จิตต์สุภา ฉิน : เราไม่เคยล่องหนในยุคสมาร์ตโฟน แต่ถูกตามทุกฝีก้าว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนอย่างเราๆ มีแนวโน้มจะมองเห็นสมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่เราบังคับควบคุมทุกอย่างได้ทั้งหมด

เราใช้ให้โทร.ออกมันก็โทร.ออก ใช้เล่นเน็ตมันก็เชื่อมต่อให้ ไม่อยากใช้งานเมื่อไหร่ก็แค่ปิด

ทั้งหมดน่าจะเป็นสิ่งที่โทรศัพท์ต้องรอให้เราสั่งการก่อนถึงจะปฏิบัติตามนั้น

ดังนั้น เราจึงไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า สมาร์ตโฟนอาจจะแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเรา

อย่างเช่น ตำแหน่งที่อยู่ หรือประวัติว่าเราไปที่ไหนมาบ้างในแต่ละวัน

แล้วส่งออกไปให้บุคคลที่สามโดยที่เราไม่ได้ล่วงรู้เลย

เมื่อเร็วๆ มานี้ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างกูเกิลตกเป็นข่าวถูกผู้ใช้งานคนหนึ่งฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาว่ากูเกิลแอบติดตามตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ แม้ว่าผู้ใช้จะปิดการตั้งค่าประวัติตำแหน่งที่อยู่ หรือ Location History ไปแล้วก็ตาม

โดยรายละเอียดของการฟ้องร้องมุ่งไปที่การที่กูเกิลทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าการเข้าไปตั้งค่าและปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไปนั้นเพียงพอที่จะยกเลิกไม่ให้กูเกิลเก็บข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้

แต่ในความเป็นจริงกูเกิลก็ยังคงเก็บทุกความเคลื่อนไหวของผู้ใช้อย่างเงียบๆ ต่อไปอยู่ดี

สาเหตุที่กูเกิลจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะว่าต้องการทำให้ประสบการณ์การใช้งานเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น

อย่างเช่น การใช้กูเกิลในการเสิร์ช หากมีตำแหน่งที่อยู่ระบุไว้ก็อาจทำให้ผลลัพธ์การค้นหาตรงความต้องการมากขึ้น

หรือการใช้ตำแหน่งที่อยู่ในการบอกเส้นทางการขับรถให้ได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

ซึ่งการที่กูเกิลจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปก็ไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตายอะไรถ้าหากเจ้าของข้อมูลรู้เห็นเป็นใจอยู่แล้ว และรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะหยุดให้ความยินยอมเมื่อไหร่ก็ได้

แต่เมื่อได้รู้ว่าสิทธินั้นไม่ได้เป็นของเราจริงอย่างที่คิด จึงนำไปสู่การฟ้องร้องและการสืบสวนคดีกันต่อไป

 

อันที่จริงเรื่องการถูกโทรศัพท์ติดตามตำแหน่งแห่งหนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนยุคสมาร์ตโฟนเสียด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปกว่าสิบปีที่แล้วในยุคที่โทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราตอนนั้นเราก็ถูกติดตามตัวได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่าจีโอโลเกชั่น

โทรศัพท์ของเราเชื่อมต่อเข้ากับเสาสัญญาณท้องถิ่น ซึ่งการหารัศมีของสัญญาณอย่างน้อยสามเสาแล้วดูว่าวงกลมทับกันที่จุดไหนก็จะทำให้สามารถระบุพิกัดของเราได้

ซึ่งก็แปลว่าใครก็ตามที่ใช้โทรศัพท์มือถือก็ไม่สามารถปิดบังตำแหน่งที่อยู่ของตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

เมื่อมาถึงยุคของสมาร์ตโฟน คราวนี้การติดตามตัวใครสักคนยิ่งทำได้ง่ายกว่าเก่า ผ่าน “จีพีเอส” ที่เราเรียกชื่อกันจนติดปากนั่นแหละค่ะ

จีพีเอส หรือ Global Positioning System ที่ใช้สัญญาณดาวเทียมช่วยระบุพิกัด ถูกนำไปใส่ไว้ในสมาร์ตโฟนทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ

รู้ตัวอีกที แอพพลิเคชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์ของเราต่างก็ใช้จีพีเอสในการระบุพิกัดเพื่อใช้งานในจุดประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแผนที่นำทาง การใช้บริการสั่งอาหารให้มาส่ง บริการหาคู่เดต เล่นเกม ฯลฯ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเล่นเกมก็คือเกม Pokemon Go ที่ใช้ตำแหน่งที่อยู่จริงๆ ของเรา เพื่อให้เราจับโปเกมอนที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ จำได้ไหมคะว่าแม้ว่าเกมจะได้รับความนิยมสูงมาก แต่ในตอนที่คนยังเห่อเล่นกันทั่วโลกก็เกิดความเป็นห่วงขึ้นมาว่าการใช้สถานที่จริงเข้าไปผนวกในเกมแบบนี้จะทำให้ผู้เล่นเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ที่อันตรายได้

สำนักข่าวเอเอฟพีบอกว่าแอพพลิเคชั่นจำนวนมากนิยมใช้จีโอโลเกชั่นเพราะนี่เป็นหนทางในการที่จะสร้างรายได้ที่งดงาม

อย่างเช่น เวลานักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ไหนสักแห่งแล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาหาข้อมูล

จีโอโลเกชั่นก็จะช่วยให้บริษัทโฆษณารู้ว่านักท่องเที่ยวคนนั้นอยู่ที่ไหน และสามารถยิงโฆษณาที่เกี่ยวข้องไปให้เห็นได้แบบประชิดติดลูกกะตา “เมืองที่คุณอยู่มีสวนสนุกน่าเที่ยวนะ” หรือ “ถนนที่คุณกำลังยืนอยู่มีร้านอาหารท้องถิ่นร้านหนึ่งที่อร่อยมากและได้รับคะแนนรีวิวสูงลิ่ว ลองไปชิมดูสิ”

อะไรแบบนี้เป็นต้น

 

ผลการศึกษาจาก CNIL ระบุว่า ในปี 2017 กว่า 3 ใน 4 ของแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ใส่แทร็กเกอร์เข้าไปเพื่อใช้ในการโฆษณา ซึ่งการศึกษาเดียวกันนี้ยังค้นพบด้วยว่าแอพพลิเคชั่นบางแอพพ์ติดตามตำแหน่งที่อยู่ของโทรศัพท์มากกว่าหนึ่งล้านครั้งภายในระยะเวลาสามเดือน หรือเรียกดูข้อมูลโลเกชั่นกันถี่ขนาดนาทีละครั้งเลยทีเดียว

โอ้โห ถี่ขนาดนี้ มาสิงร่างกันเลยดีไหมอ่ะ

ที่ตลกก็คือเอเอฟพีเสริมว่า แอพพ์ที่ต้องใช้โลเกชั่นในการทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่มันจะมีบางแอพพ์ที่ไม่รู้ว่าจะใส่ตัวจับตำแหน่งผู้ใช้งานเข้าไปด้วยทำไม

อย่างเช่น แอพพลิเคชั่นไฟฉายที่อุตส่าห์ไปทำให้โทรศัพท์ส่งโลเกชั่นผู้ใช้งานกลับมาให้ด้วย อันนี้น่าจะเข้าข่ายคิดไม่ซื่อแล้ว

ย้อนกลับมาที่กูเกิล ผู้ใช้งานแผนที่ของกูเกิลบางคนอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการเก็บโลเกชั่นหรือสถานที่ที่เราเดินทางไปนั้นมันละเอียดจนน่ากลัวขนาดไหน

ลองกดเข้าไปดูในแอพพ์ได้นะคะ เราจะเห็นไทม์ไลน์ของเราอย่างละเอียด ว่าวันไหน เวลาไหน เราเดินทางไปที่ไหนบ้าง เราอยู่ที่นั่นนานเท่าไหร่ และเราเดินทางไปอีกที่หนึ่งด้วยการคมนาคมขนส่งแบบไหน

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อประกอบกันเข้าหลายๆ วัน มันจะกลายเป็นแพตเทิร์นหรือรูปแบบชีวิตของเราที่ทำให้ง่ายต่อการคาดเดาต่อไปได้ว่าวันไหน เวลาไหน เราจะอยู่ที่ไหน

ลำพังแค่ให้แฟนรู้ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ก็น่าเสียวสันหลังพอแล้ว

ไม่อยากจะคิดว่าหากข้อมูลตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพจะก่อให้เกิดความเสียหายอะไรได้บ้าง

 

หากมีคำถามว่าแล้วทำไมกูเกิลจะต้องอยากเก็บข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้งานไปเยอะๆ ด้วยล่ะ เก็บไปแล้วจะได้อะไร คำตอบก็คือ เราต้องไม่ลืมว่ากูเกิลเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้จากการโฆษณาค่ะ การที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดก็จะนำไปสู่รายได้ค่าโฆษณาที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น สำหรับบริษัทอย่างกูเกิลหรือเฟซบุ๊กแล้ว ข้อมูลของผู้ใช้นับเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่า ยิ่งข้อมูลละเอียด ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทโฆษณาเพราะสามารถใช้ในการระบุกลุ่มลูกค้าได้แบบแคบ เจาะลึก ตรงกับความต้องการมากขึ้น

อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่กูเกิลจะเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอย่างเราไปปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัททำงานได้ดีขึ้น

เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้กูเกิลเข้ามาพัวพันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราชนิดแกะแงะไม่ออกไปแล้ว

การตกลงใช้งานสินค้าและบริการของกูเกิลก็คือการที่เรารับรู้อยู่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

แต่ในกรณีนี้ผู้ใช้งานเพียงขอให้ทุกอย่างแจ่มชัด โปร่งใส ไม่สลับซับซ้อน เปิดคือเปิด ปิดคือปิด เท่านั้น

ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขให้รายละเอียดจุดนี้หายคลุมเครือได้ กูเกิลก็อาจจะเดินตามรอยเฟซบุ๊กไปสู่ความโกลาหลอย่างในกรณีของแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกรู้สึกว่าข้อมูลส่วนตัวไม่ปลอดภัยภายใต้การดูแลของเฟซบุ๊ก

บทเรียนที่เราได้ในฐานะของผู้ใช้งานก็คือการไม่ด่วนเชื่อทุกอย่างที่บริษัทเทคโนโลยีบอก ตั้งข้อสมมุติฐานของตัวเอง และคอยสังเกตว่าอุปกรณ์ของเราทำตามคำสั่งของเราหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่ ถ้าไม่ เราจะส่งเสียงของเราออกไปดังๆ ได้ทางไหนบ้าง

ส่วนข้อมูลตำแหน่งอันแสนจะมีพิรุธของเราจะหลุดไปอยู่ในมือของคนใกล้ตัวให้ได้ทะเลาะกันบ้านแตกหรือไม่ อันนี้ก็ต้องดูแลตัวเองกันเอาเองค่ะ