เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (18) ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก

ที่จริงต้องพูดว่า ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” เป็นรูปแรก จึงจะถูก เพราะการบวชโดยพระสงฆ์เป็นผู้กระทำให้ ก่อนหน้านั้นมีมาแล้ว แต่เป็นการบวชโดยวิธีอื่น

สมัยต้นๆ พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่รับผู้เข้ามาบวชด้วยพระองค์เอง การรับเข้าไม่มีพิธีรีตองอะไร เพียงตรัสสั้นๆ (ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัต) ว่า “จงมาเป็นภิกษุ เพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (เอหิ ภิกฺขุ ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย) และ (ถ้าเป็นพระอรหันต์ หลังฟังธรรมจบ) ว่า “จงมาเป็นภิกษุเถิด” (เอหิ ภิกฺขุ) วิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุ อุปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยตรัสว่าเอหิภิกขุ)

ต่อมามีกรณีเจ้าชายราหุลอายุประมาณ 7-8 ขวบ มาขอ “ทายัชชะ” (แปลกันว่าขุมทรัพย์) พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์จะประทานอริยทรัพย์ให้ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรทำการบวชแก่เจ้าชายราหุล วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “ติสรณคมนูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์)

การบวชแบบนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์นำไปบวชให้แก่กุลบุตรผู้มาขอบวชด้วย ต่อมาการบวชแบบนี้นำมาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น

ต่อมามีพราหมณ์ สว. (สูงวัย) คนหนึ่งมาขออาศัยพระอยู่ เกิดอยากบวชขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์จัดการบวชให้

พราหมณ์คนนี้ชื่อราธะ ตะแกมิใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก หากเป็นคหบดีชาวเมืองราชคฤห์ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย มีหุ้นซุกไว้ที่โน่นที่นี่มากมาย ว่าอย่างนั้นเถอะ

แกมีบุตรหลายคน เมื่อบุตรเจริญเติบโตก็จัดการให้มีเหย้ามีเรือนกันหมดทุกคน แรกๆ บุตรภรรยาก็ดูแลดี ต่อมา พวกเขาไม่สนใจไยดีเท่าที่ควร จึงน้อยใจตามประสาคนแก่ เอ๊ย คนสูงอายุ จึงไปขออยู่ที่วัด อาศัยข้าวก้นบาตรจากพระยังชีพ แกก็ช่วยปัดกวาดบริเวณวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปรนนิบัติพระตามกำลังสามารถ

พราหมณ์อาวุโส (ผมพยายามเลี่ยงคำว่าแก่ เพราะคนวัยผู้เขียนคอลัมน์นี้ไม่ค่อยชอบฟัง) อยากบวชขอบวช พระท่านไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป (เอาเข้าจนได้ ฮิฮิ) จะบำเพ็ญสมณกิจไม่ไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์ก็ไม่ท้อถอย

ตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อท่านจะเห็นใจอนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกที่จะไปโปรดด้วยพระญาณ ในค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์คนนี้มีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่ที่แกอยู่ ตรัสถามว่า ราธะ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่

“มารับใช้พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า”

“เธอต้องการอะไรจึงมารับใช้พระสงฆ์”

“ต้องการอุปสมบท พระพุทธเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ไม่บวชให้”

พระพุทธเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักราธพราหมณ์คนนี้บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตรเธอรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำ เธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรองให้พราหมณ์บวช ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรม”

การบวชแบบนี้ ต้องมีอุปัชฌาย์ มีกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) มีอนุสาวนาจารย์ (ผู้ให้อนุศาสน์หรือสั่งสอน) มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นคณะปูรกะ (พระสงฆ์ร่วมทำพิธี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “พระอันดับ”)

 

ในการบวชนี้ จะต้องมีการซักถามว่ามีคุณสมบัติครบบวชไหม แล้วท่านจะเสนอประชุมสงฆ์ (ข้อเสนอว่า ท่านผู้นี้อยากบวช ได้ซักถามแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วน พระสงฆ์เห็นอย่างไร จะให้บวชไหม) ข้อเสนอนี้เรียกว่า “ญัตติ”

เมื่อพระสงฆ์ไม่มีใครคัดค้าน พระคู่สวดก็จะสวดกรรมวาจา (สวดทำพิธีกรรม) 3 ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธีการบวชโดยพระสงฆ์

สวดกรรมวาจา 3 ครั้ง กับ ญัตติ 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งพอดี จึงเรียกการบวชแบบนี้ว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลตามตัวอักษรว่า “การอุปสมบทด้วยกรรมวาจาอันมีญัตติเป็นที่สี่” หมายความว่า สวดทำพิธีสามครั้ง รวมกับข้อเสนอ (ญัตติ) ครั้งหนึ่ง เป็นสี่

การบวชด้วยวิธีนี้ พระสงฆ์กระทำแก่พระราธะเป็นรูปแรก ด้วยประการฉะนี้แล หลังจากมีพิธีบวชแบบนี้เกิดขึ้น การบวชแบบให้รับไตรสรณคมน์ ที่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กระทำมาก่อนหน้านี้ได้ยกเลิก ให้เอามาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น ในเวลาต่อมา

ต่ออีกนิด พระหลวงตารูปนี้ เป็นคนว่านอนสอนง่ายมาก จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นผู้ว่าง่ายไม่ถือตัวว่าเป็นผู้อาวุโส มีประสบการณ์ มีความรู้มาก

พูดสั้นๆ ว่า ไม่ใช่คนประเภทตวาดคนอื่นแว้ดๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ