ลึกแต่ไม่ลับ : ขอให้ทุกคนได้ทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จรัญ พงษ์จีน
King Bhumibol Adulyadej and Queen Sirikit of Thailand attend the cremation ceremony of the victims during the first anniversary of October 1973 when students opposing the military junta 's security forces in Bangkok and when democracy was forged through violent clashes between ordinary people and troops from the military dictatorship. / AFP PHOTO / STR

“สํานักพระราชวัง” ประกาศเลื่อนการเปิดให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” จากเดิมในช่วงบ่ายวันที่ 28 ตุลาคม แต่เนื่องจากจะมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร ครบรอบ 15 วัน

เป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

จากสถิติที่สำนักพระราชวัง เปิดให้พสกนิกรเข้าถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามสมุดหลวงเพื่อแสดงความไว้อาลัย แด่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ในช่วงวันหยุดเมื่อสัปดาห์ก่อน

ปรากฏว่ามีประชาชนมานั่งต่อแถวก่อนเวลาเปิดให้เข้ายาวออกไปนอกพระบรมมหาราชวังที่ประตูวิเศษไชยศรี ถึงถนนหน้าพระธาตุ ไปทางหน้าวัดมหาธาตุฯ ก่อนไปวกกลับท้ายแถวอยู่ภายในสนามหลวงขึ้นไปทางทิศเหนือวกไปวกมา รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร รวมหลายแสนคน

จึงมีการเตรียมการกันแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยโดย “นายกฤษฎา บุญราช” ปลัดกระทรวง ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยอำนวยความสะดวกกับพี่น้องประชาชนจากต่างจังหวัด ที่จะเดินทางมาร่วมถวายบังคมพระบรมศพ

โดยการจัดทำแผนงานให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนคนจากจังหวัดต่างๆ วันละ 5 จังหวัด จังหวัดละ 600 คน รวมวันละ 3,000 คน เป็นเวลา 79 วัน

กำหนดวันละ 6 จังหวัด จังหวัดละ 600 คน รวม 84 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2560 รวมทั้งสิ้น 255,000 คน

ให้ทุกจังหวัดรวบรวมประชาชนที่มีความประสงค์จะเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ถวายบังคมพระบรมศพ เน้นกลุ่มประชาชนทั่วไปเป็นหลัก และมีข้าราชการ ผู้บริหาร พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามความเหมาะสม

“นายกฤษฎา” เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการคือ

1. แต่งตั้งคณะทำงานอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมอบหมายความรับผิดชอบให้หน่วยงานบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียง

2. ชี้แจงทำความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะอำเภอ นายอำเภอต้องให้ความสำคัญในภารกิจดังกล่าว

3. กำชับผู้ที่ได้รับมอบหมายถือปฏิบัติตามแผนงานอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องผู้ร่วมเดินทาง สถานที่ เวลานัดหมาย

4. กรณีมีองค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรเอกชนในพื้นที่ประสงค์จะนำบุคคล หรือสมาชิกในองค์กรเดินทางเข้าเฝ้าฯ ถวายบังคมพระบรมศพ ขอให้จังหวัดแนะนำเส้นทางการเดินทาง จุดจอดรถในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งจุดรับ-ส่ง รวมทั้งแนะนำการแต่งกายที่เหมาะสม และข้อปฏิบัติต่างๆ

 

ขณะที่การแต่งกายเพื่อเข้าถวายบังคมพระบรมศพ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มีอยู่ 2 ภาค คือ ภาคบังคับ และภาคคำแนะนำ

“ภาคบังคับ”
การเข้าไปจะไม่เหมือนกับการเข้าไปกราบที่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่เป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศโดยตรง ตรงนั้นเป็นพระที่นั่งที่เคยประดิษฐานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินมาหลายรัชกาลแล้ว เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์

จึงเรียกว่า “มหาปราสาท” ซึ่งเมืองไทยมีมหาปราสาทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ดังนั้น การแต่งกายภาคบังคับ คือผู้หญิงห้ามนุ่งกางเกง และที่ออกข่าวว่า ให้นุ่งกระโปรงนั้น ควรต่อคำว่า ผ้าถุงไปอีกสักนิด และอย่าใส่รองเท้าแตะ สีควรเป็นสีดำหรือขาว

“ภาคแนะนำ”
คือ ให้แบบสุภาพเข้าไว้ อย่างน้อยเสื้อต้องคลุมไหล่ ถ้าเป็นผู้ชาย เมื่อใส่เสื้อขาวก็ควรผูกเนกไทดำ

สำหรับ “ข้อควรระวัง” คือ ประชาชนต้องขึ้นทางด้านพระที่นั่งดุสิตฯ ด้านหน้า ซึ่งบันไดแคบมาก สวนไม่ได้ และเมื่อเข้าไปเริ่มต้น มองไปทางซ้ายมีพระราชอาสน์ มีผ้าคลุมไว้ นั่นคือ สมมุติว่าเป็นทื่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ท่านทรงคำนับทุกครั้ง เราก็ควรจะคำนับ หรือถอนสายบัว จากนั้นก็ไปถวายบังคมพระบรมศพ ด้วยการพับเพียบลงไป อย่าคุกเข่า และกราบ 1 ครั้ง ไม่แบมือ เสร็จแล้วหันไปทางซ้ายกราบพระแล้วลุกกลับ เจ้าหน้าที่จะคอยแนะนำอยู่

 

ส่วน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีการเผยแพร่คลิปประชาชนทำร้ายร่างกายผู้แสดงออกไม่เหมาะสม ว่า ขอให้ระมัดระวังเรื่องการทำร้ายซึ่งกันและกัน จะเจตนาหรือไม่เจตนาต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว ภาพออกไปต่างประเทศ จะทำให้เสียหายถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นเวลาความเสียใจทุกข์โศก ทุกคนก็เสียใจด้วยกันหมด

ข้อสำคัญคือ ทุกอย่างไม่ได้บีบบังคับ ไม่ว่ากฎหมายมาตราใดไม่มีบังคับให้คนเป็นแสนเป็นล้านมาแสดงออกถึงความจงรักภักดีแบบนี้ ฉะนั้น ต่างประเทศเข้าใจว่านี่คือความแตกต่าง ไม่ใช่กฎหมายที่มีเพื่อปกป้อง ป้องกันสถาบัน พระองค์ท่านไม่ลงมาเกี่ยวข้องในทางการเมืองและความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น

“ขอให้ทุกคนได้ทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นึกถึงคนอื่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ขอให้เชื่อมั่น ผมทำดีที่สุดแล้ว อยากให้บ้านเมืองไปได้ปลอดภัย คนไทยต้องแสดงความเข้มแข็ง อย่าให้ต่างชาติมองว่า ยังทะเลาะกันไม่เลิก หรือนำประเด็นความขัดแย้ง นำสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกันอีก”

“ก็ขอเถอะ ขอถวายท่าน และท่านพระราชทานอภัยโทษทุกที หลายคนออกมายังเป็นเหมือนเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว