พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนจบ : อำลาตำรวจตงฉิน

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

ขอเล่าที่มาของการสัมภาษณ์นี้อีกสักครั้งนี้

นั่นคือ ผมและกลุ่มวิจัยกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวทางการเมืองที่รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านต้องทรงเผชิญ เราเห็นว่า ตลอดเวลาที่พระองค์ท่านครองราชย์ มีปัญหาใหญ่อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก ถ้าไม่นับเรื่องตอนพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ ก็เป็นเรื่องภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ มี พคท.

เหตุการณ์ตั้งแต่ 2493 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงประมาณ 2519 แล้วก็ 2525 ที่มีผู้กลับมาจากป่า

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีภัยคุกคามจากรอบบ้าน ภัยความแตกแยกทางอุดมการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงมีบทบาทสูงในการช่วยให้รอดจากวิกฤตตรงนี้มาได้

แต่พอหลังจาก 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ยุคที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย เกิดมวลชนอีกแบบขึ้น คือมวลชนประชาธิปไตย

เริ่มมีพรรคการเมือง และได้กลายเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไป ยังคงเป็นเชื้อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ซึ่งเป็นปัญหาที่พระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญดูจะลำบากมากกับเรื่องนี้ เพราะมีตัวแปรจากภายนอกและภายในมาก พวกเราจึงต้องการศึกษาว่าพระองค์ท่านมีแนวทางอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นี่คือเรื่องซึ่งพวกเราขอสัมภาษณ์ท่านอาจารย์วสิษฐ

คราวที่แล้วจบลงตอนที่ท่านอาจารย์วสิษฐเล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับเรื่องลูกเสือชาวบ้าน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านมิได้เพิ่งทรงโปรดในช่วงตอนเดือนตุลาคม 2519

ท่านอาจารย์วสิษฐยืนยันว่า “พระองค์ท่านทรงโปรดมาก่อนแล้ว”

 

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ใช่ๆ ก็คงจะเข้าใจผิด เมื่อเขาอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันแบบนั้น แล้วกำลังมีอันตราย ก็เหมือนกับการที่พระองค์ท่านเสด็จไปเยี่ยมทหารตำรวจนั่นแหละครับ”

พวกเรา “แล้วกรณีที่นักศึกษาเขาเล่นละครที่แขวนคอ ที่จำลองเหตุการณ์ที่มีพนักงานการไฟฟ้า แล้วกลายเป็นรูปหน้าเจ้าฟ้าชาย ตอนนั้นอาจารย์คิดยังไง? ที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามเขา…”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมอยู่ในวัง รู้ว่าเหตุการณ์เกิด แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะว่ายังไง ก็ได้แต่ปลงอนิจจัง ไม่คิดว่ามันจะล่วงเลยมาถึงขนาดนั้น แขวนคอกัน”

พวกเรา “แขวนคอเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าจริงๆ แต่วันที่ 4 หรือ 5 ที่ไปเล่นละครทำม็อบแสดงละครที่ลานโพธิ์ แล้วหนังสือพิมพ์ดาวสยามเอาไปแต่งฟิล์ม มันก็เลยเกิดขึ้น เขาก็บอกในวังเชื่อว่านักศึกษามีเจตนาแบบนั้น”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ในวังคือใครล่ะ แต่ผมไม่ได้คิดน่ะครับ แต่ผมหมายถึงที่แขวนคอจริงๆ ที่ผมไม่คิดว่ามันจะล่วงเลยไปถึงขนาด ละครมันก็คือละคร”

 

พวกเรา “ทัศนคติของนักศึกษากับสถาบันนี่เป็นยังไง?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมก็คิดว่าในวังไม่ได้ยุ่ง ไม่ได้เกี่ยวอะไร มันไม่เหมือนตอน 14 ตุลา ตอน 6 ตุลา เหตุการณ์มันสะสมมาก”

พวกเรา “มันคล้ายกับว่าสถาบันถูกดึงลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับนักศึกษายังไงชอบกล?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “สถาบันถูกดึงอยู่เรื่อย ไม่ใช่เฉพาะปีไหน โดนอยู่เรื่อย พอมีอะไรขัดแย้งกันขึ้นมา ใครมีกำลัง คนนั้นก็จะดึงสถาบันลงไปได้ คนที่เหนื่อยมากคือพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านไม่ยอมให้ใครดึงอยู่แล้ว”

พวกเรา “แต่ 14 ตุลานี่พระองค์ท่านออกมาชัดเจน”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “พระองค์ท่านออกมาเพราะว่าเหตุการณ์มันล่วงเลยไปถึงขนาดนั้นแล้ว มาฆ่ากันอยู่หน้าวังแล้วไง คือพระองค์ท่านเสด็จออกมาก็เพราะเหตุนั้น”

 

หลังจากนั้น ท่านอาจารย์วสิษฐก็กล่าวหยอกล้อกับพวกเราว่า ที่ท่านมาให้สัมภาษณ์นี้ มีเบี้ยประชุมจ่ายให้ท่านหรือไม่ แล้วท่านกับพวกเราก็หัวเราะกันอย่างเป็นกันเอง

ท่านกรุณาให้พวกเราได้สัมภาษณ์มาเป็นเวลาหลายชั่วโมงเลย พวกเราเลยเสนอให้หยุดพัก เพื่อท่านจะได้พักเสียงและดื่มน้ำและรับประทานของว่างที่เราจัดเตรียมไว้ ซึ่งก็เตรียมให้ตัวพวกเราเองด้วย

เมื่อพวกเราบอกท่านว่าเราจะพักการสัมภาษณ์สักครู่ ท่านก็ถามว่า “ยังไม่จบอีกเหรอ?” พวกเราก็ตอบท่านไปว่า “อ๋อ เดี๋ยวพอเราเอาไปอ่านที่บันทึกที่จดคำสัมภาษณ์ไปแล้ว อาจจะมีประเด็นอะไรบางอย่างต้องรบกวนอาจารย์อีกครับ”

ซึ่งท่านก็เมตตาเราโดยตอบว่า ท่านยินดีที่จะมาคุยกับพวกเราอีก ซึ่งเราก็ตั้งใจว่า หลังจากที่นำบทสัมภาษณ์ของท่านไปศึกษาเรียบเรียง แล้วถ้ามีอะไรที่เรายังมีข้อสงสัย ก็จะไปกราบเรียนเชิญท่านมาอีก

แต่น่าเสียดาย เมื่อถึงวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่านก็จากพวกเราไปเสียแล้ว

 

พวกเรายังจำได้ตอนที่เราเดินออกมารับท่านตรงหน้าห้องทำงานของพวกเรา ณ บริเวณอาคารวรภักดิ์พิบูลย์ หรือตึก 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่านอาจารย์วสิษฐมีความผูกพันกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาก เพราะท่านก็เคยเรียนที่นี่ และเคยสอนที่นี่ ท่านเข้ามาเป็นนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นชาวสิงห์ดำในปี พ.ศ.2487 ซึ่งถ้านับเทียบกับท่านแล้ว ผู้เขียนซึ่งก็เป็นสิงห์ดำภาควิชาการปกครอง ผู้เขียนเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี พ.ศ.2520 ก็ถือว่าเป็นรุ่นน้องท่านหลายสิบรุ่น

อีกทั้งพวกเราที่ร่วมกันสัมภาษณ์ก็ล้วนเป็นผลผลิตของถ้ำสิงห์ด้วยกันทุกคน จึงทำให้บรรยากาศในการพูดคุยนั้น นอกจากจะคุยเรื่องที่ต้องคุยแล้ว ก็ยังได้คุยแลกเปลี่ยนตามประสาชาวสิงห์ดำด้วยกัน ถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรุ่นของแต่ละคน ผสมกับเหตุการณ์ของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย

หลังจากที่ท่านจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว อาจารย์วสิษฐได้ไปเข้าศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้น ท่านก็กลับมาสอนหนังสือที่คณะของเราในปี พ.ศ.2495

ท่านอาจารย์วสิษฐเป็นคนมีความรู้และมีความสามารถในหลายแขนงสาขา ทั้งในทางวิชาการและวรรณกรรม ที่สำคัญคือ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อตรงและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง การจากไปของท่านทำให้มีผู้กล่าวถึงไว้ว่า “ถือเป็นการสิ้นนายตำรวจตงฉิน” หลายคนพากันเสียใจท้อใจว่า คนดีๆ พากันจากไป แล้วสังคมไทยจะเป็นอย่างไร?

คำตอบคือ เมื่อเราเห็นสิ่งดีๆ ที่คนรุ่นก่อนเขาทำไว้ ก็ควรจะยึดถือเอามาเป็นแบบอย่าง พยายามดำเนินรอยตามเขาเหล่านั้น ทำเท่าที่ทำได้ ขณะเดียวกัน เมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป เราก็อาจจะต้องประยุกต์ดัดแปลงไปบ้าง ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าจะถูกเสมอไป

แต่ที่แน่ๆ คือ ความซื่อตรงของท่านอาจารย์วสิษฐเป็นคุณธรรมที่ถูกต้องทุกยุคทุกสมัย