จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 6 “ศึกผาแดง”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การล่มสลายของฮั่น (ต่อ)

ข้างฝ่ายหลิวเป้ยกับสมัครพรรคพวกนั้นได้หนีไปจนถึงเมืองเซี่ยโข่ว ปัจจุบันคือเมืองฮั่นโข่วในมณฑลหูเป่ย จากนั้นก็ส่งจูเก่อเลี่ยงไปเจรจากับซุนเฉีว์ยน ระหว่างนี้เฉาเชาได้ส่งสารมาถึงซุนเฉีว์ยนโดยขอให้ซุนเฉีว์ยนยอมจำนน

สารนี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันในหมู่เสนามาตย์ของซุนเฉีว์ยน ว่าควรยอมจำนนหรือไม่

ถึงตอนนี้จูเก่อเลี่ยงจึงได้กล่าวโน้มน้าวให้ซุนเฉีว์ยนอย่ายอมจำนน โดยมีขุนศึกคนสนิทของซุนเฉีว์ยนชื่อ โจวอี๋ว์ (ค.ศ.175-210) ให้การสนับสนุน เช่นนี้แล้วซุนเฉีว์ยนจึงตัดสินใจร่วมมือกับหลิวเป้ยเป็นทัพพันธมิตรทำศึกกับเฉาเชา

ศึกที่ซุนเฉีว์ยนและหลิวเป้ยทำกับเฉาเชานี้มีขึ้นที่เมืองซื่อปี้ ปัจจุบันคือเมืองผูฉีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำหยังจื่อในมณฑลหูเป่ย

เมื่อศึกเริ่มขึ้นก็ปรากฏว่า ทัพของเฉาเชาที่ไม่คุ้นชินกับดินฟ้าอากาศทางภาคใต้ต้องประสบกับโรคระบาด จนต้องถอยร่นไปตั้งอยู่ที่เมืองอูหลินที่อยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำหยังจื่อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหงหูในมณฑลหูเป่ย

เมื่อตั้งเผชิญหน้ากันคนละฝั่งแม่น้ำเช่นนี้ ศึกทางเรือก็เกิดขึ้น

 

เฉาเชาซึ่งไม่สันทัดการศึกทางเรือได้สั่งให้ทหารนำโซ่เหล็กมาผูกโยงเรือรบไว้เพื่อกันเรือโคลง ซึ่งจะทำให้เรือเคลื่อนตัวได้ช้า ทัพพันธมิตรจึงวางแผนใช้เรือบรรทุกกกแห้งและฟืนที่ราดน้ำมันแล้วคลุมด้วยผ้าใบ และมีเรือเล็กน้ำหนักเบาและว่องไวในการแล่นผูกติดไว้ที่หลังเรือใหญ่ แล้วให้ทหารจำนวนหนึ่งนำเรือขบวนนี้แล่นเข้าหากองเรือรบของเฉาเชา

เมื่อเรือลวงแล่นเข้าใกล้ในระยะที่เหมาะแล้ว ทหารที่อยู่ในเรือเล็กจึงจุดไฟเผาขบวนเรือใหญ่ที่นำหน้าจนไฟลุกโชนท่วมลำเรือ และเมื่อต้องแรงลมที่โหมพัดมา เรือไฟก็แล่นเข้าชนเรือของเฉาเชาอย่างเร็ว และด้วยเหตุที่เรือถูกผูกโยงเข้ากับโซ่จึงหนีไปไหนไม่ได้

เรือรบของเฉาเชาจึงถูกเผาจนมอดไหม้วอดวายแทบหมด ถึงตอนนี้ทัพพันธมิตรที่อยู่บนฝั่งก็ไม่รอช้า เร่งใช้ความได้เปรียบรุกเข้าตีทัพเฉาเชาทันที ทัพเฉาเชาตั้งรับไม่ทันจึงถูกตีแตกพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ศึกนี้ยังความเสียหายแก่ทัพเฉาเชาอย่างหนัก จนต้องกลับไปตั้งมั่นในดินแดนของตนในที่สุด

ส่วนการศึกนี้ก็ถูกเรียกกันต่อมาว่า ศึกผาแดง (ซื่อปี้จือจั้น)

ควรกล่าวด้วยว่า เรื่องราวของศึกผาแดงนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ ว่าแผนเผาเรือดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือแต่ง

ข้อถกเถียงไม่มีมติที่ชัดเจน ถึงแม้จะมีความโน้มเอียงไปในทางที่เชื่อว่าแผนดังกล่าวเป็นเรื่องจริงก็ตาม

ถึงกระนั้น ศึกผาแดงได้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายประการ

ประการแรก ความคิดที่จะฟื้นจักรวรรดิขึ้นมาใหม่ของเฉาเชาถูกพักเอาไว้ยาวนานอีกหลายปี

ประการที่สอง หลังศึกผาแดงไปแล้วฐานะของซุนเฉีว์ยนมีความมั่นคงขึ้นอย่างมาก

และประการที่สาม หลังศึกผาแดงหลิวเป้ยได้ฉวยโอกาสที่ตนกำลังได้เปรียบเข้ายึดเมืองอู่หลิง ฉังซา กุ้ยหยัง และหลิงหลิง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลหูหนันปัจจุบัน หลิวเป้ยซึ่งเป็นขุนนางต่ำศักดิ์มาแต่เดิมจึงเลื่อนฐานะมาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลขึ้นมา

 

การล่มสลายของฮั่นสมัยหลัง

หลังศึกผาแดงไปแล้วกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่โดดเด่นจึงมีสามกลุ่ม คือกลุ่มเฉาเชา กลุ่มหลิวเป้ย และกลุ่มซุนเฉีว์ยน แต่ก็มิได้หมายความว่ากลุ่มอำนาจอื่นๆ จะหมดพลังไปด้วย การปราบปรามกลุ่มอำนาจอื่นโดยผู้นำของทั้งสามกลุ่มจึงมีอยู่เป็นระยะ

แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับที่สามกลุ่มต้องต่อสู้กันเอง

เหตุดังนั้น ทั้งสามกลุ่มจึงมีภารกิจหลักอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งคือ ต่างพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตนให้มีความเข้มแข็ง อีกด้านหนึ่ง แต่ละกลุ่มในสามกลุ่มต่างพยายามขยายดินแดนของตนให้กว้างไกลออกไป ในด้านนี้หมายความทั้งสามกลุ่มต้องทำศึกกับกลุ่มอื่นๆ และทำศึกระหว่างกันเอง

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังศึกผาแดงตามที่กล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่า กลุ่มอำนาจทั้งสามกลุ่มจะเป็นศูนย์กลางของเรื่องราว เพราะนับแต่นั้นมาทั้งสามกลุ่มนี้ต่างก็ทำศึกและเข้ายึดครองพื้นที่สำคัญต่างๆ เอาไว้

โดยใน ค.ศ.209 ซุนเฉีว์ยนสามารถยึดครองพื้นที่ตอนใต้ของแม่น้ำหยังจื่อไว้ได้ แต่ก็มีเหตุขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเขากับหลิวเป้ย กล่าวคือ ในระหว่างที่เป็นพันธมิตรกับซุนเฉีว์ยนอยู่นั้น หลิวเป้ยได้ “ขอยืม” พื้นที่ด้านใต้ของจิงโจวจากซุนเฉีว์ยนเพื่อใช้เป็นที่มั่นชั่วคราว

แต่หลังจากที่หลิวเป้ยยึดอี้โจวได้ใน ค.ศ.214 แล้ว ซุนเฉีว์ยนก็ขอจิงโจวคืนกลับมา แต่หลิวเป้ยไม่ยอมคืนให้ ซุนเฉีว์ยนจึงไม่พอใจหลิวเป้ยเป็นที่ยิ่ง และทำให้ทั้งสองที่เป็นพันธมิตรกันต้องกลายเป็นศัตรูกัน

จากเหตุการณ์นี้ซุนเฉีว์ยนเคยยกทัพไปตีจิงโจวเพื่อแย่งคืนมา แต่ไม่สำเร็จเพราะขุนศึกของหลิวเป้ยชื่อ กวานอี่ว์ (มรณะ ค.ศ.220) ต้านทานไว้ได้ ต่อมาใน ค.ศ.219 ทัพซุนเฉีว์ยนได้บุกเข้าตีอีกครั้ง คราวนี้เขาไม่เพียงทำได้สำเร็จเท่านั้น หากยังฆ่ากวานอี่ว์ได้ในปี ค.ศ.220 ได้อีกด้วย

การยึดคืนดินแดนเดิมกลับมาได้ในครั้งนี้ทำให้ซุนเฉีว์ยนกลับมาครอบครองบริเวณแม่น้ำหยังจื่อได้อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ยังยึดครองทางใต้ของเจ้อเจียงและฝูเจี้ยนในปัจจุบันได้อีกด้วย

นับแต่นั้นมาพันธมิตรที่มีกับหลิวเป้ยก็มีอันสิ้นสุดลง

ข้างฝ่ายเฉาเชาหลังศึกผาแดงไปแล้วก็มุ่งรวบรวมดินแดนที่ราบภาคเหนือให้ได้มากที่สุด โดยเขาสามารถรวบรวมดินแดนแถบเทือกเขาเว่ย (เว่ยซัน) ได้ใน ค.ศ.210 หลังจากนั้นก็ยึดครองบริเวณโดยรอบฉังอันได้สำเร็จ

และพอตีทัพกบฏเต้าข้าวสารห้าถังได้ใน ค.ศ.215 เฉาเชาก็บีบฮั่นเสี้ยนตี้ให้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งรัฐเว่ย (เว่ยหวัง) ใน ค.ศ.217 เช่นเดียวกับหลิวเป้ยที่ใน ค.ศ.215 สามารถรบชนะทัพของเฉาเชาจนยึดฮั่นจงเอามาได้ เขาก็ประกาศตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งฮั่นจงขึ้นมาบ้าง (1)

 

จากการขยายอิทธิพลของทั้งสามกลุ่มดังกล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดก็คือกลุ่มเฉาเชา

อย่างไรก็ตาม หลังจากเฉาเชาเป็นกษัตริย์เว่ยได้ไม่กี่ปีก็เสียชีวิตในปี ค.ศ.220 ผู้ที่ก้าวขึ้นมาสืบอำนาจต่อคือบุตรคนที่สองของเขาชื่อ เฉาพี (ปกครอง ค.ศ.220-226) พลันที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจเฉาพีก็บีบฮั่นเสี้ยนตี้ให้สละราชสมบัติ จากนั้นก็อ้างอาณัติสวรรค์ตั้งตนเป็นจักรพรรดิแห่งรัฐเว่ย

ส่วนหลิวเป้ยเมื่อเห็นเช่นนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิบ้าง โดยอ้างว่าตนเป็นเชื้อพระวงศ์สกุลหลิวของราชวงศ์ฮั่น และในเมื่อฮั่นเสี้ยนตี้ทรงสละราชสมบัติแล้วก็เท่ากับไม่มีจักรพรรดิในสกุลหลิว การตั้งตนเป็นจักรพรรดิของตนจึงมีความชอบธรรม ซึ่งเท่ากับประกาศถึงดำรงอยู่ของราชวงศ์ฮั่นโดยมีตนเป็นผู้สืบทอด

ข้างซุนเฉีว์ยนเห็นว่าการตั้งตนเป็นจักรพรรดิของเฉาพีมีผลในทางนิตินัยเท่านั้น ไม่มีผลในทางพฤตินัย จากนั้นก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งรัฐอู๋

การตั้งตนเป็นใหญ่ของทั้งสามกลุ่มนี้ทำให้การเมืองจีนเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกมิติหนึ่ง

 

จากเหตุดังกล่าวจึงทำให้ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายอย่างแท้จริง จากนั้นใครคิดจะตั้งตนเป็นจักรพรรดิหรือกษัตริย์อย่างไรย่อมทำได้ ชั่วอยู่แต่ว่าไม่มีผลใดๆ ที่จะชี้ว่าบุคคลนั้นมีอำนาจที่เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว จนกว่าบุคคลนั้นจะปราบคู่แข่งของตนได้สำเร็จ แล้วรวมบ้านเมืองจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกันเท่านั้น การตั้งตนของบุคคลนั้นจึงมีผลอย่างสมบูรณ์

ดังนั้น การตั้งตนเป็นใหญ่ของเฉาพี หลิวเป้ย และซุนเฉีว์ยนจึงเป็นการตั้งในเชิงอุปโลกย์ และด้วยเหตุที่ทั้งสามต่างมีรัฐอันเป็นที่มั่นของตน

สถานการณ์จึงนำพาบ้านเมืองจีนเข้าสู่ยุคสามรัฐในที่สุด

————————————————————————————————————————-
(1) โดยทั่วไปแล้วคำว่า หวัง ไทยเราจะหมายถึง กษัตริย์ แต่ในภาษาอังกฤษจะแปลคำนี้เป็น prince ที่หมายถึง เจ้าชาย ซึ่งหากถือเอาความหมายทางการเมืองการปกครองแล้วก็นับว่ามีนัยเดียวกับที่หมายถึงกษัตริย์ เพราะในอดีตระบบของจีนมักแต่งตั้งให้เจ้าชาย (prince) ไปปกครองเมืองสำคัญต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าชายจึงมีฐานะไม่ต่างกับกษัตริย์ ซึ่งในระบบของจีนนั้นกษัตริย์จะเป็นรองก็แต่จักรพรรดิเท่านั้น