ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยคนใหม่ ของมาเลเซีย

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตโมฮัมหมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐคนใหม่ คือ ตัน สรี อับดุร รอฮีม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) แทนดะโต๊ะซัมซามิน

ตัน สรี อับดุร รอฮีม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนดะโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชีม ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียอ้างว่าหมดวาระการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561

เป็นที่ทราบกันดีว่าดะโต๊ะซัมซามินเป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองมาเลเซีย และเป็นคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาตั้งแต่ปี 2555 ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย

การเปลี่ยนตัวครั้งนี้ในวงการเมืองระหว่างประเทศทราบกันดีว่าเป็นธรรมดาเหมือนการเมืองไทย เพราะสมัยที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (โดยในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”) รัฐบาลไทยสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตั้งคนสนิทนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น แต่โต๊ะพูดคุยต้องล้มเลิกไปเพราะความผันแปรทางการเมืองในประเทศไทยช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557

พอรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยให้รัฐบาลมาเลเซียช่วยอำนวยความสะดวกเช่นเดิม ซึ่งรัฐบาลนายนาจิบ ราซัก ก็มอบหมายให้ดะโต๊ะซัมซามินทำหน้าที่เดิม แต่ฝ่ายไทยเปลี่ยนตัวเป็น พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมตัวกันมาในนาม “มาราปาตานี”

หากย้อนรอยการพูดคุยพบว่าดำเนินมาด้วยดี กระทั่งใกล้บรรลุข้อตกลงเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรกร่วมกัน

แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในมาเลเซีย เมื่อพรรครัฐบาลที่นำโดยนายนาจิบ ราซัก พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ทำให้กระบวนการพูดคุยต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง

สิ่งที่ท้าทายผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยคนใหม่มีดังนี้

1. ข้อกังขาเรื่องภาพลักษณ์

ถึงแม้นายอับดุร รอฮีม นูร์ จะมีประสบการณ์อย่างโชกโชน เพราะในอดีตคือผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ปัจจุบันมีอายุ 75 ปี เมื่อปลายปี 2532 เคยมีบทบาทในการเจรจาจนเป็นผลสำเร็จกับฝ่ายโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ที่มีนายจีนเป็งเป็นหัวหน้า ซึ่งปฏิบัติต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียตามแนวชายแดนไทย

แต่เขาคือคนทำร้ายร่างกายนายอันวาร์ อิบราฮีม และคนสำคัญทำคดีเอาอันวาร์เข้าคุกสมัยรัฐบาลมหาธีร์เดิม

ดังนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สง่างามในเวทีนานาชาติและคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดความเชื่อมั่นรวมทั้งแกนนำคนเห็นต่าง

2. บทบาทในการอำนวยความสะดวกสำหรับการพูดคุยของมาเลเซียถูกตั้งคำถาม

บทบาทในการอำนวยความสะดวกสำหรับการพูดคุยของมาเลเซียถูกตั้งคำถามในอดีตมีการกดดันเชิงบังคับให้ฝ่ายเห็นต่างนั่งโต๊ะพูดคุยให้ได้ในขณะที่ความเป็นด้านวิชาการและมาตรฐานสากลไม่นับรวมผลประโยชน์ของมาเลเซียที่จะได้รับ

บทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในการพูดคุยครั้งนี้ เป็นแค่คนกลางผู้อำนวยความสะดวกให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้มีช่องทางและโอกาสในการพูดคุยกัน (Facilitator) มิใช่คนกลางผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย (Mediator)

ซึ่งโดยหลักการแล้ว สถานะของความเป็นผู้อำนวยความสะดวกจะเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กระบวนการสามารถดำเนินไปได้บนพื้นฐานของความสมัครใจและการมีอิสระอย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทยและกลุ่มเห็นต่าง วิธีการดำเนินการ และผลลัพธ์ของการพูดคุย ซึ่งจะแตกต่างจากการเป็นคนกลางที่จะมีบทบาทดังกล่าวเข้มข้นกว่าและต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพจึงถือว่าเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างเป็นหลัก มิใช่ของรัฐบาลมาเลเซีย

3. การสร้างความเข้าใจการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จำเป็น

การสร้างสันติภาพ (Peacebuilding) หรือการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Conflict Transformation) ซึ่งในบางครั้งก็มีการใช้คำว่ากระบวนการสันติภาพ (Peace Process) นั้นถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ใคร่จะคุ้นเคยมากนักสำหรับสังคมไทยและผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความขัดแย้งทางการเมืองที่มีลักษณะยืดเยื้อเรื้อรังและมีการใช้ความรุนแรงในความเข้มข้นที่สูงในชายแดนภาคใต้

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจต่อผู้คนจำนวนมากเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว

ตลอดจนความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางของคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงผู้คนในสังคมวงกว้างและในพื้นที่จะต้องเผชิญต่อไปจากนี้

การสร้างความเข้าใจการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จำเป็น โดยเฉพาะจะมีแนวทางอย่างไรให้คนพื้นที่สะท้อนความต้องการมากที่สุดแต่ต้องปราศจากการคุกคามจากทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันรัฐจะต้องสร้างภาวะแวดล้อมต่อกระบวนการสันติภาพทุกมิติ มาเลเซียก็จะต้องมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวนี้เพื่อกำหนดท่าที

4. ความท้าทายของกระบวนการ

นักวิชาการสันติภาพชายแดนแสดงทัศนะว่ามีความท้าทายของกระบวนการสันติภาพดังนี้

ประการแรก จากประสบการณ์กระบวนการสันติภาพทั่วโลกโดยส่วนใหญ่แล้ว ภายหลังจากการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้น เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงรายวันจะยังคงมีอยู่ ต่อเมื่อกระบวนการพูดคุยดำเนินไประยะหนึ่งจนกระทั่งมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมสัมผัสได้ ความรุนแรงอันเกิดจากการปะทะต่อสู้กันระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงจะเริ่มเบาบางลง (ดูสถิติความรุนแรงได้ใน https://deepsouthwatch.org/th/node/11053)

ประการที่สอง การทำฉันทามติร่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความไม่ชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายได้มีกระบวนการหารือและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงนามมากน้อยเพียงใด ซึ่งทำให้เกิดข้อห่วงใยถึงความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ตลอดจนความราบรื่นของกระบวนการพูดคุยต่อจากนี้

ประการที่สาม กระบวนการถ่ายทอดทำความเข้าใจต่อกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในฝ่ายของตนเองต่อเจตนารมณ์ในการลงนามของผู้แทนทั้งสองฝ่าย ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเป็นเอกภาพและการได้รับแรงสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องและมวลชนของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าการพูดคุยจะดำเนินต่อไปได้ราบรื่นหรือไม่อย่างไร ความลังเล ความกังวลใจ และความไม่แน่ใจต่ออนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาจจะส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพต้องหยุดชะงักลงได้

ประการที่สี่ ทั้งรัฐบาลไทย ผู้เห็นต่างและรัฐบาลมาเลเซียมีความเข้าใจความหมายและแนวทางของการพูดคุยสันติภาพอย่างไร สอดคล้องตรงกันหรือไม่ในขณะที่แง่ปฏิบัติแต่ละฝ่ายยังขาดเอกภาพโดยเฉพาะรัฐบาลไทยที่ต้องตอบคำถามสื่อตลอด (โปรดดู https://deepsouthwatch.org/dsj/th/8494)

สำหรับผู้เขียน ประการที่ห้า เดิมช่วงแรกข้อตกลงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่รวมกับกลุ่มเห็นต่างอื่นๆ อันกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการมีฉันทามติร่วมในครั้งนี้ ทั้งที่อยู่ในส่วนของผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ และในส่วนของภาคประชาสังคม คู่สนทนาจึงจำเป็นต้องรับฟังและเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้มีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพผ่านช่องทางและกลไกต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (inclusive) และครบถ้วนทุกความคิดเห็น (comprehensive)

หลังจากนั้นมีข้อตกลงกับมาราปาตานีเพื่อให้ครอบคลุม แต่ปรากฏว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นกลุ่มถืออาวุธ ที่เป็นที่รับรู้กันว่ามีบทบาทสำคัญในพื้นที่กลับไม่เข้าร่วม จึงเป็นอีกข้อท้าทายโดยเฉพาะมาเลเซียว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ประการที่หก อนาคตรัฐบาลไทยปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลปัจจุบันจะสิ้นสุดหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐบาลไทยหลังเลือกตั้งก็ต้องได้รัฐบาลใหม่อาจมีการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ไทยก็ต้องปัดกวาดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ชาติเหมือนรัฐบาลใหม่มาเลเซียตอนนี้เช่นกัน

ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดจะทำให้กระบวนการสันติภาพยังอีกยาวไกล แต่เราก็ต้องประคับประคองให้เดินแม้ทีละนิดแต่มั่นคง