อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Quid Pro Quo การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างศิลปะและวิถีชีวิตในตลาด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะนิทรรศการหนึ่งที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

Quid Pro Quo (ควิด โปร คโว) ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่าการแลกเปลี่ยนตอบแทนซึ่งกันและกัน

หรือในสำนวนภาษาไทยว่า “ยื่นหมูยื่นแมว” นั่นแหละ

นิทรรศการนี้เป็นพาวิลเลียนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ที่คัดสรรโดยกลุ่ม LIV_ID collective

โดยเป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เชื้อเชิญศิลปิน สำรวจความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและชุมชนในพื้นที่อันเปี่ยมเอกลักษณ์ในกรุงเทพฯ อย่างตลาดกลางคืน บางรัก บาซาร์

ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในตลาดเท่าที่จะหาได้ และนำพาศิลปะเข้าไปสอดแทรกในบทสนทนาอันเปี่ยมความเคลื่อนไหวของพ่อค้าแม่ขายในตลาดอันคึกคักจอแจ ด้วยผลงานศิลปะของศิลปินและกลุ่มคนทำงานศิลปะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมสำรวจพื้นที่และเผชิญหน้ากับงานศิลปะทั้งทางสายตา

และเข้าไปมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะเหล่านั้นด้วยตัวเอง

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานของศิลปินและกลุ่มคนทำงานศิลปะหญิงล้วน มากหน้าหลายตาอย่าง บิวตี้ (BYUTY), มิชต์ ดุลเซ (Mich Dulce), กรีซลี ลอว์เรนซ์ (Gracelee Lawrence), ชลิดา อัศวกาญจนกิจ, แป้ง จันทศร, มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ (Myrtille Tibayrenc), สรีนา สัตถาผล, กาญจนา ชลศิริ, ลอรี มาราเวีย (Laurie Maravilla) หรือ SPAZ, เลสลีย์ ซาว (Lesley Cao) และกลุ่มศิลปินอย่าง LIV_ID (รีเบคก้า วิคเกอร์ (Rebecca Vickers) บงกช จันทร์ศรี และ อลิสา เอคเกอร์ส (Elissa Ecker)), Grrrl Gang Manila และ Guerrilla Girls

ผลงานของ SPAZ

กิจกรรมในวันเปิดนิทรรศการยังมีการแสดงดนตรีสดจากวงดนตรีอย่าง The Male Gaze วงพังก์ร็อกเฟมินิสต์จากมะนิลา, Voice of Baceprot วงดนตรีเมทัลจากอินโดนีเซีย และวงร็อกจากไทยอย่าง Srisawaard

บงกช จันทร์ศรี หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม LIV_ID collective ผู้คัดสรรนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงที่มาของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศิลปะกับชุมชนในครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“นิทรรศการ Quid Pro Quo ก็เป็นเหมือนชื่อของมันที่แปลว่าการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยการทำงานในตลาดแห่งนี้ เราไม่ได้เปลี่ยนตัวตลาดแต่อย่างใด เราอยากให้เขาเป็นเหมือนที่เขาเป็นอย่างเดิม ที่เราทำก็แค่เอาศิลปะสอดแทรกเข้าไปให้อยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมเหล่านั้นเท่านั้นเอง”

“เรารู้สึกว่าที่นี่มีความเป็นไทยมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวเยอะมากๆ มันเป็นพื้นที่ที่น่ารัก คนที่นี่เขามีศิลปะของเขาอยู่แล้ว จนบางทีเราก็แยกไม่ค่อยออกว่าอะไรเป็นศิลปะ อะไรเป็นชีวิตจริงในตลาด ทุกอย่างถูกจัดวางในสไตล์ของเขาอย่างน่ารัก ซึ่งเราก็แค่เอาศิลปะเข้ามาเสริมให้มันไปด้วยกันได้”

“การมีปฏิสัมพันธ์และต่อรองกับคนในตลาด เป็นประเด็นสำคัญของงานนี้ ที่เราจะเข้าหาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดยังไง อย่างผลงาน Xpron ของรีเบคก้า วิคเกอร์ ที่ทำผ้ากันเปื้อนให้พนักงานร้านอาหารในตลาดใส่ โดยบนผ้ากันเปื้อน พิมพ์ข้อความถึงสิ่งที่พวกเขาและเธออยากได้รับและอยากให้คนอื่นมากที่สุดในชีวิต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนถึงสิ่งที่พวกเธอและเขาต้องการมากที่สุด”

ผลงานของรีเบคก้า วิคเกอร์ (LIV_ID)

“นอกจากนี้ ผลงานของรีเบคก้ายังรวมถึงการเชิญผู้คนที่มาในงานเปิดนิทรรศการ, ผู้คนในตลาด และผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในตลาดแห่งนี้มากินอาหารร่วมกันในวันเปิดงานอีกด้วย เราอยากทำอะไรเกี่ยวกับคนท้องถิ่นและคนในพื้นที่เหล่านี้ ว่าเราจะหาทางเข้าถึงเขาได้ยังไง”

ผลงานของศิลปินทั้งหมดถูกติดตั้งในพื้นที่ของตลาดบางรัก บาซาร์ อย่างแนบเนียนกลมกลืน ด้วยความที่ตัวตลาดเดิมเองก็มีการตกแต่งที่เปี่ยมสีสันคัลเลอร์ฟูลอยู่แล้ว

ก็เลยทำให้คนดูอย่างเราแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นงานศิลปะ อันไหนเป็นข้าวของที่ตกแต่งร้านค้าในตลาดที่มีอยู่แล้ว (ฮา)

และด้วยความที่มีงานศิลปะมากมายหลายชิ้น ในหลากสื่อหลายรูปแบบ ถ้าให้กล่าวถึงหมด เนื้อที่คงไม่พอ

เอาเป็นว่าเราจะขอกล่าวถึงชิ้นที่เราสนใจเป็นพิเศษพอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน

ผลงานแรก ด้วยเหตุที่เราใช้เวลายาวนานเดินทางฝ่าการจราจรอันแสนจะติดขัด เมื่อไปถึงตลาดบางรัก บาซาร์ ที่เป็นพื้นที่แสดงงาน ธรรมชาติจึงเรียกร้องให้เราต้องหาสุขาเข้าเป็นการด่วน

ผลงานของมิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์

แต่เมื่อเข้าไปในส้วมสาธารณะ (แบบจ่ายสตางค์) สิ่งที่เราพบเห็นเป็นอย่างแรกก็คือภาพวาดสีน้ำมันสไตล์อีโรติก ใส่กรอบแขวนเรียงรายบนผนังห้องน้ำ

แถมมีผู้หญิงและผู้ชายเดินเวียนวนดูภาพวาดในสุขาชาย-หญิงกันหน้าตาเฉย

ทำให้เราสงสัยว่านี่ไม่น่าจะใช่ส้วมธรรมดาแน่ๆ เราเลยหันไปสอบถามหญิงสาวที่ยืนเฝ้าส้วมอยู่ ก็ได้ความว่าห้องน้ำนี้คือพื้นที่แสดงงานศิลปะจริงๆ นั่นแหละ

โดยผลงานในส้วมนี้มีชื่อว่า Sic Transit และหญิงสาวคนที่ว่าก็คือศิลปินสาวชาวฝรั่งเศสเจ้าของผลงานอย่างมิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ นั่นเอง เธอกล่าวถึงผลงานชุดนี้ของเธอว่า

“ฉันได้รับเชิญจากกลุ่ม LIV_ID collective ให้มาแสดงในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ในพาวิลเลียนในพื้นที่ตลาดแห่งนี้ ตอนแรกฉันคิดจะเช่าซุ้มแสดงงาน แต่ที่นี่ไม่มีให้ เราเลยคิดว่าส้วมสาธารณะที่นี่น่าจะเหมาะกับการแสดงงานของฉัน เราก็เลยทำการติดต่อเจ้าของตลาด ซึ่งเธอก็ยินดีอย่างยิ่ง”

“เธอบอกว่าเป็นไอเดียน่าสนุกดี เราก็เลยแสดงงานภาพวาดของฉันในส้วมชาย-หญิง ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถเข้าไปดูงานในห้องส้วมต่างเพศได้ แค่ในวันเปิดนิทรรศการวันเดียว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอันที่จริงนิทรรศการนี้ก็เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงแค่วันเดียว หลังจากวันเปิดฉันก็จะถอดงานออกหมด หลังจากนั้นก็จะติดสติ๊กเกอร์ของงานแต่ละชิ้นลงไปบนผนังแทน ซึ่งใครจะฉกกลับบ้านไปก็ได้ตามใจชอบ”

“งานของฉันพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ หรือการที่เพศชายและเพศหญิงเผชิญหน้ากันในความสัมพันธ์ทางเพศ บางภาพฉันก็ได้แบบมาจากหนังอีโรติก บางภาพก็ได้แบบมาจากเว็บไซต์โป๊แบบมือสมัครเล่นที่คนถ่ายหนังโป๊กันในบ้าน, ถ่ายคู่รักตัวเอง บางภาพก็มาจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์เก่าๆ บางภาพก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่างภาพ Origin of the World (1866) ของกุสตาฟว์ กูร์แบ หรืออะไรที่อยู่ระหว่างงานจิตรกรรมและภาพถ่ายสมัยใหม่”

“ที่ฉันหยิบภาพเหล่านี้มาก็เพราะฉันมองเห็นความงดงามในสื่อ (ที่คนเรียกว่าสื่อลามก) เหล่านี้ ที่โดยปกติคนเข้าไปดูภาพในเว็บไซต์เหล่านี้ก็เพื่อช่วยตัวเอง แต่เมื่อฉันมองพวกมัน ฉันไม่ได้รู้สึกอยากช่วยตัวเอง ฉันมองเห็นความงามขององค์ประกอบ แสง สีสัน วิธีการแสดงออกทางร่างกายของพวกเขาช่างน่าทึ่ง ฉันสงสัยว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงตัดสินใจเปิดเผยร่างกายให้ทุกคนได้มองเห็น นั่นเป็นปริศนาข้อใหญ่สำหรับฉัน ฉันต้องการค้นหาคำตอบของปริศนาเหล่านี้”

จะว่าไป ผลงานชุดนี้ก็มอบประสบการณ์ให้กับผู้ชมไม่เพียงแค่ทางสายตาเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงเสียงและกลิ่นเข้าไปด้วย นับเป็นประสบการณ์การดูงานศิลปะที่ได้รสชาติแปลกใหม่จริงอะไรจริง!

ผลงานของ Grrrl Gang Manila

ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือผลงานของกลุ่มศิลปิน Grrrl Gang จากมะนิลา, ฟิลิปปินส์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ ด้วยการปักผ้าสี่เหลี่ยมขนาด 10 ตารางนิ้ว ที่แสดงถึงเรื่องราวส่วนตัวที่เต็มไปด้วยความเป็นการเมือง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง มาเย็บต่อกันเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ แขวนเป็นงานศิลปะจัดวางในตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานของกลุ่มศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางศิลปะและการเมืองที่โดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกอย่าง Guerrilla Girls ผู้มีเป้าหมายในการต่อสู้กับการเหยียดเพศและชาติพันธุ์และมุ่งสร้างความเท่าเทียมทางเพศและกำจัดความเหลื่อมล้ำในวงการศิลปะโลกด้วยปฏิบัติการทางศิลปะแบบกองโจร

โดยมีสัญลักษณ์อยู่ที่การสวมหน้ากากกอริลล่าเพื่อแสดงความไร้ตัวตนของสมาชิกและเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า “Guerrilla” (การรบแบบกองโจร) ซึ่งเป็นชื่อและลักษณะการทำงานของกลุ่ม

ผลงานของ Guerrilla Girls

ผลงานของ Guerrilla Girls ที่ส่งมาแสดงในตลาดบางรัก บาซาร์ มี 5 ชิ้น ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเด่นๆ ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของพวกเธออยู่แล้ว ในรูปแบบของโปสเตอร์ และป้ายไวนีลขนาดใหญ่

แต่ที่พิเศษก็คือ ในนิทรรศการนี้มีผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งของ Guerrilla Girls ที่ถูกทำออกมาในเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นครั้งแรก

ผลงานของ Guerrilla Girls ในเวอร์ชั่นภาษาไทยครั้งแรก

ส่วนสารที่เธอส่งถึงผู้ชมชาวไทยจะเป็นอะไรนั้น ก็คงต้องให้ไปชมกันเอาเอง

“Guerrilla Girls เนี่ย เป็นศิลปินกลุ่มแรกที่เราเชิญ โดยเราอีเมลไปบอกเล่าเกี่ยวกับเนื้อหาของนิทรรศการ และการที่เราอยากทำงานในตลาดซึ่งเป็นสถานที่เปิด ที่ใครก็ได้ ไม่ใช่แค่คนในแวดวงศิลปะจะเข้ามาดู ซึ่งเขาอาจจะดูไม่รู้เรื่อง และอาจจะผ่านไปโดยไม่เข้าใจอะไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งพวกเธอก็ตกลงมาร่วมแสดงกับเรา”

บงกชกล่าวทิ้งท้าย

ใครสนใจจะไปสัมผัสกับประสบการณ์ทางศิลปะอันแปลกใหม่ในนิทรรศการ Quid Pro Quo ก็ไปชมกันได้ที่ตลาดบางรัก บาซาร์ ติดห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน และท่าเรือด่วนเจ้าพระยาท่าสาทร ตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2018 นี้

อ้อ! ถ้าใครกลัวจะหางานศิลปะในตลาดไม่เจอ ก็ลองเข้าไปดูแผนที่ดูงานหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิลปินแต่ละคนได้ที่ https://www.lividcollective.com กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก LIV_ID collective