รายงานพิเศษ : คุยกับทูต นายไฆเม นัวลาร์ต เม็กซิโก ประตูสู่อเมริกาใต้ (1)

วันนี้เราได้ไปเยือนสถานทูตสหรัฐเม็กซิโก (Embassy of the United Mexican States) ประจำประเทศไทย ที่ตั้งอยู่บนชั้นที่ 20 ของไทยวาทาวเวอร์ บนถนนสาทรใต้ ซึ่งตกแต่งอย่างมีรสนิยมในกลิ่นอายความคลาสสิคของวัฒนธรรมประเทศบ้านเกิด

ทุกห้องมีหน้าต่างที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอกได้อย่างชัดเจนสวยงาม

พื้นที่ทั้งหมดครอบคลุมหน่วยงานหลักของสถานทูต ได้แก่ งานทางด้านการเมือง งานกงสุล การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 15 คน เป็นฝ่ายการทูตของเม็กซิโก 4 คนซึ่งรวมทั้งเอกอัครราชทูตด้วย

นอกนั้นคือเจ้าหน้าที่ไทยและส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาสเปน

 

เม็กซิโกเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณจากชนเผ่าต่างๆ ที่กระจายกันออกไปในพื้นที่ของประเทศในปัจจุบัน เช่น ชาวมายัน ชาวแอซเทค ชาวซาโปเตค

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า บริเวณที่ตั้งของเม็กซิโกในปัจจุบันนั้น มีการทำเกษตรกรรมมากว่า 7,000 ปีก่อนคริสตกาล ความเจริญทางวิชาการ ระบบการวางผังเมืองและสาธารณูปโภค

แสดงให้เห็นถึงการก่อร่างระบบสังคมที่มีความซับซ้อนและมีการจัดการที่ดี อาทิ การตั้งชุมชนของชนเผ่ามายา

จนกระทั่งถึงจักรวรรดิแอซเทค (Aztec Empire) ซึ่งแผ่อิทธิพลครอบครองบริเวณที่เป็นเม็กซิโกในปัจจุบัน อาณาจักรนี้มีพลเมืองประมาณ 15 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Tenochtitlan (The Impossible City) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกในปัจจุบัน

ความรุ่งเรืองทั้งทางด้านวิทยาการและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ทั้งทองคำ เงิน และแร่ธาตุจำนวนมากทำให้สเปนเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคมเมื่อปี ค.ศ.1521

จนกระทั่งชาวเม็กซิกันได้ปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากสเปนสำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1810

แต่การเมืองเม็กซิโกภายหลังการปฏิวัติค่อนข้างไม่มั่นคง เนื่องจากถูกปกครองในแนวทางเผด็จการ ประชาชนยากจนและขาดสวัสดิการ

จนกระทั่งมีการปฏิวัติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี ค.ศ.1917 ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาระบบการเมืองและสังคมเป็นผลต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเอนริเก เปญญา นิเอโต (Enrique Pe?a Nieto) ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2012

 

ไทยและเม็กซิโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1975

รัฐบาลไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ.1978 โดยมีเขตอาณาครอบคลุม 5 ประเทศ ในภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียน ได้แก่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว เบลิซ และคิวบา

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก คนปัจจุบันคือ นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2015

ส่วนรัฐบาลเม็กซิโก ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1989

โดยเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายไฆเม บีร์กิลิโอ นัวลาร์ต ซานเชซ (H.E. Mr. Jaime Virgillio Nualart Sanchez)

เข้ารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐเม็กซิโก ประจำราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

“แม้ผมจะไม่เคยมาประจำทำงานที่ประเทศไทยมาก่อน แต่ก็ได้มีโอกาสมาเยือนหลายต่อหลายครั้งในช่วง 33 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่นในยุคต้นปี 1980 จึงได้เริ่มมีโอกาสมาเยือนประเทศไทยในปี ค.ศ.1982 และนับแต่นั้นมา ผมจึงได้เดินทางมาเที่ยวประเทศที่สวยงามแห่งนี้เป็นประจำ เพราะชื่นชมในวัฒนธรรม ประเพณี และคนไทย” ทูตนัวลาร์ต กล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเม็กซิโก เริ่มต้นในศตวรรษที่ 16 โดยผ่านทางสเปนและประเทศอื่นๆ ที่ทำธุรกิจกับประเทศไทยในยุคนั้น

หรืออีกด้านหนึ่งคือในปี ค.ศ.1598 เมื่อครั้งเม็กซิโกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนและถูกขนานนามว่าเป็นอาณาจักรแห่งสเปนใหม่ (Kingdom of New Spain) นั้น เป็นยุคเดียวกับที่สเปนเริ่มต้นการล่าอาณานิคมในแถบเอเชีย

เริ่มจากการเอาชนะฟิลิปปินส์และส่งนาย Tello de Aguirre เป็นทูตพิเศษจากฟิลิปปินส์มายังประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และลงนามในข้อตกลงมิตรภาพและการค้าระหว่างไทยและสเปน (Agreement of Friendship and Trade between Thailand and Spain)

ประจักษ์พยานมีอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ.1851-1868) คือการค้นพบเหรียญเงินของเม็กซิโกในประเทศไทย

เพราะตั้งแต่เม็กซิโกเป็นประเทศผู้ผลิตเงินรายใหญ่ที่สุดในโลกและส่งออกจำนวนมากไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยทำการค้าด้วย

ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงมีการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

ในปี ค.ศ.1857 มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้การใช้เงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ใช้ได้ในประเทศไทย แต่เกิดปัญหาของความนิยม ต่อเมื่อเหรียญเงินเม็กซิกันประทับตราสถาบันพระมหากษัตริย์ มีมงกุฎครอบ จึงผ่านข้อกฎหมายเพื่อเป็นการอนุญาตให้ใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยต่อมา

นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารระหว่างไทยและเม็กซิโกในสมัยโบราณยังได้สะท้อนให้เห็นจากสินค้าทางเกษตรที่คิดกันว่ามีต้นกำเนิดในเม็กซิโกและเป็นปัจจัยสำคัญต่ออาหารไทยด้วย

ตัวอย่างเช่น พริก มะเขือเทศ มะละกอ อีกทั้งโปรตุเกสและสเปนยังได้นำสินค้าทางเกษตรของเม็กซิโกมาสู่หลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสำนักงานการค้าในเม็กซิโก และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในเมืองมอนเตอเร (Monterrey) และในปี ค.ศ.1983 รัฐบาลของเม็กซิโกได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในประเทศไทยโดยมี คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเม็กซิโกประจำประเทศไทยในปีเดียวกัน

ปัจจุบัน นายณพ ณรงค์เดช เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สหรัฐเม็กซิโกประจำกรุงเทพมหานคร โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมกรุงเทพมหานคร และเป็นอีกกลไกสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเม็กซิโกให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง เป็นไปด้วยความราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร เนื่องจากระยะทางห่างไกล ภาษาทางการคือสเปน และประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันมาแต่ดั้งเดิม

ไทยและเม็กซิโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลา 41 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1975 ซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลของเม็กซิโกได้ลงนามความตกลงทวิภาคีถึง 7 ฉบับ ได้แก่

ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภานักธุรกิจ เม็กซิกัน (Mexican Business Council) ปี ค.ศ.1990

ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศปี ค.ศ.1993

ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ปี ค.ศ.1999

ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภานักธุรกิจเม็กซิกันสำหรับการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและเทคโนโลยี (COMCE) ปี ค.ศ.2003

ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา ปี ค.ศ.2003

ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยแห่งโกลีมา (Colima) และบันทึกความเข้าใจ Political Consultations ปี ค.ศ.2011

“จุดสูงสุดในความสัมพันธ์ไทย-เม็กซิโก คือ การเสด็จเยือนประเทศเม็กซิโกของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (6-9 ตุลาคม ค.ศ.1996) และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เดือนเมษายน ค.ศ.1992) ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ”

 

ความสนใจของทั้งไทยและเม็กซิโก คือการให้ความร่วมมือกันในทางการเมืองและการค้าแบบทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์

มีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจตามที่ต้องการ รวมทั้งความร่วมมือของนักธุรกิจและวิสาหกิจรายย่อยที่ต้องการสำรวจตลาดการค้าใหม่

เพื่อเป็นการตอบสนองเรื่องดังกล่าว จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการทวิภาคีนักธุรกิจไทยและเม็กซิโก (Bilateral Committee of Businessmen M?xicoTailandia) และลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาธุรกิจเม็กซิกันฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.2005 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเลี้ยงรับรองและการแสดงดนตรีร่วมกันระหว่างนักกีตาร์คลาสสิคชาวเม็กซิกันกับนักดนตรีไทยจากกองทัพเรือ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

รวมทั้งได้จัดทำหนังสือที่ระลึก “สายสัมพันธ์ 30 ปี ไทย-เม็กซิโก” (Lazos de Amistad 30 A?os Tailandia Mexico) เกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นภาษาไทยและสเปนอยู่ในเล่มเดียวกัน

รัฐบาลไทยได้มอบรูปปั้นช้างไทยให้แก่เทศบาลกรุงเม็กซิโกในโครงการ Circuit of Nations ในโอกาสดังกล่าวเพื่อเป็นเพื่อเป็นที่ระลึกและเครื่องหมายแห่งความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและยาวนานถึง 30 ปี

โดยปัจจุบันรูปปั้นนี้ตั้งอยู่บนถนน Boulevard Puerto Aereo ซึ่งเป็นถนนสายหลักระหว่างสนามบินนานาชาติเม็กซิโกและใจกลางกรุง

ส่วนในปี ค.ศ.2015 เป็นวาระครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ มีการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกร่วมกัน และงานเฉลิมฉลองของทั้งสองฝ่าย

โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในเม็กซิโก ภายใต้ชื่อ El Encanto de Tailandia ณ กรุงเม็กซิโก เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม ค.ศ.2015

ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก