ฮัจญ์กษัตริย์ ตอนที่ 2 “ภารกิจเพื่อประชาชาติอิสลาม”

จรัญ มะลูลีม

ในปี 2018 กษัตริย์สัลมานได้มีบัญชาให้ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพให้แก่สตรีและบุรุษ 1,300 คนจาก 60 ประเทศของทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรปและอเมริกาเหนือเพื่อเดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจากพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสองมัสญิดอันประเสริฐ ทั้งนี้ กระทรวงกิจการศาสนาจะเป็นผู้ดำเนินการ

โครงการดังกล่าวเป็นการรวมประชาชาติที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าด้วยกันและเป็นการสื่อสารกับชาวมุสลิมทั่วโลก

ทั้งนี้ พระองค์ต้องการให้แขกของพระองค์ที่เดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับความสะดวกสบายและราบรื่น

การดูแลและช่วยเหลือชาวมุสลิมที่มาจากตะวันตกและตะวันออก และการเป็นเจ้าภาพนี้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา

และต้องการวางซาอุดีอาระเบียเอาไว้ในท่ามกลางชาวมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลก

จุดมุ่งหมายสำคัญคือการให้การบริการต่อชาวมุสลิม การฟื้นฟูความเป็นปึกแผ่นของอิสลามและการรวมประชาชาติอิสลามเข้าด้วยกัน ด้วยการเน้นย้ำถึงสถานที่ของราชอาณาจักรว่าเป็นอู่แห่งคำสอนของความใจกว้างและการดูแลสองมัสญิดอันประเสริฐ

แม้ว่าโครงการที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าฮัจญ์กษัตริย์จะมีมาตั้งแต่ปีฮิจญ์เราะฮ์ 1417 (ปัจจุบัน ฮ.ศ.1439) หรือเมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา

แต่โครงการของกษัตริย์สัลมานได้เริ่มขึ้นใน ฮ.ศ.1436

ทางผู้จัดหวังว่าผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะเดินทางกลับบ้านของตนเองโดยไม่มีบาปติดตัวและมีร่างกายที่สมบูรณ์

ผู้จัดต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ในทุกแห่งที่มีพิธีกรรม ทั้งเมื่อไปค้างแรมที่อยู่ในเขตอะเราะฟาต (Arafat) มุซดะลีฟะฮ์ (Musdhalifa) และมินา (Mina)

 

เมื่อถึงวันที่ 8 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะเดินทางออกไปจากนครมักกะฮ์ไปทางทิศตะวันออก มุ่งสู่หุบเขาอะรอฟะฮ์ (“Arafa)

ที่นั่นพวกเขาจะค้างแรมเป็นเวลาหนึ่ง

นี่เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จำเป็นของพิธีฮัจญ์ ขากลับสู่นครมักกะฮ์ คือที่ทุ่งมินาจะมีการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์อีกสองอย่างคือ การขว้างหินไปที่เสาซึ่งเป็นเครื่องหมายของมารร้าย

นี่เป็นเครื่องหมายการสิ้นสุดระยะเวลาของการอุทิศตน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการสวมใส่

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะถอดผ้าอิห์รอม คือผ้าขาวจำนวนสองชิ้นที่ใช้ครองกายในช่วงของการประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติตามหลักการศาสนาในระหว่างกระทำพิธีออกและกลับไปสู่วิถีชีวิตธรรมดา

เป็นการเน้นย้ำว่าการให้การบริการชาวมุสลิมตามหลักการของอิสลามนั้นเป็นหนึ่งในข้อเลือกแรกๆ ของกษัตริย์สัลมาน เป็นการสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างชุมชนผู้นับถือศาสนาอิสลามในด้านหนึ่ง และกับผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มาทำอุมเราะฮ์และประกอบพิธีฮัจญ์หรือจาริกยังนครมักกะฮ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตในอีกด้านหนึ่ง

ชาวมุสลิมทุกๆ คนผู้มีความสามารถที่จะจาริกไปยังนครมักกะฮ์ควรจะทำเช่นนั้น เขาสามารถไปเยือนในเวลาใดๆ ของปีก็ได้ (เรียกว่า อุมเราะฮ์-“umra)

 

การไปประกอบพิธีฮัจญ์ในความหมายที่สมบูรณ์ก็คือการไปที่นั้นพร้อมกับชาวมุสลิมอื่นๆ ในเวลาพิเศษของปีคือในเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Dhu”l-Hijja) ผู้ที่ไม่เป็นอิสระหรือมีจิตใจไม่ปกติหรือมิได้เป็นเจ้าของทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นก็ไม่จำเป็นที่จะไป (ในแต่ละปีพระองค์ได้เป็นเจ้าภาพให้กับผู้มาทำอุมเราะฮ์ถึง 1,000 คน)

ในปี 2017 พระองค์ทรงเป็นเจ้าภาพให้กับครอบครัวของกองกำลังชาวอียิปต์ 1,000 คนและตำรวจที่พลีชีพให้มาประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งชาวปาเลสไตน์อีก 1,000 คนที่มาจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตไปในการต่อสู้เพื่อดำรงความยุติธรรมเอาไว้

เช่นเดียวกันในปี 2017 มีแขกของกษัตริย์ 1,400 คนเดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งผลที่ออกมาพบว่าได้รับความสำเร็จโดยเฉพาะในการให้การต้อนรับแขกของพระองค์ในทุกๆ ด้าน

และในโครงการนี้จะมีคณะทำงานในการต้อนรับถึง 14 คณะ

 

กรรมการบริหารทั้ง 14 คณะจะประกอบไปด้วย กรรมการบริหารด้านวิทยาศาสตร์และกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ด้านบริหารการบริการ ด้านกิจการต่างประเทศ ด้านการต้อนรับและการเดินทาง ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการคมนาคม ด้านการบริการบริเวณที่ตั้งของมัสญิดอันประเสริฐ ด้านวัฒนธรรมและการประชาสัมพันธ์ ด้านกิจการเทคนิค ด้านแอฟริกา กรรมการมะดีนะฮ์สำหรับโปแกรมทั่วไป กรรมการปาเลสไตน์ในนครมักกะฮ์และกรรมการปาเลสไตน์ในนครมะดีนะฮ์

สำหรับการต้อนรับแขกของกษัตริย์ในปีนี้ก็เช่นกันเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่ทำงานอย่างทุ่มเท ทั้งนี้ ผู้จัดจะต้องเตรียมงานและวิเคราะห์ถึงโครงการที่ผ่านมาในปีก่อนๆ ซึ่งเริ่มจากปี 2016 เป็นต้นไป รวมทั้งการเลือกสถานที่ให้แขกของกษัตริย์ทั้งในนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตทั่วโลก รวมทั้งรายชื่อของผู้ที่ไดรับเชิญและการประชุมวางแผนกับคณะกรรมการต่างๆ เพื่อความราบรื่นของการจัดการต้อนรับ

ในการทำให้โครงการนี้เป็นไปตามความประสงค์ของกษัตริย์ จำเป็นต้องมีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงฮัจญ์และอุมเราะฮ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรมและการประชาสัมพันธ์ และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ หน่วยงานการบินทั่วไป

การเตรียมตัวนี้ยังรวมทั้งการฝึกฝนในเรื่องการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้จัดให้ความสนใจตั้งแต่เรื่องการมาถึงของแขกที่ได้รับเชิญภายใต้การให้ความดูแลของกระทรวงกิจการศาสนาและการเชิญชวน การดำเนินการภายใต้รัฐมนตรี ชัยค์ ศอลิห์ บิน อับดุลอะซีส บิน มุฮัมมัด อัช-ชัยค์ (Sheik Saleh bin Abdulaziz bin Mohammad Al-Sheik) โปรแกรมการเยือนสถานที่ต่างๆ อย่างเป็นทางการ

รวมทั้งการเดินทางไปประกอบพิธีกรรมในพิธีฮัจญ์ (Hajj Trip) ในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

 

ในการเดินทางไปฮัจญ์กษัตริย์ครั้งนี้ เริ่มจากผู้เดินทางซึ่งเป็นแขกของกษัตริย์เดินทางมาถึงในวันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ.1439 ตามปฏิทินอิสลาม (ตรงกับวันที่ 13 สิงหาคม 2018) ยังนครมักกะฮ์ สำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่เป็นแขกของกษัติรย์ 10 คนจากประเทศไทย เดินทางมาจากประเทศไทยในวันที่ 12 เดือนสิงหาคม โดยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ โดยแวะลงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ผู้ถูกรับเชิญทั้ง 10 จากประเทศไทยจะทำตัวเองให้บริสุทธิ์โดยการอาบน้ำละหมาด สวมใส่เสื้อผ้าสีขาวซึ่งทำมาจากผ้าผืนเดียว (อิห์รอม- ihram)

หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปโดยสายการบินแห่งชาติซาอุดีอาระเบียเพื่อไปลงยังสนามบินคิง อับดุลอะซีสที่นครญิดดะฮ์ ก่อนจะเดินทางโดยรถบัสขนาดใหญ่ที่จัดเตรียมไว้มากกว่า 30 คัน ไปพักที่โรงแรมคาสาบลังกา ตะกามุล-มักกะฮ์ (Casablanca Takamul-Hotel) ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนริงโร้ด กูดัย นครมักกะฮ์