หนุ่มเมืองจันท์ : PK

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนเจอ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์

เขาแนะนำหนังอินเดียเรื่องหนึ่งในเน็ตฟลิกซ์ ชื่อ “PK”

บอกสั้นๆ ว่า “ดีมาก”

ตอนแรกที่ได้ยินว่าเป็นหนังอินเดีย ผมก็ไม่สนใจแล้ว

ขี้เกียจดูการเต้นระบำ หรือวิ่งหนีรอบต้นไม้

แต่นึกได้ว่าหนังอินเดียยุคใหม่พัฒนาไปไกลมาก

และที่สำคัญ “พี่จิก” แนะนำ

กลับมาบ้าน ค้นข้อมูลหนังเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ต

โห…ไม่ธรรมดาเลย

“PK : ผู้ชายปาฏิหาริย์” ไม่ได้เป็นแค่ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ Bollywood หรืออินเดียเท่านั้น แต่นักวิจารณ์ทั่วโลกยังยกนิ้วให้ว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่โลกเคยมีมา

ประมาณนี้

PK ฉายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ทำรายได้เปิดตัวติดอันดับ “ท็อปเท็น” ของสหรัฐอเมริกา

3,200 ล้านบาท

แล้วแบบนี้ผมจะพลาดได้อย่างไร

…จัดไป

ดูจบ มุมมองต่อหนังอินเดียของผมเปลี่ยนไปเลยครับ

คุณภาพของหนังระดับฮอลลีวู้ด

แม้จะยังมีกลิ่นโรตีอยู่

มีเพลง

มีเต้นระบำ

มีฉากเต้นแบบเหนือจริงบ้าง

แต่ไม่ใช่แบบหนังอินเดียสมัยก่อน

ถ้านุ่มเนียนประมาณน้องๆ “ลาลาแลนด์” เลย

ถามว่า PK เป็นหนังประเภทไหน

ตอบยากเลยครับ

เขาเล่นกับเรื่อง “ความเชื่อ” ที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมอินเดีย

แต่เสียดสีในมุมขบขันผสมจริงจัง

มีโรแมนติกดราม่าน้ำตาไหลด้วย

ต้องชมคนเขียนบทและผู้กำกับฯ เลยครับ

…เก่งมาก

PK เป็นเรื่องของมนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลก เขามีรีโมตที่จะติดต่อกับยานห้อยคออยู่

แต่รีโมตถูกขโมยไป

PK กลับดาวของเขาไม่ได้

เขาพยายามตามหารีโมต แต่ถามใคร ทุกคนก็บอกว่ามีแต่ “พระเจ้า” เท่านั้นที่รู้

เพราะเมืองหลวงของอินเดียที่ประชากร 15 ล้านคน

PK ก็เลยตามหา “พระเจ้า”

ด้วยความเป็นมนุษย์ต่างดาวที่เหมือนกับเด็กน้อยที่ใสบริสุทธิ์

เป็น “ผ้าขาว” ที่ไม่ยึดติดกับ “ความเชื่อ” ใดๆ

ทุกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เขาไปตามหา “พระเจ้า”

PK จึงตั้งคำถามถึง “ความเชื่อ” และพิธีกรรมต่างๆ ด้วยคำถามง่ายๆ ที่หลายคนลืมถาม

ผมชอบตอนที่เขาไปล้วงเอาเงินจากตู้บริจาคที่ศาลเจ้าพ่อแห่งหนึ่ง

เขาถูกจับข้อหาขโมย

PK บอกว่าเขาไม่ได้ขโมย

แค่เขามาเอาเงินของเขาคืน

วันก่อน เขาหย่อนเงินแล้วบนขอให้เจอ “พระเจ้า”

แต่ไม่เจอ

หลักคิดของเขาก็คือ ถ้าไม่เจอก็ต้องคืนเงินสิ

เหมือนการซื้อของทั่วไป

หรือการตั้งคำถามเรื่อง “ถุงยางอนามัย”

เขาเจอกล่องถุงยางหล่นอยู่บนพื้น

PK ก็เอาไปคืนเจ้าของ

แต่ไม่มีใครยอมรับ

ปฏิเสธว่าไม่ใช่ของตัวเอง

เขาถามผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ว่า “ถุงยาง” คืออะไร

แล้วทำไมคนไม่ยอมรับ

ผอ.ตอบว่า เพราะเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องส่วนตัว

PK ก็ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ตอนที่คนแต่งงานทำไมทำพิธีใหญ่โตเชิญคนมามากมาย

เพื่อจะบอกว่าเราจะมีเซ็กซ์กัน

แต่พอมีเซ็กซ์กลับอาย ไม่กล้าบอกใคร

เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว

ตรรกะแบบนี้

… “มนุษย์ต่างดาว” งง

คําถามง่ายๆ ของ PK สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว

เป็น “ระเบิด” ลูกเล็กๆ ที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของ “ความเชื่อ” ต่างๆ ในสังคมอินเดีย

โดยเฉพาะเรื่องชนชั้นวรรณะ

ความเป็นมุสลิม ฮินดู ซิกข์ พุทธ หรือคริสต์

เขาบอกว่าตอนเกิดมาก็ไม่มีใครมี “ตรายาง” ประทับว่าคุณเป็นใคร

ทุกคนเหมือนกันหมด

แต่เพราะ “ความเชื่อ” ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน

และนี่คือเรื่องที่อันตรายที่สุดในโลกใบนี้

PK บอกว่า “ความหวัง” เป็นสิ่งที่งดงาม

แต่ไม่ใช่การหลอกให้คนมีความหวังลมๆ แล้งๆ

หลอกให้บูชาสิ่งต่างๆ

“พระเจ้า” มีอยู่ 2 องค์

องค์หนึ่งคือ องค์ที่สร้างมนุษย์มา

แต่อีกองค์หนึ่งคือ องค์ที่พวก “ร่างทรง” หรือคน “ค้าความเชื่อ” สร้างขึ้นมา

ผมชอบ “คำถาม” ของ PK

คนเขียนบทใช้ “มนุษย์ต่างดาว” เป็นตัวแทนของเครื่องหมายคำถามที่หายไปจากใจคน

ถามแบบซื่อๆ

ถามด้วยตรรกะง่ายๆ

ถามด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ด้วยคำถามแบบเดียวกันนี้เองถ้านำมาใช้ในเมืองไทยวันนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” หรือ “การเมือง”

ถามเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ในวัดหรือพวกเจ้าเข้าทรงทั้งหลาย

หรือถามในมุมการเมือง

ถามแบบไม่แบ่งเขา แบ่งเรา

ไม่คิดว่าเป็น “แดง” หรือ “เหลือง”

ถามแบบคนทุกคนมีสิทธิ์ในประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน

บางที “คำถาม” ก็ทำให้โลกเปลี่ยนได้

ตอนจบของหนังวกมาเรื่อง “ความรัก”

น่ารักและคมคายมาก

ไม่เล่านะครับ เผื่อว่าใครจะตามไปดู

แต่ชอบตอนที่ PK พาเพื่อนๆ มนุษย์ต่างดาวกลับมาที่โลกใบนี้อีกครั้ง

เขามีบัญญัติ 4 ประการให้ทุกคนท่องจำ

หนึ่งในนั้นคือ ระวังเรื่องการใช้ภาษาของมนุษย์

เพราะหัวข้อการวิจัยครั้งนี้คือเรื่อง “ช่องว่างระหว่างความคิดและคำพูดของมนุษย์”

PK สอนเพื่อนว่า ถ้ามนุษย์บอกว่าชอบ “ไก่” หรือ “ปลา”

ไม่ได้แปลว่ามนุษย์ชอบสัตว์ประเภทนั้นจริงๆ

แต่อาจหมายความว่าสัตว์พวกนั้น

คือเมนูมื้อกลางวันของเขา