เศรษฐกิจ / ดีอีเปิด ‘EECd’ เทียบเคียงเมืองใหม่ซีพี ขอไซซ์จิ๋วแต่แจ๋ว…สมาร์ทซิตี้อัดแน่นไฮเทค

เศรษฐกิจ

 

ดีอีเปิด ‘EECd’ เทียบเคียงเมืองใหม่ซีพี

ขอไซซ์จิ๋วแต่แจ๋ว…สมาร์ทซิตี้อัดแน่นไฮเทค

เชื่อว่าหลายคนกำลังจับตารอชม ‘อภิมหาโปรเจ็กต์’
อย่าง ‘โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand : EECd’ ภายใต้การนำของโต้โผใหญ่อย่างนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมดิจิตอล ขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 พร้อมทั้งรองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอลแห่งอนาคต
หลังจากเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ประกาศสร้างเมืองใหม่ เป็นสมาร์ทซิตี้ ที่แปดริ้ว ขนาดพื้นที่ 10,000 ไร่ รอรับการเกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี หลังจากดีดลูกคิด ตั้งทีมศึกษาอย่างจริงจังถึงความน่าจะเป็นของโครงการ ก่อนร่วมวงชิงดำก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา
รัฐมนตรีดีอีไม่ยอมน้อยหน้า เปิดรายละเอียดโครงการ EECd โดยกล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ดำเนินการสร้างแนวทางการพัฒนาโครงการ เน้นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้อีอีซีพัฒนาเป็น ‘Smart City’
รวมทั้งกำหนดให้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น และสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคในการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลของประเทศไทย ยังมีพื้นที่ติดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีอาณาเขตใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีหลายส่วนงานต้องเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิตอลและกำลังคนด้านดิจิตอลได้อย่างหลากหลาย
ภายในพื้นที่โครงการ EECd จะประกอบด้วยโซนต่างๆ ได้แก่ Smart Logistics, Digital Academy & Community Center, Animation & 3D Design Center, Smart City Platform, 5G Testbed, Digital Enterprise eXcellence Ceter, IoT Institute, Startup Incubation & Acceleration Metro (Siam), Digital Playground, Cyber Security และ Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD)

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) กล่าวเสริมว่า กสท ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับกระทรวงดีอี และดีป้า ได้นำเสนอภาพรวมโครงการ รวมถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของโครงการ EECd ในงาน Market Sounding ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทยและต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุน เพื่อหาเอกชนในการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) บนพื้นที่กว่า 800 ไร่ บริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ เนื่องจาก กสท ไม่มีความถนัด รวมถึงการขายพื้นที่ให้เอกชนเช่าใช้ด้วย
การทำ Market Sounding ครั้งนี้ พ.อ.สรรพชัยระบุว่า จะนำข้อเสนอแนะและความเห็นที่ได้รับจากการจัดงานไปประกอบการจัดทำข้อมูลโครงการในรายละเอียด และร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อนำเสนอในงาน Market Sounding ครั้งต่อไป กำหนดจัดขึ้นภายในเดือนตุลาคม
ตั้งเป้าเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนเดือนพฤศจิกายน และพิจารณาข้อเสนอของเอกชน พร้อมประกาศผลการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
“สำหรับพื้นที่ที่เอกชนจะเข้ามาประมูลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่นั้น ไม่รวมพื้นที่ของกระทรวงพลังงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ที่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงพื้นที่ของดีป้าในการสร้างสถาบันไอโอที ที่มีงบประมาณในการสร้างเป็นของตนเอง ขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย ให้ความสนใจ จึงต้องรอดูว่าบริษัทไหนจะเสนอแผนธุรกิจได้ดีกว่ากัน โดยโครงการนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท”

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

ขณะที่นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า เปิดเผยว่า ขั้นตอนการสร้างสถาบันไอโอทีกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ ใช้งบฯ การออกแบบ 128 ล้านบาท จากงบฯ บิ๊กร็อก (งบฯ กลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ) ที่ได้รับมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนมกราคม 2562 ด้วยงบประมาณ 1,480 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ ภายในสถาบันไอโอที พื้นที่ 30 ไร่ จะประกอบด้วย 4 อาคาร คือ อาคารพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นการสร้างเป็นศูนย์ Maker Space เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการสร้างสินค้าต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ตารางเมตร จะเป็นศูนย์สำหรับการทดสอบ 5G, AI/IoT Lab ส่วนอาคารที่ 2 และ 3 พื้นที่ใช้สอย 20,000 ตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมทั้งเรื่อง Industrial Mathematic Lab, VR & AR Lab, Testing Lab, Cloud Innovation Lab, Device Lab, Design Center และ Demonstration Space และอาคารที่ 4 เป็นการใช้งบฯ สมาร์ทซิตี้ ต้องสร้างตึกให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อเป็นศูนย์ IOC (Institute Operations Center) พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานที่แสดงตัวอย่าง “Smart City” ของประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอียังได้ระบุว่า หากภาคเอกชนที่ต้องการดำเนินโครงการในลักษณะของ ‘Smart City’ สามารถทำได้ โดยในเบื้องต้นต้องทำการขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ซึ่งในขณะเดียวกัน บีโอไอก็จะนำข้อมูลมาพิจารณา พร้อมทั้งขอคำปรึกษามายังกระทรวงดีอีอีกครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงดีอีก็จะช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยลดภาระให้กับบีโอไอในระดับหนึ่ง เรื่องดังกล่าวไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนจะเป็นผู้พยายามขับเคลื่อน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น โดยปลายทางที่จะได้รับคือระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกเรื่องที่ดำเนินการแล้วผลประโยชน์ก่อเกิดแก่ประเทศชาติได้ ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมได้ ไม่อยากให้เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว
‘Smart City’ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Smart City ที่ทำครบองค์ประกอบ และ Smart City ที่ทำบางองค์ประกอบ ซึ่งจะส่งผลให้สิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับแตกต่างกัน ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็น Smart City ที่ครบองค์ประกอบ ทำได้ไม่ง่ายนัก
จำเป็นต้องมีองค์ประกอบทั้งหมด 6 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) การบริหารงานปกครอง (Smart Government) ด้านที่อยู่อาศัย (Smart Living) ด้านการจราจรขนส่ง (Smart Mobility) ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Smart People) แต่บาง ‘Smart City’ อาจทำได้ 2 หรือ 3 องค์ประกอบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเข้าใจไม่ผิดพลาด ทราบว่าปัจจุบันบีโอไอได้ผนวก ‘Smart City’ เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาคเอกชนจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ อาทิ สิทธิประโยชน์สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการ EECd เช่น
1. สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.อีอีซี อาทิ การเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่เกิน 50 ปี ต่อสัญญาได้อีก 49 ปี การให้ต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
2. สิทธิประโยชน์ตามประกาศบีโอไอ ที่ 6/2561 สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2-4 ปี แล้วแต่ประเภทกิจการ (จากเดิม 8 ปี)
และ 3. สิทธิประโยชน์ตามประกาศบีโอไอ ที่ ส.5/2561 สำหรับประเภทกิจการดิจิตอลพาร์ก ทั้งนี้ การแบ่งผลตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการแบ่งผลตอบแทนที่เหมาะสม
ถือเป็น ‘อภิมหาโปรเจ็กต์’ ที่ไม่ว่าภาคส่วนไหนก็สามารถมีส่วนร่วมได้
แต่ทว่าโปรเจ็กต์นี้จะสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือไม่ คงต้องรอชม