ธเนศวร์ เจริญเมือง : 2 แนวทางของการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ในการถกเถียงกันว่าอุดมศึกษาควรเน้นอย่างไหนเป็นจุดหนักระหว่างสายเทคโนโลยี-วิชาชีพ (Technological – Vocational Terrains) กับมนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (Liberal Arts Education) นั้น

เมื่อไปสำรวจมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาต่างๆ ในตะวันตก ผมยังเห็นว่า ความแตกต่างของทั้ง 2 แนวทางมีไม่มากนักแม้ว่าในทางเปิดเผยยังถกเถียงกันต่อไป

ก่อนอื่น เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า การศึกษาของตะวันตกนั้นเริ่มต้นที่ Liberal Arts Education – LAE

และเวลานี้ การศึกษาดังกล่าวไม่มีปรากฏเลยในสังคมอุดมศึกษาของประเทศเรา เพราะได้ถูกแบ่งแยกออกไปเป็นคณะต่างๆ หมดแล้ว

LAE โดยเฉพาะคำว่า Liberal Arts นั้น

ข้อแรก ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับจุดยืนทางการเมือง (เพียงเพราะมีคำว่า liberal) ว่าชื่นชมหรือเอียงไปทางระบอบการเมืองไหน อนุรักษนิยมหรือว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ไม่เกี่ยวกันจริงๆ กับคำนี้

ข้อสอง LAE เป็นการศึกษาความรู้ระดับพื้นฐานของอุดมศึกษาทั้งมวล นั่นคือสาขามนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์

(วิทยาศาสตร์มี 2 สาย คือสายธรรมชาติและสายสังคม)

 

1.มนุษยศาสตร์ (Humanities) คือความรู้เกี่ยวกับสภาวะต่างๆ ของมนุษย์ ได้แก่ ความคิด ความเชื่อ ปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา ประเพณี ภาษา วัฒนธรรม วรรณกรรม ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์

ก็เพราะมนุษย์ทำสิ่งต่างๆ หรือนึกคิดตามกรอบสังคมนั้นๆ หรือในสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินมาหลายชั่วคน เกิดจากความคุ้นชิน หรือความเชื่อ อารมณ์ หรือกฎเกณฑ์ในครอบครัวและชุมชน-สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ชาวตะวันตกจึงเรียกว่า Humanities คือความเป็นมนุษย์ – สภาวะต่างๆ ของมนุษย์

หลายอย่างไม่เกี่ยวกับเหตุและผล ไม่ต้องการการพิสูจน์ใดๆ ในเรื่องของเหตุและผล จึงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ (Science)

2. ส่วนวิทยาศาสตร์ (Science) เป็นการค้นหาเหตุ หาผล (Cause & Effects) เป็นการแสวงหาความสัมพันธ์ระหว่างของ 2 สิ่งว่า อะไรทำให้เกิดอะไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล (Causal Relationships) ศึกษาค้นคว้ากันจนกระทั่งพิสูจน์ได้ในทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา ว่าของ 2 สิ่งสัมพันธ์กันแบบไหน อะไรทำให้เกิดอะไร มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง และทั่วโลกก็ได้ข้อพิสูจน์เช่นนั้น กลายเป็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ระดับสากล

การพิสูจน์จากการศึกษาค้นคว้าทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า ที่สำคัญก็คือ ด้านสิ่งที่อยู่ห้อมล้อมมนุษย์นั่นเอง นั่นก็คือธรรมชาติในโลก เช่น เราค้นคว้าหาความรู้จากสิ่งของรอบตัว เช่น ความร้อนเกิดจากอะไรบ้าง น้ำเดือดเกิดจากอะไร อะไรทำให้เกิดแผ่นดินไหว สาเหตุของน้ำท่วม พายุ หิมะ ฝน ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ความสว่าง ความมืด ความหนาวเหน็บ สุริยุปราคา จันทรุปราคา คลื่นในทะเล ฯลฯ

นั่นคือองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เราแสวงหาความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติ (Natural sciences) จนเกิดสาขาวิชาต่างๆ คือ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา กลศาสตร์ เคมี ฯลฯ ไปสู่ธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ พฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ ที่เจาะลึกมากขึ้นๆ

จากนั้นจึงมีความพยายามที่จะศึกษามนุษย์และสังคมเช่นเดียวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เกิดการพัฒนาไปเป็นสาขาวิทยาศาสตร์สังคม (Social sciences) ทั้งนี้ เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ และความเป็นเหตุเป็นผล เกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ จนได้เกิดวิชาต่างๆ ดังที่เราหันไปเรียกว่าสังคมศาสตร์ ได้แก่ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ

 

ข้อสาม Liberal Arts เป็นคำที่มาจากภาษาดั้งเดิม คือความรู้สำคัญที่มนุษย์ควรมี ชาวกรีกในยุคโบราณเห็นว่า 1.การศึกษาเรียนรู้เป็นความจำเป็นของมนุษย์และสังคม 2.คำว่า “Liberal” รากศัพท์คือ Liber เป็นภาษาละติน ก็คือ เสรี หมายถึงเสรีภาพที่จะมีการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้น ไม่มีอะไรปิดกั้นการค้นหาความจริง ส่วนคำว่า Arts ก็เป็นคำภาษาละตินเช่นกัน คือคำว่า Ars แปลว่าความรู้

การมีเสรีภาพที่จะได้รับการศึกษาเหล่านี้ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ครอบครัวหนึ่งส่งผ่านให้กับลูกหลานของตนเอง เพราะในสมัยนั้นสังคมกรีกมีทาสรับใช้ เสรีภาพดังกล่าวและการศึกษาที่ว่าคือเป้าหมายของครอบครัวเสรีชนหรือนายทาสทั้งหลาย

และแน่นอน บรรดาทาสรับใช้ย่อมไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษานั้นได้

 

โดยสรุป LAE จึงมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.มนุษยศาสตร์ 2.วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และ 3.วิทยาศาสตร์สังคม ทั้งหมดนี้เป็นองค์รวมของการศึกษาแบบ LAE ที่เราอาจเรียกได้ว่า การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม

และเนื่องจากคำดังกล่าวค่อนข้างยาว ต่อไปนี้ ผมจะขอเรียกว่า LAE คือ การศึกษาเรื่องมนุษย์-สังคม และวิทยาศาสตร์ (เรียกย่อว่า ม.ส.ว.)

การศึกษา ม.ส.ว. ในโลกตะวันตกที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็อยู่บนรากฐานของชาวกรีกที่ได้เสนอข้างต้น “พลเมืองกรีกควรได้รับการศึกษาแบบที่กล่าวมา ซึ่งจะไม่ผูกติดกับวิชาชีพอันหนึ่งอันใด… การเรียนดังกล่าวสอนให้ผู้เรียนสำรวจและเข้าใจโลกหลากหลายมิติ เช่น เรียนรู้กลไกเศรษฐศาสตร์จุลภาค และเศรษฐศาสตร์มหภาค, แก่นของบทกวีและความเป็นเหตุเป็นผลของคำพูดนักการเมือง, ทฤษฎีปฏิกิริยาทางเคมี และปฏิกิริยาที่มีต่อของศิลปะ… ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างจิตใจของผู้เรียนให้เป็นแบบ nimble และสร้างนักคิดที่มีความเป็นอิสระ”

ตัวอย่างเช่น จากการสำรวจนายจ้างในสหรัฐ พ.ศ.2552 ขณะที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย สมาคมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในสหรัฐ (AAC&U) สำรวจนายจ้างจำนวน 302 คน ถามว่าอุดมศึกษาควรเน้นการเรียนการสอนที่จุดใด

 

ปรากฏว่า นายจ้างเกิน 70% ขึ้นไปเห็นว่าเรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก คือ การติดต่อสื่อสารทั้งการเขียนและการพูดที่มีประสิทธิภาพ; การคิดแบบวิพากษ์และความสามารถในการวิเคราะห์และแสดงเหตุผล; ความรู้และความชำนาญที่ประยุกต์เข้ากับภาวะของโลกที่เป็นจริง; การเชื่อมโยงทางเลือกหรือการลงมือทำกับจุดยืนด้านคุณธรรม; การทำงานเป็นทีมและความสามารถในการให้ความร่วมมือทำงาน และความสามารถในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ และมีความคิดริเริ่ม

จากนั้นจึงมีการสรุปว่าการศึกษาแบบ ม.ส.ว. ที่มีความรอบด้านจะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ, การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความคิดใหม่ๆ ได้ดี

 

ปรากฏว่าประเพณีการศึกษาแบบ ม.ส.ว.นั้น ขณะนี้ในตะวันตกยังคงเป็นแบบเดิมอย่างเหนียวแน่น คือมี College of Liberal Arts ซึ่งหมายถึง 3 สาขาวิชาหลักที่กล่าวไปแล้ว จากนั้นก็มีการซอยย่อยออกไปเป็นภาควิชาต่างๆ (เรียกว่า Department) คือ ภาษา, ปรัชญา-ศาสนา, เศรษฐศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, อเมริกันศึกษา, รัฐศาสตร์, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, คณิตศาสตร์, เคมี-ชีววิทยา มี Dean เป็นผู้บริหารคณะ ส่วนผู้บริหารสาขาวิชาเรียกว่า Chair

ข้อที่ 2 ภาควิชาเหล่านี้ทำงานอยู่ในตึกใหญ่ตึกเดียว หรือแบ่งออกเป็น 2-3 ตึกและอยู่ใกล้ชิดกัน ภายใต้ College เดียวกัน นักศึกษาทั้งหมดสังกัด College นี้ เหมือนกันตรงที่เรียนวิชาส่วนใหญ่ในคณะนี้ และต่างกันตรงที่มีวิชาเอก วิชาโทที่ต่างกัน นั่นคือจุดเน้นต่างกันในช่วงปีที่ 3-4

ประเด็นต่อมา ว่าด้วยแนวทางเทคโนโลยีและวิชาชีพ คำตอบก็คือ ความรู้ในด้านการประยุกต์ เป็นการพัฒนาด้านเทคนิค, เทคโนโลยีสมัยใหม่, และวิชาเฉพาะ ได้แก่ แพทย์, เภสัชกร, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักโบราณคดี, นักผังเมือง, พยาบาล, สัตวแพทย์, นักบิน, ทหาร, ตำรวจ ฯลฯ

ที่ผมเห็นว่าไม่ต่างกันมาก ก็เพราะ ข้อแรก ไม่ว่าคุณจะไปทำงานเป็นผู้ชำนาญด้านใดก็ตาม แต่ความรู้ 2-3 ปีแรกในระดับอุดมศึกษา ทุกคนจะต้องผ่าน ม.ส.ว.เหมือนกันทั้งสิ้น

ที่สำคัญมากคือ วิชาที่ต้องเน้นด้านเทคนิคมาก เกินกว่าวิชา ม.ส.ว.ทั่วไปนั้น ต้องเป็นการเรียนชั้นสูงขึ้นไปคือ ระดับปริญญาโทและเอก เช่น แพทยศาสตร์ การเป็นหมอที่เก่งย่อมต้องเข้าใจสภาพจิตใจ ครอบครัว ชุมชนของผู้ป่วย นอกเหนือไปจากกายภาพของผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า

ด้วยเหตุนี้ วิชาแพทย์จึงใช้เวลานานในการศึกษา นั่นคือ 6 ปี หลังจากที่จบปริญญาตรีแล้ว เท่ากับว่า คนที่จบแพทย์ คือจบปริญญาเอกด้านการแพทย์ (ปริญญาตรีวิชาเอกด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ + โทเอกด้านการแพทย์ 6 ปี) เช่นเดียวกับปริญญาเอกด้านอื่นๆ ที่จบปริญญาตรี และต่อปริญญาโท-เอกในเวลา 4-6 ปี

ขณะที่นักกฎหมายก็ย่อมต้องเข้าใจว่าสังคมแบบใด ยุคไหน และสภานิติบัญญัติเป็นแบบใดที่ได้ผ่านกฎหมายแต่ละฉบับออกมา รายละเอียดของแต่ละมาตราเป็นอย่างไร นักกฎหมายจึงต้องมีรากฐานด้าน ม.ส.ว.ที่แข็งแกร่งก่อน จึงจะเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอกด้านกฎหมาย

ไม่ใช่แบบสังคมไทยที่สอนปริญญาตรีด้านกฎหมาย และมีพื้นฐานด้าน ม.ส.ว.น้อยมาก

 

ในทำนองเดียวกัน เพราะสถาบันอุดมศึกษาของไทยไม่เห็นความสำคัญของ ม.ส.ว.ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม จึงแยกตั้งคณะต่างๆ ออกไปเป็นเอกเทศหมดตั้งแต่แรก แต่ละคณะไม่ขึ้นต่อกัน แยกกันทั้งความคิด ความรู้ และตึกทำงาน กลายเป็นการแข่งขันกันเพื่อให้คณะของตนเองมีขนาดใหญ่ รับนักศึกษามาก และมีงบประมาณมาก

ปัญหาสำคัญคือ แต่ละคณะพยายามทุกๆ ทางที่จะลดวิชาพื้นฐาน (ม.ส.ว.) ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้นักศึกษาของคณะตนเอง ได้เรียนวิชาคณะของตนเองให้มากที่สุด สามารถเปิดวิชาใหม่ๆ ให้มีลักษณะจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อจะได้มีเหตุผลในการลดจำนวนวิชา ม.ส.ว.

มองอย่างผิวเผินคือ ทำให้คณะของตนนั้นเสนอความรู้ที่ลึกซึ้งให้แก่นักศึกษาของคณะตน มองจากการศึกษาแบบ ม.ส.ว. ก็คือบัณฑิตที่ขาดการเรียน ม.ส.ว.เพียงพอ ก็ยิ่งไม่เข้าใจสังคมด้านต่างๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในระบบอุดมศึกษาไทยก็คือ การไม่วางรากฐานสร้างพลเมืองชั้นนำที่เข้มแข็งให้แก่สังคม เช่น

1. ในเมื่อภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นรากฐานของภาษาไทยและพุทธศาสนา เหตุใดนักศึกษามหาวิทยาลัยของไทยจึงไม่ได้เรียนสาระสำคัญของภาษาทั้ง 2 และประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เป็นวิชาบังคับ 1-2 วิชา

2. เหตุใดไม่บังคับเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย-ประวัติศาสตร์ภาค-ประวัติศาสตร์ชุมชน 1-2 วิชา

3. ในสภาพปัจจุบันที่รัฐไทยเป็นรัฐที่มีขนาดเล็ก โลกนับวันมีการติดต่อกันมากขึ้นๆ ต้องพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายด้านมาก และมีชาติที่พัฒนาไปมากมายทั้งตะวันตกและในเอเชีย เหตุใดเราจึงไม่บังคับให้นักศึกษาไทยต้องมีความรู้ความสามารถอย่างน้อย 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และ 1 ภาษาตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี หรือภาษาเพื่อนบ้าน

4. ในสภาพที่สังคมของเราเผชิญปัญหาหลายด้าน เช่น ป่าทรุดโทรม การจราจรติดขัดทุกๆ เมือง ผังเมืองประสบปัญหาทุกเมือง การเรียนภาษาอังกฤษล้มเหลว อาหารแทบทุกชนิดมีสารเคมีเจือปน ฯลฯ อุดมศึกษาจะสร้างวิชาอะไรที่สามารถให้นักศึกษาทุกๆ คนได้เรียนและสนใจกับสถานการณ์เช่นนี้

และ 5. ในอดีต สังคมไทยรีบเร่งผลิตแพทย์และนักกฎหมายตั้งแต่ปริญญาตรี (นั่นคือการเน้นสายเทคโนโลยีและวิชาชีพตั้งแต่ต้น) ส่งเสริมให้คนมีการศึกษาในสังคมของเรานับวันห่างไกลจากการเรียนวิชาพื้นฐาน (ม.ส.ว.) คณะต่างๆ พยายามสร้างจุดแข็งของตนเอง กลายเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน และแข่งขันกันไปสู่ความคับแคบในความรู้และมุมมองต่อสังคม

ในอดีต อาจมีความจำเป็นเพราะสังคมขาดหมอและอยากได้นักกฎหมายมาก แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เราก็ควรปรับระบบการศึกษาใหม่เพื่อให้คนที่จะเรียนแพทย์และกฎหมายต้องผ่านการเรียน ม.ส.ว.เสียก่อน

 

สรุป ผมคุยเรื่องการถกเถียงในสังคมตะวันตกว่าควรจะเน้นการศึกษาแบบ LAE (ม.ส.ว.) หรือมุ่งไปเน้นหนักด้านเทคโนโลยีและวิชาชีพ กลายเป็นว่าสังคมไทยต่างหากที่ไม่เคยถกเถียงเรื่องเหล่านี้ แต่ได้ผิดตลอดมาใน 2 เรื่องใหญ่มากๆ นั่นคือ 1.ไม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างบัณฑิตที่รอบรู้ในสาขาวิชาของสังคม นั่นคือ ม.ส.ว. และ 2.เร่งสร้างนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ นิติกร วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ ที่เก่งในวิชาชีพของตนมาก แต่ขาดความรู้ด้าน ม.ส.ว. ซึ่งในนั้นมีปรัชญา-คุณธรรมที่สำคัญมาก

พูดได้ไหมครับว่า ทุกวันนี้ที่เรามีนิติบริกร, รัฐศาสตร์บริการ, แพทย์ขาดจรรยาบรรณ, วิศวกร-สถาปนิกสร้างอาคารเจ้าปัญหา, ผังเมืองที่สับสน, อาคารเก่าแก่ไม่ได้รับการอนุรักษ์, กรมป่าไม้มีบุคลากรมากแต่ป่าไม้ลดลงๆ, งบฯ กระทรวงศึกษาฯ สูงเป็นอันดับ 1 แต่การศึกษาล้มเหลว, คนบางอาชีพไม่เคารพกฎหมาย ฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้วมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ก็ต้องกลับไปหาต้นตอ เราเรียนวิทยาศาสตร์สังคมกันแบบใด เรารู้จัก ม.ส.ว.แค่ไหน