จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (8) : อิสลามในเวียดนาม

จรัญ มะลูลีม

โดยเบื้องต้นอิสลามในเวียดนามเป็นศาสนาของชาวจาม (Cham) อันเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความสัมพันธ์กับชาวมาเลย์ อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของชาวมุสลิมในเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

แต่ก็มีชุมชนอื่นๆ เช่นกันที่กล่าวถึงตัวของพวกเขาเองว่ามีชาติพันธุ์ผสม อย่างเช่น จาม ขแมร์ มาเลย์ มินัง (Minang) เวียต (Viet) จีนและอาหรับ ซึ่งปฏิบัติตามศาสนาอิสลามรู้จักกันในชื่อจามหรือจามมุสลิม รอบๆ ดินแดน Chau Doc ทางตะวันตกเฉียงใต้

ชุมชนชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งเวียดนาม พวกเขาตั้งรกรากอยู่ในสามภูมิภาคคือ ทางตอนกลางด้านตะวันตกในเมืองโฮจิมินห์ (Ho Chi-Minh) ทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ Tay Nin และที่ชายแดนของกัมพูชาคือ An Giang

อิสลามถูกนำเข้ามายังดินแดนจามปา (Champa) ปัจจุบันคือเวียดนามใต้ อันเป็นดินแดนของชาวฮินดู-พุทธโดยนักเดินเรือ ชาวอาหรับ-เปอร์เซียและพ่อค้าซึ่งเข้ามาถึงดินแดนแห่งการค้าพาณิชย์ของเอเชียในศตวรรษแรกของอิสลาม

เมื่อดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ล้อมรอบไปด้วยสายน้ำได้กลายมาเป็นแหล่งผลิตผลและวัตถุดิบที่ให้ผลกำไร การตั้งรกรากอย่างเป็นทางการก็ปรากฏตัวให้เห็น

อิสลามเข้ามาอย่างช้าๆ แต่ก็มีความมั่นคงก้าวหน้าในหมู่ชนชั้นนำชาวจามและชนชั้นผู้มีการศึกษา

ในช่วงสุดท้ายที่จามปาพ่ายแพ้ทางทหารและถูกดูดกลืนโดยเวียดนามในทศวรรษ 1940 เป็นต้นไปนั้น ชาวจามเป็นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศ

 

หลังจากสูญเสียเอกราชทางการเมืองและในระหว่างการต่อสู้ของราชวงศ์เวียดนาม ซึ่งชาวจามค่อนข้างจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอยู่นั้น ชาวจามจำนวนมากจึงหนีไปกัมพูชา ราชวังของชาวจามมีศูนย์กลางอยู่ที่ Phan Rang มาจนถึงปี 1693 หลังจากนั้นพวกเขาได้เคลื่อนย้ายมาที่กัมพูชาและอยู่ที่นี่มากว่าหนึ่งศตวรรษด้วยความสามารถที่ลดน้อยถอยลงเป็นอย่างมาก

ส่วนชาวจามที่อยู่เบื้องหลังก็ถูกโดดเดี่ยวโดยราชวงศ์ของเวียดนามที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง จากโลกแห่งความเป็นอิสลามมาเลย์ที่พวกเขามีศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกันไปจนถึงด้านภาษา

หลังจากเวียดนามกลายมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในระหว่างศตวรรษที่ 9 นโยบายการผสมกลมกลืนอย่างเป็นทางการก็ได้หยุดลงและถูกแทนที่ด้วยนโยบายที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชาวจามแต่ก็ไม่ได้สร้างความยากลำบากใดๆ ให้แก่ชาวจามเช่นกัน

ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ชาวจามพบว่าตัวของพวกเขาอยู่ในสองอาณานิคมคือ Cochin China ทางตอนใต้และอันนัมในตอนกลาง กรณีดังกล่าวซึ่งดำรงอยู่จนมาถึงปัจจุบันเป็นการหยุดยั้งความพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งเอกภาพทางชาติพันธุ์ของชาวจามไปในที่สุด

ทุกวันนี้ชาวจามในเวียดนามมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งจากประชากรเวียดนามที่คาดกันว่ามีอยู่ราว 70 ล้านคน พวกเขารวมตัวกันอยู่ในสามพื้นที่ได้แก่ ดินแดนที่เป็นเมืองหลวงของชาวจามมาก่อนคือ Phan Rang โฮจิมินห์ และจังหวัดทางตอนใต้ของ Tay Ninh และ Chau Doc

ต่อมาจังหวัด Chau Doc ได้เป็นเจ้าภาพให้มีการจัดตั้งสถาบันอิสลามศึกษาชั้นสูงขึ้น การเรียนการสอนนี้ได้รับการสนับสนุนโดยผู้อาวุโสและคนอื่นๆ ที่มีความรู้ทางด้านอิสลามศึกษามาตั้งแต่ต้น

 

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วชุมชนชาวจามยังคงถูกโดดเดี่ยวจากชาวเวียดนามอันเนื่องมาจากการถูกตั้งข้อสงสัยทางการเมือง ชาวจามส่วนใหญ่ยังคงได้รับการศึกษาน้อย เนื่องจากการเรียนหนังสือไม่ได้เป็นข้อบังคับและผู้ปกครองก็ต้องการให้ลูกหลานเป็นแรงงานอยู่ในท้องทุ่งและที่บ้านของตนเอง การเรียนด้วยการใช้ภาษาจามนั้นจะมีอยู่ในราว 3 ปีแรก หลังจากนั้นภาษาที่ใช้ในการสอนจะเป็นภาษาเวียดนาม

พวกจามจาหิต (Cham Jahit) ยังคงปฏิบัติตามพื้นฐานทางศาสนาที่มีมาก่อนอิสลาม พวกเขาจะแต่งกายด้วยชุดคลุมยาวสีขาว ก้มกราบสามครั้งแบบชาวพุทธในขณะที่หันไปในทิศทางของการละหมาด

เฉพาะอิมามและผู้ช่วยของอิมามเท่าที่นั้นที่ถือศีลอด (fasting) และละหมาดตามที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้

 

ในปัจจุบันทัศนคติของรัฐบาลเวียดนามที่มีต่อชาวจามมีการผ่อนคลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีของเวียดนามที่มีต่อประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย พวกเขาได้รับอนุญาตให้ขยายสุเหร่าและสร้างสุเหร่าได้ หลังจากต้องผ่านกระบวนการของทางราชการที่มีอยู่มากมายหลายขั้นตอน นอกจากนี้ ชาวมุสลิมยังสามารถหากองทุนในการก่อสร้างศาสนสถานได้ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศเช่นกัน

งานเขียนด้านอิสลามได้รับอนุญาต แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ตัวอย่างเช่น สมาชิกมูลนิธิของชาวจามมุสลิม (Cham Muslim Foundation) ได้ใช้เวลานับเป็นปีๆ เพื่อแปลความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน (al-Quan) เป็นภาษาเวียดนาม รวมทั้งหนังสือพื้นฐานเกี่ยวกับความเชื่อของศาสนาอิสลาม อัตชีวประวัติของศาสดามุฮัมมัด และเรื่องราวเกี่ยวกับสาวกของท่านศาสดา

เมื่อหนังสือปรากฏขึ้นในภาษาเวียดนาม หนังสือนั้นอาจจะถูกห้ามหรือไม่ถูกห้ามก็แล้วแต่กรณี หนังสือเหล่านี้อาจจะผ่านมาทางช่องทางทางการทูตของมาเลเซียหรืออินโดนีเซียก็ได้

นักศึกษาชาวจามสามารถออกมาจากประเทศเพื่อศึกษาอิสลามหรือศึกษาวิชาอื่นๆ ได้หากว่าเรียนจบจากชั้นมัธยมแล้วและมีคุณวุฒิทางการศึกษาและหากว่ามีเงินเพียงพอ ทั้งนี้ ชาวจามส่วนใหญ่หากมีโอกาสพวกเขาก็จะเลือกออกไปแสวงหาการศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากชุมชนของพวกเขายังมีสภาพยากจนและมีการศึกษาน้อย

อย่างน้อยรัฐบาลเวียดนามก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของตนไปศึกษาที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเพื่อเรียนภาษาอาหรับและศาสตร์ที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะได้มีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมอิสลามที่มีคน 1.6 พันล้านคนนับถืออยู่ได้ในระดับหนึ่ง