คำ ผกา : สัญญาณที่ดี

คำ ผกา

คสช. พยายามจะดึงไอดอล ดารายอดนิยมมาช่วยจัดรายการเดินหน้าประเทศไทย ล่าสุดเฌอปราง แห่งบีเอ็นเค 48 จะไปจัดรายการเดินหน้าประเทศไทยวัยทีนด้วย และเกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันเล็กน้อยว่า – จะดีเหรอ? และถ้าเราเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และเป็นแฟนคลับเฌอปรางด้วย เราจะจัดการตัวเองอย่างไรดี?

การเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 นั้น ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า หากอยากเป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “กระแสหลัก” ของสังคมชนชั้นกลางไทย ไม่อยากแปลกแยก ไม่อยากกลายเป็นตัว “เสนียด” ของผู้คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมชนชั้น ขอให้คุณจงทำในสิ่งดังต่อไปนี้

1. เกลียดทักษิณ

2. ต่อต้านคอร์รัปชั่น

3. สนับสนุนทุกกิจกรรมที่จะนำไปสู่การจำกัดบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมือง

ด้วยเชื่อว่าประเทศชาติล้าหลังล่มจมเพราะนักการเมืองชั่ว โกงกิน ขายชาติ

คนชั้นกลางที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คนที่เห็นว่าการเลือกตั้งและการกลับไปหาหลักการประชาธิปไตยคือทางออกเดียวของประเทศ คนที่เห็นว่านักการเมืองและพรรคการเมืองคือส่วนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนัการเมืองน้ำดีหรือน้ำเลว ต้องใช้ชีวิตแบบเป็น “อีแอบ” ไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าบอกใคร

หรือถ้าไปรู้โดยบังเอิญว่าใครสักคนในกลุ่มสถานะทางสังคมเดียวกันไม่ใช่ “สลิ่ม” ก็จะลิงโลด ดีใจ แล้วก็จะพร่ำพรรณนาถึงกันว่า – ทำไมน้องไม่บอกพี่ ทำไมพี่ไม่บอกน้อง ปล่อยให้น้องเข้าใจว่าพี่เป็นสลิ่ม

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารและเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถแสดงตัวได้อย่างภาคภูมิใจ (ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ที่แสนประหลาด กลับหัวกลับหางกับสากลโลกอย่างชอบกล)

แม้แต่ในแวดวงปัญญาชน นักเขียนที่ฉันสังกัดอยู่นี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาก็มีปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่ซ่อนความเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยไว้ในตู้เสื้อผ้า เป็นแบบหลบๆ ซ่อนๆ กลัวเพื่อนรู้ กลัวพ่อ-แม่รู้ กลัวเจ้านายรู้ กลัวเพื่อนร่วมงานรู้ กลัวไม่มีใครคบ

พูดได้เลยว่า ในช่วงปี 2549-2553 โดยประมาณนั้น การที่คุณจะเป็นชนชั้นกลาง ต้านรัฐประหาร และพูดว่าสนับสนุนนโยบายทักษิณนั้นเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

หรือถ้าจะทำก็ต้องใส่สิ่งที่เป็นข้อแม้ลงไปเยอะๆ

เช่น เราไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่เราก็ไม่เอาทักษิณ และเราก็ไม่เอาการเมืองแบบเก่าๆ ไม่เอานักการเมืองแบบเดิมๆ

เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ถ้านักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่หลงอำนาจ เอื้อประโยชน์พวกพ้องมากขนาดนี้ คนก็จะไม่ระอากับประชาธิปไตยจนทหารออกมายึดอำนาจได้หรอก

หรือเราเห็นว่าต้องมีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความเลวร้ายของนักการเมืองเลือดเก่าๆ ด้วย อย่าให้นักการเมืองชั่วกลับมามีอำนาจจนทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมีข้ออ้างจะทำรัฐประหารอีก

ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ในสายตาของปัญญาชน ขบวนการเสื้อแดงหรือ นปช. ก็เป็นขบวนการที่น่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองเสียอีก

ภาพจาก Pee photograph รับถ่ายวีดีโอ

พวกเขามองว่า คนเสื้อแดงคือชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องการเมือง

ถูกพวกแกนนำหลอกมาชุมนุม และแกนนำเสื้อแดงทั้งหลายก็ยิ่งน่ารังเกียจ แต่ละคนดูลูกทุ่ง ดูภูธร ดูไม่น่าเชื่อถือ ดูไม่มีความรู้ และนี่ไม่ใช่ขบวนการประชาชนที่บริสุทธิ์ ดูเป็นเครื่องมือหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แตกต่างจากขบวนการนักศึกษาสมัยสิบสี่ตุลา หกตุลา (ลืมไปว่านักศึกษาสมัยหกตุลา ก็ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ปลอมตัวมาเหมือนกัน)

และจนกระทั่งเมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปัญญาชนกลัวโง่จำนวนหนึ่งก็ยังต้องทำท่าผิดหวังว่า ดูสิ การเมืองน้ำเน่ากลับมาอีกแล้ว ท้ายที่สุดพวกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่อ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตยก็ยังเล่นการเมืองแบบ “ครอบครัว” ยิ่งลักษณ์เป็นแค่หุ่นเชิดของทักษิณ

นักสิทธิสตรีทั้งหลายก็คร่ำครวญว่า – เราจะมีนายกฯ หญิงกับเขาทั้งทีก็เป็นนายกฯ หญิงที่ขึ้นมาได้เพราะบารมีของพี่ชาย

จากนั้นก็ลากไปดูประวัติผู้นำหญิง นายกฯ หญิงของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันยกใหญ่ว่า

“ดูสิๆ ภูมิภาคแห่งประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายก็เป็นแบบนี้แหละ นายกฯ หญิงแต่ละคน ไม่เป็นเมียอดีตผู้นำ ก็เป็นลูกสาวอดีตผู้นำ ผู้หญิงที่เก่งๆ จริงๆ เข้าสู่การเมืองด้วยความสามารถของตัวเองจริงๆ จะมีสักกี่คน

พีกที่สุดสำหรับปัญญาชนที่กระมิดกระเมี้ยนไม่เอารัฐประหารแต่ก็เกลียดนักการเมืองเข้าไส้ (นักการเมืองแบบที่พวกเขาชอบต้องประมาณ จัสติน ทรูโด, บารัค โอบามา หรือฮิลลารี่ คลินตัน ผู้หญิงเก่งๆ ต้องประมาณมิเชล โอบามา อะไรงี้) คือการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบ “ลักหลับ” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ทำให้ปัญญาชนทั้งหลายกระทืบเท้า ชี้นิ้วให้เราดูว่า เห็นไหมๆ พูดยังไม่ทันขาดคำ นักการเมืองมันสุมหัวกันทำชั่วอีกแล้ว

แต่พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ปัญญาชนเงียบกริบ ไม่มีใครสักคนที่ออกมาพูดว่า – เออ อย่างน้อยๆ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันก็แคร์เสียงประชาชนว่ะ

ไม่มีใครออกมาพูดว่า – เออ นี่ไง ข้อดีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อให้นักการเมืองจะชั่ว จะเลว แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

สำหรับฉัน น่าประหลาดใจมากที่ประชาชนและปัญญาชน คนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนมากในประเทศนี้ไม่ได้สำเหนียกถึง “อำนาจ” ของตัวเองที่มีต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลย

จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. พวกปัญญาชนรักเผด็จการนั้นเราจะละไว้ไม่พูดถึง เพราะถือว่าเป็นการเลือกข้าง ประกาศจุดยืนทางการเมืองของตัวเองไปอย่างชัดเจน ก็ถือว่ายุติธรรมดี

ในอนาคตข้างหน้าหากเกิดอะไรขึ้น ชื่อแซ่ของคนเหล่านี้ก็จะถูกจดจำไว้ในฐานะที่เป็นปัญญาชนล้มการเลือกตั้ง

แต่ปัญญาชนที่ปากก็บอกว่า ไม่เอาการรัฐประหารแต่เกลียดทักษิณ เกลียดนักการเมือง จำนวนมากก็ยังกระมิดกระเมี้ยนที่จะบอกว่าขบวนการ กปปส.นั้นคือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจรอบใหม่

และกระมิดกระเมี้ยนที่จะวิจารณ์ “เนื้อหา” การปราศรัย และอุดมการณ์ของ กปปส. ว่านี่คือการเมืองบนท้องถนนที่ออกมาเพื่อทำลายพัฒนาการการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของสังคมอย่างสำคัญยิ่ง

และที่น่าหัวร่อมากสำหรับฉันคือ ปัญญาชนและชนชั้นกลางที่ฉลาดเหลือเกินจำนวนหนึ่งยังพยายามจะบอกว่า ไม่ชอบ กปปส. ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.

แต่ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยมาก็ไม่เป็นแบบนี้หรอก สุเทพก็ระดมคนออกมาไม่ได้หรอก จากนั้นก็เข้าสู่อีหรอบเดิมคือ เกลียดเพื่อไทย แล้วก็ไม่เอาสุเทพด้วยเหมือนกันจ้า – คนพวกนี้คือฉลาดสุดๆ รู้ดีไปหมดทุกอย่าง นี่ยังไม่นับการโจมตีนโยบายรถคันแรก โจมตีนโยบายจำนำข้าว โดยอ้างว่าเป็นประชานิยมฉาบฉวย ซื้อเสียง

ทั้งหมดนี้ ฉันไม่ได้บอกว่านักการเมืองดีเหลือเกิน พรรคการเมืองดีเหลือเกิน นโยบายทุกอย่างของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดีเหลือเกิน นักการเมืองไม่โกงกินเลย เราต้องปกป้องนักการเมืองเหล่านี้ อย่าไปวิจารณ์เขา

ไม่ใช่เลย

แต่สิ่งที่ฉันอยากบอกคือ จงรู้ว่าในวิถีทางประชาธิปไตย กลไกของระบบรัฐสภา และเสียงของเราในฐานะประชาชนในการออกไปเลือกตั้งสำคัญกว่าความดี ความชั่ว ของนักการเมือง

และสิ่งที่เราต้องเลือกปกป้องเป็นอย่างแรกคือสิ่งนี้ อย่าให้ได้สูญหายหรือถูกทำลายลงไป

เพื่ออะไร?

เพื่อเราจะได้กดดันคนเหล่านี้ว่า หากจะชั่วก็ช่วยชั่วแบบดูตาม้าตาเรือ และเห็นหัวประชาชนอย่างเราด้วย เพราะในทุกๆ สี่ปี เราจะมาตัดสินชะตากรรมของพวกคุณ

จากวันนั้นถึงวันนี้ที่การเลือกตั้งถูกขัดขวางจนไม่เกิดขึ้น และทำให้เราต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลที่บอกว่าเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ อยู่ภายใต้การทำงานของสภาที่ไม่มีฝ่ายค้านอันทำหน้าที่ทั้งออกกฎหมายและผ่านงบประมาณอันจะส่งผลต่อชีวิตของเราเป็นอันมาก และยังจะผูกพันเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติไปอีก 20 ปี – ฉันคิดว่า เราได้เห็นพลวัตบางอย่างในเชิงอุดมการณ์ในสังคมไทย

ที่เคยคิดว่าหลักการและคุณค่าของประชาธิปไตยได้ถูกทำให้แหลกสลายไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่ทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาชนที่เคยกระมิดกระเมี้ยนต่อระบบการเลือกตั้งได้ค่อยๆ คลายตัวเองออกมาจากม่านหมอกมายาว่าด้วยผีทักษิณ

การสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มการเมืองในฝั่งประชาธิปไตยกลับส่งผลดี นั่นคือ คนที่เลือกประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้นก็ยังเลือกต่อไป แต่คนที่กระมิดกระเมี้ยนประเภท “สองไม่เอา” กลับเป็นฝ่ายที่ถูก irritated จากรัฐบาลชุดปัจจุบันในแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

การคลายล็อกทางการเมืองที่น่าสนใจในรอบครึ่งปีนี้คือ การประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป!!!

นึกออกไหม หลังปี 2549 การยืนยันในคุณค่าของประชาธิปไตยนี่แทบจะเป็นเสนียดสังคม แต่พอมาถึงปีนี้ เรากลับพบฉันทามติร่วมกันของสังคมไทยว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ต่อให้เป็นการเลือกตั้งในกติกาอย่างที่เป็นอยู่ การมีการเลือกตั้งก็ยังดีกว่าไม่มี คนที่ออกมาล้มการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นสุเทพหรือใครต่อใครก็ต้องออกมาตั้งพรรคการเมืองเข้าจงได้

อาจจะฟังดูเป็นการวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจมาก นั่นคือ ตรรกะว่าด้วยคุณค่าของประชาธิปไตย VS เผด็จการ ได้เคลื่อนเข้าสู่ความเป็นปกติแบบสากลโลกแล้วระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2549

ปีนี้คนไทยเหมือนหลุดจากการโดนผีสิง และตรรกะก็กลับมาอยู่กับร่องกับรอยบ้างแล้วว่า เออ ประชาธิปไตยคือถูก การครองอำนาจโดยไม่มีฉันทามติจากประชาชนคือผิด แม้วาทกรรมเก่าๆ จะทำงานอย่างแข็งขัน เช่น การเลือกตั้งอาจทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย นักการเมืองเลว ฯลฯ

แต่อย่างน้อยก็ไม่ถึงขั้นตรรกะวิบัติแบบจุดพลุฉลองที่ล้มการเลือกตั้งได้

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเฌอปราง?

ฉันคิดว่า ถ้าการไปร่วมงานกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของเฌอปรางเกิดขึ้นในช่วงปี 2549 หรือแม้กระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จะไม่มีใครตั้งคำถามหรอกว่า เฮ้ยยย จะดีเหรอ? เพราะมันมีคำตอบเดียวคือ ดี

แต่การเกิดคำถามและดีเบตว่า ดารา ศิลปิน ควรรักษาระยะห่างจากรัฐบาลแค่ไหน?

การเลือกจะสังคายนากับรัฐบาลหนึ่งแต่ไม่สังคายนากับรัฐบาลหนึ่ง จะกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ “ฉลาด” ของศิลปินหรือเปล่า?

เนื่องจากใครๆ ก็มองว่าเฌอปรางเป็นคนรุ่นใหม่ที่ความคิด “ก้าวหน้า”

ซึ่งคำถามนี้ไม่เกิดกับศิลปินคนอื่น และเมื่อครั้งที่ดาราบุพเพสันนิวาสไปเข้าทำเนียบก็ไม่มีใครตั้งคำถามต่อภาพลักษณ์ของดาราเหล่านั้น

สำหรับฉันนี่คือนิมิตหมายที่ดี ที่คือสัญญาณเบาๆ ที่บอกว่า เออ…สติปัญญาในสังคมไทยเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง

เรา – ที่เคยคิดว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

ตอนนี้เราได้ตระหนักแล้วว่า พระอาทิตย์มันขึ้นทางทิศตะวันออก และนี่เป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า

ที่สำคัญ ใครจะตระหนักบ้างว่า การอยู่นานนั้น ยิ่งนานยิ่งเสีย