วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี : ว่าด้วยธุรกิจครอบครัว (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วย ธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

ซีพี กับตำนานช่วงต้น “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” น่าสนใจ ควรอรรถาธิบายอย่างเฉพาะเจาะจง

“คุณพ่อของผมชื่อ นายเจี่ย เอ็กชอ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เกิดในมณฑลกวางตุ้ง คุณพ่อเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ขยายกิจการออกไปเรื่อยๆ ด้วยการที่คุณพ่อมีเชื้อสายจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับประเทศจีนไปด้วย” ข้อเขียนชิ้นนี้ ขอยกและตัดตอนเรื่องเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ มานำเสนอค่อนข้างมาก อย่างเป็นพิเศษ (จาก “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ความยาวมากถึง 30 ตอน ตีพิมพ์ต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น–http://www.nikkei.com/) และเผยแพร่ออนไลน์ไปทั่วโลกในภาษาจีน และภาษาอังกฤษ –http://asia.nikkei.com/

แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ หวง เหวย เหว่ย https://www.facebook.com/cpgroupnews.. และใน website บริษัทเครือซีพี)

“คุณพ่อไม่เพียงแต่ส่งลูกๆ ไปเรียนในโรงเรียนไทย แต่ยังได้ส่งพวกเราไปเรียนในเมืองจีนด้วย ดังนั้น พี่น้องของผมทั้ง 12 คน จึงสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และหลังจากที่พวกเราได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นคุณพ่อ เรายังคงติดต่อกับชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลเรื่อยมา ซึ่งทำให้กิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขยายออกไปในทั่วประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเล” เปิดฉากด้วยภาพรวมกับอีกตอนอย่างสอดคล้องกัน

เรื่องเล่าซึ่งสะท้อนแนวคิดทางธุรกิจสำคัญ ถือเป็นจุดตั้งต้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หรือจุดตั้งธุรกิจครอบครัวที่มีความต่อเนื่องและทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมธุรกิจไทยในปัจจุบัน คงเป็นข้อความข้างล่างที่ยกมา

ถือเป็นเรื่องราวและแนวคิดที่น่าทึ่ง สะท้อนโมเดลธุรกิจเดียวกันกับบรรดาผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลกในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว

 

“ผักของแต้จิ๋วมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและรสชาติ แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์นี้ไปปลูกในต่างประเทศ จะสามารถปลูกได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาขยายเมล็ดพันธุ์แล้วนำไปปลูกซ้ำได้อีก ไม่เช่นนั้นคุณภาพและปริมาณผลผลิตจะลดลง ดังนั้น ในแต่ละปีต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ จากเมืองแต้จิ๋ว คุณพ่อเห็นว่านี่เป็นโอกาสในการค้าขาย จึงเริ่มคัดสรรเมล็ดพันธุ์ผัก และทำธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผัก โดยคุณพ่อตัดสินใจเลือกมาทำการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ธนินทร์ เจียรวนนท์ เล่าเรื่องอีกตอนสำคัญว่าด้วยการเริ่มต้นธุรกิจในสังคงไทย เชื่อว่าเป็นเรื่องราวที่ผ่านการค้นคว้า ไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี

“ประมาณปี พ.ศ.2462 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยและอาศัยอยู่กับญาติ สมัยนั้นรัฐบาลไทยสนับสนุนการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยจึงได้เข้ามาประเทศไทย ปัจจุบันลูกหลานชาวจีนในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 7,000,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ…ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก ท่านค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เมื่อได้เงินก้อนหนึ่งในปี พ.ศ.2464

คุณพ่อจึงเปิด “ร้านเจียไต๋จึง” ขึ้นบนถนนเยาวราช”

 

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการชาวจีนอพยพมาสู่แผ่นดินสยามนั้น เป็นบริบทที่น่าสนใจ เริ่มต้นครั้งใหญ่ครั้งแรกในช่วงสงครามฝิ่น (2383-2385) เมื่ออาณานิคมอังกฤษเข้ายึดครองแผ่นดินจีนตอนใต้ซึ่งมีท่าเรือสำคัญ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นฐานการค้าฝิ่นระดับภูมิภาค เป็นช่วงเวลานำความยากจนข้นแค้นสู่ประชาชนจีน ผลักดันให้เกิดอพยพครั้งใหญ่ สู่โพ้นทะเล ไม่ว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเชีย และไทย (อ้างจากหนังสือ The Penguin of History World โดย J M Roberts, 2000) ต่อมาอีกช่วง ขบวนการอพยพได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปีละประมาณ 2,000-3,000 คนในช่วงสงครามฝิ่น เพิ่มเป็นปีละ 16,000 คนในช่วงปี 2425-2435 และเพิ่มขึ้นอีกมากถึงปีละ 68,000 คนในช่วงปี 2449-2458 (อ้างอิงมาจากหนังสือ Capital Accomulation in Thailand 1855-1985 โดย Suehiro Akira,1996) ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อเนื่องเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ นำโดย ซุน ยัต เซ็น

ในเวลานั้นสังคมไทยอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 2-6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงเวลาราชอาณาจักรสยามดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอย่างคึกคักพอสมควร หนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 ของ Suehiro Akira (1996) บทที่ 3 The Rise of Capitalist Group 1855-1932 หรือปี พ.ศ.2389-2475 ให้ภาพนั้นไว้ สะท้อนภาพ 3 กลุ่มอิทธิพล

กลุ่มที่หนึ่ง บริษัทการค้าระบบอาณานิคม เป็นพลังอันน่าเกรงขาม เข้ามาดำเนินกิจการค้าทั่วไป ตั้งแต่ การเดินเรือ ตัวแทนธนาคารอาณานิคม โรงสี โรงเลื่อย ส่งออกข้าว-ไม้สัก และเหมืองแร่

กลุ่มที่สอง กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล ส่วนใหญ่เริ่มจากฐานะส่วนหนึ่งของระบบอาณานิคมและค่อยๆ พัฒนาก้าวขึ้นมามีกิจการตนเอง ในบางช่วงบางตอน อาณานิคมอ่อนแรงกลุ่มเหล่านี้ก็เติบโต

และ กลุ่มที่สาม โดยราชสำนัก โดยเฉพาะผ่านกรมพระคลังข้างที่ ดำเนินกิจการต่างๆ อย่างคึกคัก ทั้งดำเนินภายใต้การเริ่มของราชสำนักเอง ไปจนถึงการร่วมมือกับกิจการอาณานิคมและพ่อค้าเชื้อสายจีน ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะการก่อตั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ (ธนาคารไทยแห่งแรกในปี 2449) และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (กิจการอุตสาหกรรมแห่งแรก ปี 2456)

 

กรณีชาวจีนโพ้นทะเล กับการตั้งรากฐานธุรกิจในสยาม พอจะมีกรณีอ้างอิงเทียบเคียงกับตระกูลเจียรวนนท์ได้บ้าง คือตระกูลล่ำซำ ในฐานะชาวจีนโพ้นทะเลที่มีฐานะ ก้าวข้ามวิกฤตไปสู่แสวงหาโอกาสที่เปิดกว้าง ถือว่าเป็นผู้มาก่อน สามารถวางรากฐานธุรกิจในสยามไว้อย่างมั่นคง และสะท้อนบริบทสยามในภาพรวมด้วย

“อึ้งเมี่ยวเหงียน (2397-2456) เดินทางสู่สยามในต้นรัชกาลที่ 5 …คุณทวดโดยสารเรือเดินทะเลจากเมืองจีนมายังบางกอก คุณทวดก็น่าจะตั้งต้นจากเมืองซัวเถา ซึ่งรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอพยพของชาวจีนแคะและแต้จิ๋วมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านฮ่องกงแล้วจึงมาเทียบตรงที่กรุงเทพฯ ระยะแรกท่านได้เข้าทำงานในร้านขายเหล้าของชาวจีนแคะผู้หนึ่ง ซึ่งมีกิจการค้าไม้สักอยู่ด้วย …ยามว่างงานประจำก็เข้าไปช่วยดูแลในร้านขายไม้ ท่านจึงฝึกจนเชี่ยวชาญเรื่องไม้อย่างดี และหวังว่าจะได้ยึดอาชีพค้าไม้นี้ตั้งตัว ในที่สุดคุณทวดก็สามารถมีธุรกิจของตนเอง เปิดร้านขายไม้สักติดกับลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ ชื่อ “ก้วงโกหลง” (2444) และทำสัมปทานป่าไม้อยู่แถวจังหวัดนครสวรรค์กับแพร่” เรื่องเล่าของ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (จากหนังสือ “ชัชนี จาติกวณิช : ดั่งสายลมที่พัดผ่าน” วัลยา เรียบเรียง, สำนักพิมพ์มติชน, 2540) สมาชิกคนสำคัญในรุ่นที่ 4 ของตระกูลล่ำซำ

ในช่วงเวลานั้น (2480-2475) สัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อยและการส่งออกไม้สักถูกครอบงำโดยกิจการจากระบบอาณานิคมทั้งสิ้น อาทิ The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic Louis T.Leonowens Anglo-Siam ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเพียงรายเล็กๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของฝรั่ง ไม่ว่าโดยตรงและโดยอ้อม อิทธิพลของฝรั่งดำรงอยู่ต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกบ้าง ก็ยังคงอยู่จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยปี 2475

ขณะที่ธุรกิจครอบครัวตระกูลเจียรวนนท์ ในช่วงเวลานั้น คงเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ เงียบๆ ภายใต้ช่องว่างที่เปิดขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจอิทธิพลไม่ได้ให้ความสำคัญ เชื่อว่ายังคงธุรกิจขนาดเล็กอยู่นานทีเดียว เป็นช่องว่างช่วงประมาณ 2 ทศวรรษซึ่งไม่มีเรื่องราว เรื่องเล่าจากปาก ธนินท์ เจียรวนนท์ (ผ่าน “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History) หรือแม้กระทั่ง ประวัติทางการของเครือซีพี (http://www.cpgroupglobal.com/)

โดยเฉพาะเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ซึ่งมีความต่อเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกก่อนหน้านั้นซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก แม้กระทั่งสังคมไทย มาจนถึงการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของไทยตามแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม

 

จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง “เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้นในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ตัดขาดเส้นทางการเดินเรือจากไทยไปจีน ถึงกระนั้นคุณพ่อก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ย้ายไปอยู่ที่สาขาย่อยในมาเลเซีย แต่คาดไม่ถึงว่ามาเลเซียก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง คุณพ่อจึงออกจากประเทศมาเลเซียไม่ได้ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คุณพ่อจึงได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง” พอจะมีเรื่องเล่าอยู่บ้าง พอเห็นภาพความเป็นไปอย่างจำกัด (“บันทึกความทรงจำ”)

“ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยให้การสนับสนุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยอมรับตระกูลเจียรวนนท์ที่เป็นคนต่างถิ่นย้ายมาพำนัก และให้โอกาสในการทำมาหากินอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าในยุคหนึ่งประเทศไทยจะมีข้อขัดแย้งด้านการเมืองกับประเทศจีน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยขับไล่ชาวจีนโพ้นทะเลออกจากประเทศไทย และในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในประเทศจีน คุณพ่อของผมต้องสูญเสียกิจการที่ลงทุนในจีนไป แต่ที่เมืองไทยคุณพ่อของผมยังคงรักษากิจการของครอบครัวไว้ได้ นับว่าเป็นโชคดีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่คุณพ่อของผมเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย หากวันนั้นคุณพ่อเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน เราอาจไม่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เช่นในวันนี้” ข้อความตอนสำคัญ ธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งใจกล่าวถึง

อาณาจักรธุรกิจซีพีกับเรื่องราวยุคก่อตั้ง จุดเริ่มต้นจากเล็กๆ เงียบๆ แต่มีความหมาย ดำรงอยู่ยาวนานถึง 4 ทศวรรษ ก่อนก้าวเข้าสู่ขั้นใหม่ ยุคพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด