จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 5 “ฮ่องเต้หุ่นเชิด”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สถานการณ์ก่อนฮั่นจะล่มสลาย (ต่อ)

ปฏิปักษ์กลุ่มแรกๆ ที่เฉาเชาจัดการคือ กลุ่มขุนศึกที่ได้รับราชโองการลับจากฮั่นเสี้ยนตี้ให้กำจัดตัวเขา กลุ่มเครือญาติของจักรพรรดิ และกลุ่มแพทย์หลวงกับขุนนางอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับเฉาเชาเช่นกัน

เมื่อเฉาเชาจัดการปฏิปักษ์ในราชสำนักจนสิ้นแล้ว จากนั้นจึงมุ่งไปจัดการกับกลุ่มที่อยู่นอกราชสำนักต่อไป

กลุ่มที่อยู่นอกราชสำนักมีมากมายหลายกลุ่ม แต่มีจุดอ่อนตรงที่กลุ่มเหล่านี้มีความขัดแย้งกันเอง จุดอ่อนนี้ทำให้เฉาเชาได้เปรียบ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็จัดการกลุ่มอำนาจนี้ได้ในระดับหนึ่งใน ค.ศ.200

ที่ว่าได้ในระดับหนึ่งหมายความว่ากลุ่มที่เหลือจากนี้ไปคือกลุ่มที่มีอิทธิพลสูง มีกำลังพลและพื้นที่ที่ยึดครองที่สำคัญจนยากที่จะจัดการ

กลุ่มอำนาจที่ทรงอิทธิพลนับจาก ค.ศ.200 ประกอบไปด้วยกลุ่มเฉาเชา กลุ่มนี้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของที่ราบภาคเหนือเอาไว้ได้ โดยมีเมืองที่ยึดครองไว้ได้คืออี้ว์โจวและเอี่ยนโจว กลุ่มหยวนเส้ายึดครองจี้โจว ชิงโจว โยวโจว และปิ้งโจว

กลุ่มหลิวจังยึดครองอี้โจว กลุ่มจังหลู่แห่งกบฏข้าวสารห้าถังยึดครองพื้นที่ที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปของอี้โจว กลุ่มหลิวเปี่ยว (ค.ศ.142-208) ยึดครองจิงโจว กลุ่มซุนเฉีว์ยน (ค.ศ.182-252) ยึดครองดินแดนทางด้านใต้ของแม่น้ำหยังจื่อ เป็นต้น

ในบรรดานี้กลุ่มหยวนเส้าจึงเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลเหนือทุกกลุ่ม ในขณะที่ผู้นำของแต่ละกลุ่มนั้น หากไม่เป็นขุนศึกมาแต่เดิมก็จะเป็นนักการทหาร (militarist) ที่มีความรู้ในการศึกเป็นอย่างดี และเมื่อทุกกลุ่มต่างมีที่มั่นเป็นของตนเอง เวลาที่เหลือจากนี้ไปจึงคือการศึกที่ต่างคาดหวังว่าจะนำจีนไปสู่เอกภาพอีกครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้พื้นที่ที่แต่ละกลุ่มยึดครองข้างต้นจึงย่อมเปลี่ยนแปลงไปอีกเมื่อเกิดศึกขึ้น

 

การล่มสลายของฮั่น

การผงาดขึ้นมาของกลุ่มอำนาจต่างๆ เป็นไปในขณะราชวงศ์ฮั่นยังมิได้ล่มสลาย แต่การที่จักรพรรดิมีฐานะไม่ต่างกับหุ่นเชิดก็ทำให้เห็นได้ว่า ฮั่นที่ยังคงอยู่นั้นอยู่ก็แต่ในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วเหมือนกับไม่มีอยู่

ฐานะเช่นนี้ของฮั่นดำรงอยู่ยาวนานหลายปีกว่าจะล่มสลายลงจริงๆ การที่เป็นเช่นนี้จึงเท่ากับว่าการมีอยู่ของจักรพรรดิยังมีความสำคัญ อย่างน้อยก็ในแง่การสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มอำนาจที่ควบคุมจักรพรรดิเอาไว้

ข้างกลุ่มที่ไม่มีจักรพรรดิมาอยู่กับตนก็จะกล่าวหากลุ่มแรกว่าข่มเหงจักรพรรดิ อันเป็นความผิดมหันต์ที่มีโทษหนักถึงขั้นประหาร กลุ่มนี้จึงต่อต้านกลุ่มแรกหรือไม่ก็ตัวผู้นำกลุ่มตั้งตนเป็นจักรพรรดิเสียเอง

พ้นไปจากนี้แล้วความขัดแย้งที่เหลือจึงเป็นเรื่องอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่มีแม้แต่เรื่องของบุญคุณความแค้น และทั้งหมดนี้ต่างก็หันมาทำศึกระหว่างกัน ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และผลัดกันเป็นมิตรผลัดกันเป็นศัตรู

เป็นเช่นนี้นานนับสิบปีจนราชวงศ์ฮั่นล่มสลายไปในที่สุด

จากนั้นจีนก็เริ่มศักราชใหม่ของตนที่เต็มไปด้วยความแตกแยก ถึงตอนนั้นมณฑลหรือเมืองที่แต่ละกลุ่มยึดครองก็กลายเป็นรัฐอิสระ รัฐเหล่านี้ถูกทำให้แข็งแกร่งและทำศึกระหว่างกันต่อไปเพื่อสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่

 

การศึกมิหน่ายเล่ห์

หลังจากที่กลุ่มอำนาจต่างๆ ได้ยึดครองเมืองเป็นที่มั่นของตนแล้ว ต่างก็พัฒนาเมืองของตนให้แข็งแกร่ง ในระหว่างนี้สถานการณ์เต็มไปด้วยซับซ้อน เพราะบางครั้งก็เกิดความร่วมมือในบางกลุ่มเพื่อทำศึกกับอีกบางกลุ่ม หรือไม่หลังจากร่วมมือกันแล้วก็เกิดขัดแย้งกันขึ้นแล้วก็ทำศึกกันเองก็มี

สถานการณ์เช่นนี้จึงไม่มีความแน่นอนและมิอาจวางใจในระหว่างกันได้ และในเมื่อต่างก็มุ่งที่จะตั้งตนเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว สถานการณ์หลักในช่วงนี้จึงคือการทำศึก การศึกที่เกิดในช่วงนี้มีหลายครั้ง แต่การศึกใหญ่มีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีสองครั้ง

ครั้งหนึ่งคือศึกกวานตู้ อีกครั้งหนึ่งคือศึกชื่อปี้หรือศึกผาแดง

ศึกกวานตู้เป็นการศึกระหว่างเฉาเชากับหยวนเส้า ศึกนี้เกิดใน ค.ศ.200 เหตุของศึกนี้มีที่มาจากหยวนเส้าต้องการทำลายเฉาเชาที่นับวันมีแต่จะแข็งแกร่งมากขึ้น หากไม่รีบกำจัดในขณะที่ตนยังมีความได้เปรียบอยู่ การณ์อาจจะสายเกินแก้

จากเหตุนี้ หยวนเส้าจึงเคลื่อนทัพบุกเข้าตีเมืองสี่ว์อันเป็นที่ประทับของฮั่นเสี้ยนตี้ ที่ขณะนั้นตกเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของเฉาเชา เมื่อแจ้งข่าวว่าทัพของหยวนเส้าบุกมา เฉาเชาจึงเคลื่อนทัพไปยังเมืองหลีหยัง ปัจจุบันคือตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอสวิ่นในมณฑลเหอหนัน

โดยแบ่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกวานตู้ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองจงมู่ในเหอหนันเช่นกัน

ทัพของหยวนเส้ามีกำลังพล 100,000 นาย ม้าศึก 10,000 ตัว ส่วนทัพของเฉาเชามีกำลังพล 20,000 นายที่ขัดสนเสบียงและหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าศึก ดังนั้น ทัพของเฉาเชาจะเอาชนะได้ก็มีอยู่เพียงทางเดียว คือต้องมีแผนศึกที่เหนือกว่าเท่านั้น

แผนศึกที่เฉาเชาใช้ก็คือ แสร้งยกทัพบุกไปทิศหนึ่ง แต่กลับบุกไปอีกทิศหนึ่งเพื่อทำให้หยวนเส้าเข้าใจผิด และหยวนเส้าก็เข้าใจผิดจริง จากแผนนี้ทำให้เฉาเชาสามารถฆ่าขุนศึกของหยวนเส้าได้สองคน จากนั้นทัพทั้งสองก็ตั้งเผชิญหน้าและคุมเชิงกันอยู่ที่เมืองกวานตู้

ในระหว่างนี้ขุนนางคนหนึ่งที่เป็นผู้วางแผนศึกให้กับหยวนเส้าได้แปรพักตร์ไปเข้ากับเฉาเชา แล้ววางแผนศึกให้กับเฉาเชาแทน

และแผนที่ว่าคือ ให้ทัพของเฉาเชาลอบเข้าไปโจมตีและเผาทำลายเสบียงและหญ้าสำหรับเลี้ยงม้า ตลอดจนยุทธปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญของทัพของหยวนเส้าที่เมืองอูเฉา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเอี๋ยนจินในมณฑลเหอหนัน

แผนดังกล่าวทำให้ทัพของหยวนเส้าระส่ำระสายอย่างหนัก ซ้ำยังทำให้ขุนศึกอีกสองคนของหยวนเส้ามาเข้าด้วยกับเฉาเชาอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้หยวนเส้าจึงนำทหารม้า 800 นายหนีข้ามแม่น้ำเหลืองไปทางตอนเหนือ

ส่วนทหารที่เหลืออยู่ 70,000 นายถูกเฉาเชาฆ่าด้วยการฝังทั้งเป็น

จากนั้นไม่นานหยวนเส้าก็ป่วยตายไป ซ้ำร้ายบุตรชายสองคนของเขาก็กลับขัดแย้งและต่อสู้กันเอง

จากเหตุนี้ ทัพของเฉาเชาจึงตีทัพของบุตรทั้งสองนั้นได้ไม่ยาก ชัยชนะในครั้งนี้ของเฉาเชาทำให้เขาสามารถยึดเมืองที่หยวนเส้าครอบครองมาแต่เดิมได้สำเร็จ อิทธิพลของเฉาเชาจึงยิ่งแผ่กว้างไกลไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

การศึกครั้งนี้เรียกกันต่อมาว่า ศึกกวานตู้

 

หลังศึกกวานตู้ เฉาเชายังใช้เวลาช่วงหนึ่งไปทำศึกกับชนชาติอื่นทางตอนเหนือ หนึ่งในชนชาตินี้คือ อูหวน เมื่อชนะศึกแล้วเฉาเชาก็ยึดครองดินแดนตอนเหนือได้อย่างเด็ดขาด ภารกิจต่อไปก็คือทำศึกกับผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ทางตอนใต้ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม

แต่มีสองกลุ่มที่ทรงอิทธิพลสูงคือกลุ่มของซุนเฉีว์ยน กับกลุ่มของหลิวเปี่ยวที่เป็นข้าหลวงผู้ตรวจการจิงโจว กลุ่มหลังนี้มีกลุ่มของหลิวเป้ย (ค.ศ.161-223) มาอาศัยอยู่ด้วยโดยตั้งทัพอยู่ที่ฝันเฉิง ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเซียงฝันในหูเป่ย

เป้าหมายของเฉาเชาจึงอยู่ที่สองกลุ่มนี้

เฉาเชาได้เคลื่อนทัพใหญ่ที่มีกำลังพล 200,000 นายหมายพิชิตจิงโจวใน ค.ศ.208 แต่หลิวเปี่ยวกลับป่วยจนเสียชีวิต หลิวฉงบุตรของเขาซึ่งเป็นข้าหลวงฯ แทนยอมจำนนต่อเฉาเชาอย่างลับๆ เฉาเชาจึงพักการตีจิงโจวแล้วหันไปตีทัพของหลิวเป้ยแทน

และด้วยกำลังที่น้อยกว่าของหลิวเป้ย เขาจึงสละเมืองพร้อมบุตรและภรรยาหนีไปกับคนใกล้ชิดอีกสิบกว่าคน โดยหนึ่งในนั้นคือ จูเก่อเลี่ยง (ค.ศ.181-234)

เมืองเจียงหลิงจึงตกเป็นของเฉาเชาไปในที่สุด