อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อุษาคเนย์ ปฐมบทเสถียรภาพการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / POOL / WU HONG

“…จีนไม่ใช่แค่เพื่อน แต่จีนเป็นพี่ใหญ่…”

ทีมงานโฆษก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูแตร์เต

ในช่วงนี้ภูมิภาคอุษาคเนย์อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค หลายคนอาจคิดถึงแต่ผลในเชิงบวก เช่น การเจรจาการค้า การบูรณาการทางเศรษฐกิจ

แต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มากนัก

ความขัดแย้งดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในภูมิภาคนี้

หากย้อนกลับไปดูคำแถลงของทีมงานโฆษก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ข้างต้น คำสรรเสริญสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็น พี่ใหญ่ (Big Brother) เป็นภาษาทางการทูตอันมีความหมายอย่างลึกซึ้ง

 

ตากาล็อก-ปักกิ่ง ในมิติใหม่

สื่อมวลชนหลายแขนงรายงานว่า การเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ครั้งแรกในเวลาเพียง 4 วันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังมีผลต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาคอุษาคเนย์อีกด้วย

หนังสือพิมพ์ Bloomberg รายงานว่า ทางรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตกลงให้ความช่วยเหลือเงินกู้ การลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางรถไฟ ท่าเรือ ข้อตกลงการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่แก่ฟิลิปปินส์ ทั้งหมดเป็นมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1)

รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นาย Ramon Lopez ให้รายละเอียดว่า ธนาคารแห่งประเทศจีน ให้ soft loan 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนั้นธนาคารแห่งประเทศจีนยังให้ credit line เป็นเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2)

รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย Carlos Dominguez และรัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนเศรษฐกิจ นาย Eenests Pernia เสนอว่า คณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์จะเคลื่อนการบูรณาการของภูมิภาค (Regional Integration) เพื่อให้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์รักษาความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกได้

 

เนรมิตเส้นทางรถไฟและท่าเรือใหม่

ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีดูแตร์เต ก่อให้เกิดความตกลงระหว่างภาคเอกชนฟิลิปปินส์กับรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน

กล่าวคือ กลุ่มบริษัท China”s Baiyin Nonferrous ตกลงพิจารณาการลงทุนมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐก่อสร้างโรงงานผลิตสแตนเลส โดยตกลงเป็นเบื้องต้นกับบริษัทเอกชนฟิลิปปินส์ Global Ferronickel Holding

บริษัท China Railway Engineering ลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding-MOU) มูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐกับบริษัท MVP Global Infrastructure Group China Harbour Engineering Co. ลงนามมูลค่า 780 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโครงการท่าเรือชายฝั่งเมืองดาโว (Davao city) บ้านเกิดของประธานาธิบดีดูแตร์เต

รัฐมนตรีการค้าสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ชี้แจงว่า ฟิลิปปินส์จะใช้เงินลงทุนมากที่สุดจากธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank-AIIB) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของฟิลิปปินส์ (3)

 

ปฐมบทของเสถียรภาพการเมืองในภูมิภาค

อาจจะมองได้ว่า นี่เป็นนิมิตใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะของอุษาคเนย์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทว่า นิมิตใหม่กำลังเปลี่ยนดุลยภาพภายในภูมิภาคนี้ด้วย

ฟิลิปปินส์เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกหลายชาติก่อนที่จะมาเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา

แม้ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชแล้ว สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ก็ยังได้รับมรดกของโลกตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์เป็นฐานทัพใหญ่ด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา

และชาติพันธมิตร ครั้งเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นทั้งฐานทัพและพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา เมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนามในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 สหรัฐอเมริกาใช้นโยบาย Vietnamization ถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามและดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นปกติ (Normalization) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการยกเลิกการปฏิบัติการในฐานทัพทุกแห่งในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

แต่ความสัมพันธ์ทางการเมือง การทูตและการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ก็ยังคงดำเนินต่อไปในหลายรูปแบบ

ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนทางทหาร โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งการฝึกผสม Cobra Gold ซึ่งมีขึ้นทุกปี

ในช่วงทศวรรษ 2000 ท่ามกลางการผงาดขึ้นมาของจีน รัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก่อตั้งสมาชิกองค์กร Non NATO alliance ซึ่งมีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และประเทศไทยเป็นสมาชิกในองค์กรความร่วมมือทางทหารนี้ด้วย

ในช่วงรัฐบาล บารัค โอบามา สมัยแรก อันเป็นช่วงที่ นางฮิลลารี คลินตัน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีนโยบายปักหมุดเอเชีย (Asia”s Pivot) คือนโยบายที่กลับเข้ามาในเอเชียอีกครั้งหนึ่ง

ในที่สุด การลงนามสนธิสัญญาทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลฟิลิปปินส์ก่อนหน้านั้นมีกรณีพิพาทกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเรื่องทะเลจีนใต้โดยตรง แล้วฟิลิปปินส์ก็ได้ยื่นเรื่องให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินในเรื่องนี้

โดยศาลถือว่าคำกล่าวอ้างด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ใช้อ้างไม่ได้ และยังอ้างเรื่องอธิปไตยต่อก้อนหินในทะเลจีนใต้ก็ไม่ได้ด้วย

สิ่งสำคัญคือ สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ยอมรับคำตัดสินของศาล

ที่สำคัญไม่แพ้กัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีดูแตร์เตกลับยอมเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ดังนั้น นอกจากเงินกู้ เครดิตไลน์ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟและท่าเรือที่เหมือนเป่าเสกขึ้นมา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อันออกมาในแนวทางที่ดูสดใสคือ ต่างฝ่ายต่างสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจ (confidence building measurement) เหนืออื่นใด สหรัฐอเมริกาได้สูญเสียนโยบายปักหมุดเอเชีย (4)

สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพการเมืองต่อภูมิภาคในลำดับต่อมา

เราควรติดตามว่า อะไรจะเป็นเหตุต่อเสถียรภาพการเมืองในอุษาคเนย์อีกบ้าง

(1) Andreo Colonzo and Cecillia Yap, “China visit helps Duterte reap funding deals worth $ 24 Billion” Bloomberg 21 October 2016.

(2) Ibid.,

(3) Ibid.,

(4) Eli Lake, “The Philippine just blew up Obama”s Asia Pivot” Bloomberg 21 October 2016