ศาสนาพุทธเริ่มต้นจากในครอบครัว

ในครอบครัวที่ว่านี้ คือครอบครัวของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นแหละค่ะ

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกไปแสวงหาคำตอบว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความทุกข์อันเนื่องจากแก่ เจ็บ และตาย

ตอนนั้นอายุ 29 พระโอรสคือพระราหุลเพิ่งประสูติ

ภาพตอนที่ตัดสินพระทัยออกบวชนั้น บีบหัวใจนะ ท่านเข้าไปชะโงกดูพระโอรสที่กำลังบรรทมในอ้อมกอดของพระมารดา คือพระนางยโสธรา

ทั้งแม่ทั้งลูกกำลังหลับ

หากท่านเข้าไปแล้วได้อุ้มพระกุมาร อาจจะไม่ได้ออกบวชเลยนะ

ข่าวการประสูติของพระโอรสน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้พระองค์ตัดสินพระทัยชัดเจนขึ้น ก็ท่านกำลังครุ่นคิดอยู่กับการหาทางออกจากความทุกข์อันเนื่องจากแก่ เจ็บ และตาย บัดนี้ พระโอรสประสูติ พระโอรสก็ต้องมาติดกับเหมือนกับพระองค์ ติดกับอยู่ในความทุกข์จากการแก่ เจ็บ และตายนี่แหละ

ข่าวการประสูติของพระโอรสผู้เป็นสุดที่รัก เพราะเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพระองค์โดยแท้ น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้พระองค์ตัดสินพระทัยออกไปแสวงหาคำตอบที่สำคัญนี้

 

คําถามที่พระองค์ถามนั้น สมัยใหม่ต้องเรียกว่า เป็นคำถามที่เป็น existentialist เลยนะ เพราะเป็นปัญหาในเรื่องการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ทีเดียว

หกปีผ่านไป เมื่อพระองค์บรรลุธรรม ค้นพบอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังไม่เสด็จกลับกบิลพัสดุ์ทันที แต่กลับใช้เวลาอีก 1 ปี ที่จะทบทวนหาวิธีที่จะถ่ายทอดคำสอนให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด

หลังจาก 7 ปีผ่านไป พระเจ้าสุทโธทนะส่งทหารมาอัญเชิญคราวแล้วคราวเล่า ทหารที่ส่งมาก็ออกบวชไปกับพระพุทธเจ้าหมด จนคณะสุดท้ายที่ส่งมาเป็นอุทายี คนเก่าคนแก่ พระเจ้าสุทโธทนะต้องให้อุทายีรับปากว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไร ต้องอัญเชิญเจ้าชายสิทธัตถะกลับมากบิลพัสดุ์ให้ได้

อุทายีเมื่อได้ฟังธรรมก็ออกบวชตามพระพุทธเจ้าด้วย แต่ยังไม่ลืมคำมั่นสัญญา ในที่สุดสามารถอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ

 

พระนันทะ เป็นพระอนุชาร่วมพระราชบิดา แต่พระมารดาคือพระนางมหาปชาบดี ผูกสมัครรักใคร่กำลังจะแต่งงานกับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี

พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงบาตร แล้วส่งบาตรให้น้องชาย คือพระนันทะให้ถือให้ แล้วก็ไม่รับบาตรกลับ พระนันทะเกรงใจพี่ชาย เดินตามต้อยๆ ไปจนถึงนิโครธาราม ซึ่งเป็นสวนของพวกศากยะ อยู่ชานเมืองกบิลพัสดุ์

พระองค์ประทับที่นั่น กับพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่ง

พระนันทะถือบาตรไปส่งพระเชษฐา คือพระพุทธเจ้าจนถึงนิโครธาราม ที่นั่นเองที่พระพุทธเจ้าจัดการให้น้องชายได้บวชเป็นพระภิกษุ

อ่านถึงตรงนี้แล้วก็นึกว่า เอ๊ะ พระนันทะไม่ได้อยากบวชนะ

ผูกปมความสงสัยไว้ก่อนนะคะ

 

คราวนี้ พระนางยโสธราทรงสอนให้พระโอรส คือ เจ้าชายราหุล องค์น้อย พระชันษา 7 ปี ให้ไปขอทายัชชะ คือความเป็นทายาท ในความหมายว่า สมบัติ โดยเฉพาะการสืบราชสมบัติสืบต่อจากปู่ คือพระเจ้าสุทโธทนะ

แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ความเป็นทายาท หรือสมบัติใดๆ ก็ไม่วิเศษเท่าอริยสมบัติ ก็เลยจูงพระกรของพระกุมารน้อยกลับไปนิโครธารามเหมือนกัน

คราวนี้ มอบให้พระสารีบุตร พระอัครสาวกผู้ทรงปัญญาเป็นอาจารย์ให้พระราหุล ให้การบรรพชาเป็นสามเณร

เดือดร้อนกันไปทั่วทั้งปู่ ทั้งย่า ทั้งแม่ พระเจ้าสุทโธทนะต้องเสด็จตามมาถึงนิโครธาราม ขอพระพุทธเจ้าว่า คราวหน้าคราวหลังจะบวชใครนั้น ขอให้ขออนุญาตพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน

เป็นที่มาของพระวินัยที่จะบวชเณรต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน

บวชพระอนุชาและพระโอรสแล้ว คราวนี้มาถึงบรรดาพระญาติที่เป็นลูกผู้น้อง คือ น้องลูกอา ตั้งแต่พระอานนท์ พระอนุรุทธ แม้เจ้าชายเทวทัตที่เป็นศากยะ และเป็นพี่เขย ออกบวชหมด

 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมากบิลพัสดุ์ครั้งที่สอง คราวนี้เนื่องจากพระราชบิดาประชวรหนัก พระราชบิดานั้นไม่ได้ออกผนวช แต่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนสวรรคต เป็นความงดงามที่พระพุทธเจ้าสวมบทบาททั้งเป็นพระโอรส และพระศาสดา

ตลอดเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะประชวร และพระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระองค์นั้น พระมารดาและพระแม่น้านาง คือพระนางมหาปชาบดีประทับอยู่ด้วย พระนางก็ได้บรรลุโสดาบัน คือขั้นแรกของอริยมรรค

พอถวายเพลิงพระศพของพระเจ้าสุทโธทนะแล้ว คราวนี้ พระนางมหาปชาบดีขอออกบวชเป็นภิกษุณี

ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ โดยอาจจะไม่แน่พระทัยว่าพระมารดาจะทนความยากลำบากของชีวิตนักบวชได้ แต่พระนางพร้อมนางสากิยานีจำนวนมาก ปลงผม ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ตามเสด็จด้วยพระบาทไปจนถึงเวสาลี เป็นการพิสูจน์ว่าพระนางสามารถใช้ชีวิตนักบวชได้จริง

พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณี

การออกบวชของภิกษุณีครั้งแรกนั้น ห้าปีหลังจากที่ภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว คราวนี้ มีทั้งภิกษุและภิกษุณี

พระแม่น้านางออกบวชพร้อมกับนางสากิยานีจำนวนมาก

ทีหลังจึงทราบว่า พระสวามีของนางเหล่านั้นก็ออกบวชไปก่อนหน้านั้นแล้วเช่นกัน

พระนางยโสธราทรงออกบวชปีถัดมา ปีที่ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนั้น พระพุทธองค์พระชนมายุ 40 เมื่อพระนางบวชปีถัดมา พระนางจึงมีอายุ 41 เนื่องจากทั้งสองพระองค์ประสูติพร้อมกัน

ตกลงพระญาติใกล้ชิดออกบวชหมด

 

มีศาสนาใดในโลกที่พระศาสดาทรงเริ่มต้นพระศาสนาจากสมาชิกที่เป็นบุคคลในครอบครัวทั้งสิ้น

เช่นนี้ จึงขึ้นหัวข้อเรื่องไว้ว่า พุทธศาสนาเริ่มต้นจากในครอบครัว

ประเด็นนี้ ยังไม่เคยมีใครพูดนะคะ เป็นความงดงามที่คำสอนของพระองค์โดนใจคนในครอบครัวถึงขนาดออกบวชตามกันหมดเลย

แต่ในที่สุด ศากยะวงศ์ก็เกือบล่มสลายเมื่อวิฑูฑภะ (ศักดิ์เป็นหลานตา) ยกทัพมาตีกบิลพัสดุ์ในช่วงปลายพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า

ศากยะที่รอดชีวิตทั้งหมด คือศากยะที่ออกบวชทั้งหมด

ตอนนี้ ถึงบางอ้อว่า พระพุทธองค์น่าจะทรงทอดพระเนตรเห็นการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ใครที่ไม่มีกรรม ก็ทรงช้อนขึ้นเสียก่อน โดยการให้บวชเสีย ดังเช่นกรณีของพระนันทะ พระอนุชา ที่ตั้งปมคำถามทิ้งไว้ในตอนแรก เป็นต้น

มีศากยะที่รอดตายออกไปถึงบามิยันก็มี อันนี้อ่านจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ว่าเมื่อท่านไปบามิยันในอัฟกานิสถานโน่น เจ้าชายที่ปกครองบามิยันเป็นเจ้าชายศากยะ

 

ส่วนศากยะที่เนปาล ไม่น่าจะเป็นศากยะโดยสายเลือด แต่เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่หนีออกมาจากอินเดียสมัยหลังในศตวรรษที่ 12 เมื่อมุสลิมเติร์กเข้าโจมตี เมื่อออกไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนั้น ไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ มีครอบครัวสืบสายกันต่อๆ ไป เป็นพระที่ถือว่าเป็นศากยบุตร ใช้สกุลศากยะให้รู้ว่าสืบสายมาจากอินเดีย ไม่ใช่ตระกูลศากยะโดยสายเลือดที่สืบทอดจากพระพุทธเจ้าค่ะ

ศาสนาพุทธเริ่มต้นจากครอบครัวศากยะเช่นนี้

ทางฝ่ายมหายาน เมื่อบวชเป็นพระ ก็เรียกว่าเป็นศากยะ ท่านจะใช้ Shih นำหน้าทุกรูป ทั้งในจีนและเวียดนาม ฉือตัวนี้คือ ศ เป็นอักษรย่อของศากยะ บวชแล้วเข้ามาสู่วงศ์ศากยะของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่มีความน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งตรงที่เริ่มจากคนในครอบครัวทั้งสิ้น