (การเดินเวียน) ยังกะอ์บะฮ์ (กะอ์บะฮ์เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า) ซึ่งมีหินดำตั้งอยู่ 7 รอบ ทั้งนี้ ศาสดามุฮัมมัดได้ทำให้กะอ์บะฮ์เป็นศูนย์กลางความศรัทธาของมุสลิม หรือไปประกอบพิธีการในที่ใดๆ ทางโรงแรมก็จะให้การบริการด้านการขนส่งตามเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้โดยตลอด

การทำฮัจญ์เป็นการเดินทางไปประกอบพิธี ณ นครมักกะฮ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ของปี โดยมีพิธีกรรมจำนวนหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติ

และสิ้นสุดด้วยการที่ชุมชนทั้งหมดเข้าร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลนั้น

 

การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการเตือนอย่างจริงจังให้นึกถึงอธิปไตยของพระผู้เป็นเจ้าและการยอมตนของมนุษย์ต่อพระองค์ ในเวลาหนึ่งของปีตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งตามจุดมุ่งหมายด้านศาสนาจะใช้ปฏิทินที่สั้นกว่าปีทางสุริยคติประมาณสิบเอ็ดวัน

เมื่อมาถึงนครมักกะฮ์ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะเข้าไปสู่สถานอันประเสริฐคือมัสญิดหะรอม (Haram) ณ ที่นั้นสถานที่ตั้งและอาคารต่างๆ จะเต็มไปด้วยการมารวมกันทางศาสนา

นักเดินทางผู้มีชื่อเสียง คือ อิบนุ บะตูเฎาะฮ์ (Ibn Battuta) ได้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างในความหมายของประสบการณ์แห่งการไปประกอบพิธีฮัจญ์ไว้ดังนี้

“ในบรรดาการกระทำอันน่าทึ่งของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้นเป็นดังนี้ นั้นคือพระองค์ทรงสร้างดวงใจของมนุษย์ขึ้นพร้อมด้วยความปรารถนาโดยสัญชาตญาณ เพื่อแสวงหาสถานที่อันบริสุทธิ์พึงเคารพเหล่านี้ และความใฝ่ฝันที่จะได้อยู่ ณ ที่ทางอันเรืองรองเหล่านั้นและทรงให้ความรักต่อสิ่งเหล่านั้นเหนือหัวใจของมนุษย์ ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มันสว่างไสวได้ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับครอบงำจิตใจทั้งหมดของพวกเขา หรือไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มันหยุดลงได้นอกจากความโศกเศร้าในยามที่ต้องแยกจากสิ่งเหล่านั้นมา”

ฮัจญ์คือการกระทำที่เป็นการเชื่อฟังต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าตามที่แสดงไว้ในพระมหาคัมภีร์กุรอาน เป็นหน้าที่ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องกระทำแด่พระผู้เป็นเจ้าในอันที่จะมายังบ้านของการประกอบพิธีฮัจญ์ หากเขาสามารถหาทางมาได้ นับเป็นการแสดงความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว

และยังเป็นการแสดงออกให้แลเห็นเอกภาพของอุมมะฮ์ (ประชาชาติมุสลิม) อีกด้วย

 

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จำนวนหลายพันหลายหมื่นคนจากโลกมุสลิมจะมาประกอบพิธีฮัจญ์ในเวลาเดียวกัน พวกเขาจะเดินไปรอบๆ กะอ์บะฮ์ด้วยกัน ไปยืนอยู่ที่ทุ่ง “อะรอฟะฮ์” ขว้างมารร้ายและอุทิศสัตว์ของพวกเขา ในการกระทำเช่นนั้นพวกเขาจะมีความเชื่อมโยงกับโลกอิสลามทั้งหมด

การจากไปและกลับของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์มีการแสดงเครื่องหมายโดยการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในบันทึกเหตุการณ์ของท้องถิ่น ในสมัยหลังๆ ซึ่งอย่างน้อยก็ได้แสดงไว้ตามกำแพงของบ้านต่างๆ

ในเวลาที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อุทิศสัตว์ของพวกเขาที่ทุ่งมินา (Mina) นั้น ครอบครัวชาวมุสลิมทุกครอบครัวก็จะฆ่าสัตว์เช่นเดียวกัน เป็นการทำให้เกิดเทศกาลอีกเทศกาลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของปี นั่นคือเทศกาลแห่งการพลีทาน (อิดิลอัฎฮา – “id al-adha)

ความรู้สึกว่าตนเป็นของชุมชนหนึ่งของผู้ศรัทธานั้น แสดงให้เห็นในตัวมันเองในความคิดที่ว่ามันเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมที่จะดูแลสติสำนึกของกันและกัน และเพื่อคุ้มครองชุมชนและขยายขอบเขตของมันออกไปในที่ที่จะเป็นไปได้

 

ฮัจญ์ตามตัวอักษรหมายถึงความพยายาม บางครั้งมีผู้แปลว่าการแสวงบุญซึ่งยังห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงมาก การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นข้อกำหนดหนึ่งในห้าข้อสำหรับชาวมุสลิม ซึ่งกำหนดให้ทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ว่าหญิงหรือชายจะต้องเดินทางไปยังนครมักกะฮ์ในประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา แต่ผู้ใดไม่มีปัจจัยทางวัตถุหรือมีความจำเป็นอย่างอื่น เช่น เจ็บ ป่วย หรือพิการก็ได้รับการยกเว้น การไปประกอบพิธีฮัจญ์นี้ก็เพื่อ “จะปฏิบัติด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ตัวเองกลมกลืนกับเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า”

ฮัจญ์คือกระบวนการที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจกลับคืนไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ตัวตนของเขาและความเห็นแก่ตัวทั้งหมดของเขาถูกฝังไว้ข้างนอก มนุษย์ถูกเตือนให้รำลึกถึงเป้าหมายสุดท้ายของชีวิต ณ ที่นี้ชื่อ เชื้อชาติและฐานะทางสังคมไม่อาจทำให้มีความแตกต่างระหว่างกันได้ในการรวมตัวกัน (ของมุสลิม) อันยิ่งใหญ่นี้ บรรยากาศแห่งเอกภาพที่แท้จริงได้แผ่คลุมไปทั่วเป็นการสำแดงแก่มนุษย์ถึงเอกภาพ (ความเป็นหนึ่งเดียว) ของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อชาวมุสลิมไปรวมกันในสถานที่ของการประกอบพิธีฮัจญ์นั้น พวกเขาได้ปลดเปลื้องเครื่องแต่งกายธรรมดาของเขาออกและนุ่มห่มด้วยผ้าสีขาวอันเปรียบเสมือนผ้ากะฝั่น (ผ้าห่อศพ)

 

ในวันที่พวกเขาไปรวมกันอยู่เบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้าในวันพิพากษาความดีความชั่ว พวกเขาต่างสลัดหน้ากากของความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ออก กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “มนุษย์ชาติ” เพียงหนึ่งเดียว อัตตาและรูปแบบทั้งหลายของปัจเจกบุคคลถูกฝังไปหมดสิ้น กลุ่มนั้นจะกลายเป็นกลุ่มมนุษยชาติหนึ่งหรือประชาชาติ (อุมมะฮฺ) หนึ่ง คำว่า “ฉัน” ได้ตายไปแล้วจะมีคำว่า “เรา” มาแทนที่

นครมักกะฮ์ ดูเหมือนกับอ่างใหญ่มหึมา ซึ่งล้อมไปด้วยภูเขาทุกๆ ด้าน ทุกๆ หุบเขา ทุกๆ ถนน และทุกๆ ตรอก มุ่งมาสู่ลานแห่งบ้านที่ยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งมีกะอ์บะฮ์อยู่ตรงกลาง ท่านจะเห็นฝูงชนที่อยู่ในสภาพเดียวกันพากันหลั่งไหลลงมาจากเนินเขาเพื่อมายังมัสญิดอัลหะรอม ดูเหมือนกับแม่น้ำสีขาว ท่ามกลางสิ่งทั้งหมดนี้ ท่านจะรู้สึกเหมือนกับเป็นน้ำหยดหนึ่ง

นั่นเป็นภาพที่งดงามของผู้ที่ศรัทธาโดยไม่จำกัดเผ่าพันธุ์ ภาษา หรือถิ่นกำเนิด ต่างก็มีความรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องไปที่นั่น ไปรวมกับผู้อื่นด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความเสมอภาคและภราดรภาพ พวกเขาตั้งกระโจมร่วมกันอยู่ในทะเลทรายและทำพิธีทางศาสนาร่วมกันตามวันเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้

พิธีฮัจญ์อันเป็นเสาหลักอันหนึ่งของอิสลามนั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพที่สุดสำหรับการผนึกกำลังและการเคลื่อนไหวของประชาชาติมุสลิม ฮัจญ์เป็นการฝึกให้ผู้เข้าร่วมได้กลายเป็นผู้ทำงานอย่างแข็งขันอยู่ในขบวนการอิสลาม พิธีการทุกอย่างของการทำฮัจญ์นั้นฝึกให้บุคคลลืมการรับใช้ตนเองหันมารับใช้ผู้อื่น

สำหรับปีนี้ (ฮ.ศ.1439/2018) จากจำนวนประชาชาติมุสลิมทั้งหมดราวหนึ่งพันหกร้อยล้านคนทั่วโลกมาร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งแขกของกษัตริย์สัลมานทั้งสิ้น 2,368,873 คน