ด่ากันสนั่นเมือง! ปรับใบขับขี่ 50,000 บาท “ประยุทธ์” สั่งถอย กลัว “ไทย(ไม่)นิยม”

ดราม่าสนั่น!! ไปทั่วบ้านทั่วเมือง

บางคนถึงกับถ่ายเอกสารใบขับขี่ขนาดใหญ่แปะไว้หน้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ของตัวเอง

พฤติกรรมแสดงออกถึงการประชดเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากกรมการขนส่งทางบกเสนอปรับปรุงกฎหมายควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่โดยการเสนอให้ปรับเพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่พก หรือใบขับขี่หมดอายุ

เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน

และให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ

แต่เมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

โดยเฉพาะเรื่องอัตราโทษปรับที่มีเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายสิบเท่า

ถกเถียงกันจนไฟลุก โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

มีการเสนอแก้ไขเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนด้วย

ประเด็นสำคัญคือกรณีขับขี่รถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปัจจุบันปรับไม่เกิน 1,000 บาท ปรับเพิ่มเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

 

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกมา แรงเสียดทานจากสังคมสะท้อนกลับอย่างรุนแรงทันที

เสียงคัดค้านดังกระหึ่ม โดยเฉพาะจากสังคมโซเชียลมีเดีย ที่เห็นว่าอัตราโทษปรับนั้นสูงจนเกินไป หากถูกจับคงไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

บางคนถึงกับบ่นในโซเชียลมีเดียว่าหากถูกจับก็คงจะให้ยึดรถจักรยานยนต์ไปเลย

และยังวิจารณ์กันอีกว่า โทษปรับสูงขนาดนี้อาจเปิดช่องให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเรียกรับสินบนหรือไม่

จากการสำรวจความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ก็พบว่ามีการแชร์ต่อข้อความขอคัดค้านกรณีเพิ่มโทษนี้จำนวนมาก

โดยเห็นว่าเป็นการเปิดช่องว่างรีดไถเงินจากคนจน

แต่ก็มีเสียงจากสังคมอีกบางส่วนที่เห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายนี้ แต่ขอให้พิจารณาทบทวนในส่วนอัตราโทษปรับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

ด้านนายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ใช้รถใช้ถนนเช่นกัน โดยความคิดเห็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความใดๆ โดยส่วนตัวนายศรีอัมพรมองว่ากฎหมายนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 มีใบขับขี่แต่ไม่ได้พก เห็นว่าส่วนนี้ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง บางคนเขาอาจจะลืมก็ได้ และเมื่อเขามีใบขับขี่แสดงว่าเขาผ่านการทดสอบทั้งทางทฤษฎีและข้อเขียนมาแล้ว มีความสามารถที่จะขับรถได้ แต่หากไม่พกใบขับขี่มามันจะเป็นเรื่องความไม่สะดวกในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มากกว่า

และส่วนที่ 2 คือไม่มีใบขับขี่ เห็นว่าส่วนนี้คือบุคคลที่ไม่มีใบขับขี่ ก็สามารถสันนิษฐานได้เลยว่าบุคคลเหล่านี้ไม่มีความชำนาญและไม่ได้รับการอบรมหรือทดสอบจากกรมการขนส่งทางบกที่จะควบคุมรถได้

ยกตัวอย่างที่ต่างประเทศ หากไม่มีใบขับขี่แต่ออกมาขับรถตามท้องถนนถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนเกิดความสูญเสียกับผู้ร่วมทางได้ ในบางประเทศถือว่ากรณีแบบนี้คือการเจตนาฆ่ากันเลยทีเดียว

ส่วนตัวจึงเห็นด้วยในการปรับปรุงกฎหมายเฉพาะส่วนนี้

และตั้งข้อสังเกตว่า หากอัตราโทษปรับที่สูงจนเกินไปอาจเกิดกระบวนการตัดตอนโดยการให้ทรัพย์สิน หรือเรียกรับทรัพย์สิน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้

 

ขณะที่สวนดุสิตโพลก็ได้เผยแพร่ผลสำรวจในหัวข้อที่ว่า “ประชาชนคิดอย่างไร? กับการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของรัฐบาล” ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง กรณีรัฐบาลเตรียมเสนอ สนช.แก้ไขกฎหมายจราจรเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิด เช่น ไม่มีใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่แล้วไม่พก ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยมีตัวเลขสูงถึง 53.71%

โดยเห็นว่ากรณีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และปัญหาจราจรมีมายาวนาน เกิดจากความประมาท การขาดวินัย ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ดี

และมีตัวเลขเพียง 23.41% ที่เห็นว่ากรณีนี้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ เพราะจะทำให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวกฎหมาย

 

ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ กระแสวิจารณ์ประเด็นนี้แรงไม่มีตก ฝ่ายคัดค้านก็ยังคงเดินหน้าส่งแชร์ต่อข้อความไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายดังกล่าวในประเด็นค่าปรับว่าจะลดปัญหาจราจรได้อย่างไร

ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยก็ออกมาตอบโต้ว่าหากมีใบขับขี่อยู่แล้วจะไปกลัวอะไร

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็เดินหน้าผลักดันกฎหมายนี้ สลับกันออกมาทั้งตั้งโต๊ะแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทั้งฝ่ายกรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการจราจรโดยตรง ชี้แจงว่ากฎหมายนี้ปรับปรุงให้เกิดความทันสมัย

สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากมีบุคคลที่ไม่มีใบขับขี่กว่า 10 ล้านคน และประเทศไทยยังเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับหนึ่ง

การปรับแก้กฎหมายให้มีอัตราโทษที่สูงขึ้นก็เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และทัดเทียมมาตรฐานสากล

พร้อมนำข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยออกมายืนยันถึงกลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาต เฉพาะกรณีรถจักรยานยนต์ พบว่ามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า

ส่วนที่หลายคนมองว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเรียกรับสินบน ผบ.ตร.ก็ได้ออกคำสั่งทันทีให้ตำรวจจราจรทุกนายเปิดหน้าให้ประชาชนได้ยลโฉมเวลาเจรจากัน ห้ามปิดหน้าเป็นตำรวจนินจา เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่

และกฎหมายนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่มีการบังคับใช้

 

แต่ทว่าการเดินหน้าของฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาชี้แจงต่อประชาชนเพื่อผลักดันกฎหมายนี้ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องเหยียบเบรกกันกะทันหัน จนเมื่อล่าสุด บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาประกาศลั่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษเกี่ยวกับใบขับขี่ และการแก้กฎหมายนี้เป็นความคิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ และขอให้มองกันหลายๆ มุม ยังไม่อนุมัติอะไรทั้งสิ้น

“ประเด็นนี้ก็ต้องหารือกันต่อไป ต้องมองกันในหลายๆ มุม อย่าไปขัดแย้งอะไรกัน ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่าวันนี้ผมยังไม่อนุมัติอะไรทั้งสิ้น วัตถุประสงค์มีหลายอย่างด้วยกัน แต่ไม่ใช่หลายอย่างที่ในโซเชียลเอามาโพสต์กัน อย่าสร้างความเข้าใจผิดๆ แบบนี้ให้ประชาชน เพราะไม่เช่นนั้นในวันข้างหน้าการแก้ปัญหาจะไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องอาศัยกฎหมาย ความเหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไร สำหรับผมยังไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ ก็ต้องหารือกันต่อไป ต้องมองกันในหลายๆ มุม อย่าไปขัดแย้งอะไรกัน ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่าวันนี้ผมยังไม่อนุมัติอะไรทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศไม่เห็นด้วย กรมการขนส่งฯ ก็ยอมถอยไปตั้งหลักกันใหม่

โดยนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่าจะนำร่างกฎหมายนี้กลับไปแก้ไข ทบทวน หารือกับหน่วยงานกลางที่มีส่วนร่วมในการร่วมออกและใช้กฎหมายให้รอบคอบก่อน

เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ให้มีความสอดคล้องกับรัฐบาล

โดยเฉพาะประเด็นบทลงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเป็นวงกว้างว่าอัตราโทษปรับสูงเกินไป

 

หากมองย้อนกลับไปในอดีตไม่นานมานี้ จะรู้สึกคุ้นๆ ไหมว่า การปรับแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษเกี่ยวกับใบขับขี่นั้น มีความคล้ายคลึงกับการเข้มงวดกฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ที่มีกฎหมายอยู่แล้ว แต่มาเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2560

จนเกิดกระแสเสียดทานรุนแรงจากประชาชนที่วางแผนการเดินทางกลับภูมิลำเนาและไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัด จนภาครัฐใส่เกียร์ถอยหลังกันแทบไม่ทัน

สองเรื่องนี้ดูแล้วจะคล้ายๆ กันอยู่ เมื่อประชาชนเกิดกระแสโต้กลับและวิจารณ์เป็นวงกว้างจนร้อนระอุ เรื่องนี้ก็จะค่อยๆ เงียบหายไป

เช่นเดียวกับเรื่องแก้ไขโทษใบขับขี่

ที่ต้องรอดูว่าจะได้ผลสรุปออกมาอย่าง “ไทยนิยม” อย่างไร