วิรัตน์ แสงทองคำ : “มหาวิทยาลัยไทย” จะเดินไปทางไหนในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ปฐมบท

สังคมไทยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สะท้อนหัวเลี้ยวหัวต่อภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขยายวงมาถึงระบบการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย

ผมเองสนใจเรื่องราวและประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาพอสมควร เคยนำเสนอข้อเขียนและความคิดมาหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พอจะให้ภาพ “ปะติดปะต่อ” ถือว่าเป็นข้อมูลและความคิดพื้นฐานในความพยายามอรรถาธิบายแง่มุมให้ครอบคลุม และให้ภาพต่อเนื่อง

ไปสู่บทอรรถาธิบายอย่างโฟกัส เข้าสู่ยุคการผันแปรในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

การศึกษามีมาตรฐานเดียว

“เป็นเรื่องน่ายินดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยมีแรงบันดาลใจสำคัญ มองการศึกษาเป็นยุทธ์ศาสตร์ระดับโลก” มุมมองหนึ่งซึ่งสะท้อน ปะทะ เกี่ยวกับกรณีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (บางตอนจากเรื่อง “การศึกษามีมาตรฐานเดียว” มติชนสุดสัปดาห์ ตุลาคม 2551)

อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่น่าสนใจ “หลังจากรับตำแหน่งไม่นาน นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีคนที่ 16 เป็นคนพื้นเพจากต่างจังหวัด ประกาศเป้าหมายในการบริหารสถาบันการศึกษาที่อนุรักษนิยมที่สุด ด้วยความกล้าหาญและเป็นเป้าหมายรูปธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่าจะพยายามให้จุฬาฯ ติดอันดับโลก 60 อันดับแรก” (อ้างแล้ว)

ขณะนั้น (ปี 2551) Website จุฬาฯ (www.chula.ac.th) โดยเฉพาะในสารอธิการบดี กล่าวไว้อย่างภาคภูมิใจอย่างตั้งใจ “จุฬาฯ มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย” และ “จุฬาฯ ของเราเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก” ทั้งนี้ อ้างการจัดอันดับของ THE/QS World University Rankings (ปัจจุบันแยกทางกันกลายเป็น หน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก 2 แห่ง คือ Times Higher Education World University Rankings กับ QS World University Rankings)

ในเวลานั้นผมได้เสนอให้จุฬาฯ พิจารณาอ้างอิงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกอีกแห่งหนึ่ง–Academic Ranking of World Universities หรือ Shanghai Ranking ในปัจจุบัน ดำเนินการโดย Shanghai Jiao Tong University แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ ได้สรุปสาระความแตกต่างระหว่าง THE/QS กับ Shanghai Jiao Tong University ในประเด็นวิธีการและแนวทางไว้อย่างคร่าวๆ

THE/QS ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและฝ่ายบุคคลขององค์กรต่างๆ พอสมควร ในฐานะให้ความสำคัญ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และความเห็นของผู้ว่าจ้างงาน ผ่านการสำรวจความคิดเห็นและความเชื่อผู้คนในแวดวงการเดียวกัน

ในขณะที่ Shanghai Ranking ให้ความสำคัญบทบาทมหาวิทยาลัยว่าด้วยคุณภาพการศึกษาและวิจัย ผ่านผลงานที่จับต้องได้ ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับโลกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ได้เน้นว่า “การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ใด ย่อมสะท้อนมาตรฐานสำคัญ”

ว่าไปแล้ว อันดับมหาวิทยาลัยโลกกับมหาวิทยาลัยไทย เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนตั้งแต่นั้นมาก็ว่าได้ ควรปุจฉาวิสัชนาต่อไป “มาตรฐานการศึกษาเดียว” แนวความคิดซึ่งสำคัญมากๆ มีบทบาท มีความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ อย่างไร กับความเป็นไปมหาวิทยาลัยไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

(ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งจะนำเสนอในตอนๆ ต่อไป)

 

(1)อันที่จริงมาตรฐานการศึกษาระดับโลกเป็นสิ่งอ้างอิงกับระบบการศึกษาไทยแต่ไหนแต่ไรมา ในข้อเขียนชิ้นนั้นได้กล่าวถึงกรณีสำคัญกรณีหนึ่งไว้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของไทย มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาการสังคมไทย เริ่มต้นขึ้นในฐานะสถาบันพัฒนาข้าราชการในยุค Westernization of Siam อ้างอิงกรณีสำคัญ โดยเฉพาะการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โดยเฉพาะจุดกำเนิดคณะวิศวกรรมศาสตร์) เกิดขึ้นในยุคเดียวกับการก่อสร้างอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวงใหม่ในยุคนนั้น

สัมพันธ์กับแรงบันดาลใจในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย (โรงงานซีเมนต์) เพื่อตอบสนองและสนับสนุนการก่อสร้างสถานที่สำคัญของประเทศ ด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ในความพยายามให้มีคุณภาพทัดเทียมกับซีเมนต์นำเข้ามาจากต่างประเทศ

จุฬาฯ ก่อตั้งเป็นทางการตามโมเดลมหาวิทยาลัยอย่างที่ควรเป็นในปี 2459

ขณะที่ระบบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาไปอย่างเชื่องช้า จนมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 2481) หลักสูตรระดับปริญญาตรีอย่างแท้จริงจึงเกิดขึ้น

ในเวลานั้น นอกจากหน่วยงานการทหารและราชการสำคัญๆ เช่น กิจการรถไฟ และหน่วยงานชลประทานที่ต้องการผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมแล้ว คงมีธุรกิจเพียงรายเดียวที่สำคัญคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจีปัจจุบัน) กิจการซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2456 ช่วงแรกๆ อันเป็นเวลายาวนานทีเดียว การบริหารกิจการอยู่ภายใต้ทีมงานชาวเดนมาร์ก อาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมจากช่างชาวเดนมาร์ก จนถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง (ราวปี 2484) ผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมคนไทยเข้ามามีบทบาทบ้าง พวกเขามาจากระบบราชการ อาทิ กองทัพเรือ กิจการรถไฟ หน่วยงานชลประทาน ที่สำคัญพวกเขาล้วนผ่านการศึกษาด้านวิศวกรรมมาจากต่างประเทศ

ถือว่าเป็นช่วงเดียวกัน (ปี 2485) เป็นครั้งแรก ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรกจากจุฬาฯ สามารถเข้าทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้จำนวน 3 คน

กระนั้นกว่าวิศวกรไทยผู้จบการศึกษาจากจุฬาฯ จะได้รับการยอมรับและมีบทบาทอย่างแท้จริงในบริษัทปูนซิเมนต์ไทยก็ผ่านไปอีกหลายปี จนถึงยุคต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกา แห่งยุคสงครามเวียดนามเลยทีเดียว

 

(2)อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ว่าด้วยพัฒนาการการศึกษาด้านธุรกิจ เชื่อมโยงเป็นภาพสะท้อนโดยตรงของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ ยุคเดียวกันกับวิศวกรจุฬาฯ เริ่มมีบทบาทอย่างแท้จริง

กรณีนี้เกี่ยวข้องมหาวิทยาลัย 2 แห่ง มีบทบาทสำคัญยิ่ง เป็นสิ่งอ้างอิงควรยกขึ้นเป็นกรณีพิเศษ

ถือเป็นภาพต่อเนื่องช่วงเกือบๆ ศตวรรษที่ผ่านมา

 

–ยุคแรก

จุดเริ่มต้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษาวิชาการบัญชีกับบริบทการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย

ระบบการศึกษาด้านการบัญชี เกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีเดียวกัน (ปี 2481) ถือเป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรไม่นาน ขณะนั้นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดีจุฬาฯ ขณะที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การธรรมศาสตร์

มีข้อมูลเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวข้องการประกาศใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากรอย่างจริงจังครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2482 “คณะราษฎรถือว่าเป็นผลงานสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามหลุดพ้นจากอิทธิพลของระบบอาณานิคม ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาริ่ง”

การปรับโครงสร้างการบริหารรัฐไทยให้ทันสมัย ทัดเทียมกับระบบอาณานิคม เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเวลานั้น รวมทั้งความรู้ด้านระบบบัญชี เป็นช่วงเวลาที่มีความพร้อมพอสมควร ด้วยบุคคลสำคัญๆ เข้ามามีบทบาท คือบุคคลผู้ผ่านการศึกษาการบัญชีมาตรฐานระดับโลกในเวลานั้น

พวกเขาเป็นผลิตผลจากระบบอาณานิคมอังกฤษ-พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) ที่จุฬาฯ และหลวงดำริอิศรานุวรรต (ม.ล.ดำริ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ที่ธรรมศาสตร์ ทั้งสองมีประกาศนียบัตร ACA (Associate of The Institute of Chartered Accountant in England and Welsh) ในฐานะคนไทยสองคนแรก

โดยเฉพาะพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) เป็นผู้หนึ่งในคณะบริหารยุคเริ่มแรก แบงก์สยามกัมมาจล ธนาคารไทยแห่งแรก (ธนาคารไทยพาณิชย์ปัจจุบัน) เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในช่วงระยะสั้นๆ

ก่อนมีบทบาทสำคัญจัดตั้งวิชาการบัญชีที่จุฬาฯ พร้อมๆ ตั้งสำนักงานบัญชีไชยยศ สำนักงานบัญชีแห่งแรกๆ รองรับการขยายตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการธนาคาร

 

–ยุคต่อมา

อิทธิพลสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยในช่วงสงครามเวียดนาม (2507-2518) มิได้จำกัดแค่เรื่องการเมือง การทหาร หากอยู่ในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคมพัฒนาสาธารณูปโภค และผลักดันการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนไทยมีบทบาทและเจริญเติบโต

คำอรรถาธิบายในมิติที่กว้างขึ้นยังมีอีก ว่าด้วยอิทธิพลสหรัฐในประเทศไทย ต่อเนื่องจากขบวนการเข้ามาลงทุนขนานใหญ่ การเข้ามาของสินค้าบริโภคสมัยใหม่เข้าถึงผู้คนในสังคมวงกว้าง จนมาถึงรากฐานสำคัญว่าด้วยระบบการศึกษา พิจารณาจากกรณีขบวนคนไทยไปศึกษา ณ สถาบันการศึกษาในสหรัฐมากขึ้นๆ เริ่มต้นอย่างชัดเจนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงสงครามเวียดนาม

กรณีสำคัญมากๆ เชื่อมโยงกับพัฒนาการมหาวิทยาลัยไทยคือ การก่อกำเนิดระบบศึกษาด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่แบบอเมริกันซึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในโลกในเวลานั้น โดยเฉพาะที่เรียกว่า MBA

ยังมีต่อ

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ในประเทศไทย
(เรียงลำดับตามปีสถาปนา)
2460 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2477 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2486 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยมหิดล

2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2509 มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

2510 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2514 มหาวิทยาลัยรามคำแหง

2517 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

2521 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

2529 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

2533 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

2535 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

2539 มหาวิทยาลัยแม่โจ้

2541 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง