หนุ่มเมืองจันท์ : คิดแบบ “แชมเปี้ยน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมไม่เคยรู้จัก “สุรชัย พุฒิกุลางกูร” มาก่อน

จนวันหนึ่ง “อู๋” วีรยุทธ ล้อทองพานิชย์ โปรดิวเซอร์มือทองของวงการโฆษณาเชิญเขามาพูดช่วงสั้นๆ ในหลักสูตร ABC

แค่เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง “สุรชัย” ก็ทำให้ผมอึ้ง

คำถามแรกในใจของผมก็คือ “คุณไปอยู่ที่ไหนมา”

ทำไมผมไม่รู้จัก

แต่วินาทีต่อมาผมเปลี่ยนคำถามใหม่

“กรูไปอยู่ที่ไหนมา”

ทำไมถึงไม่รู้จัก “สุรชัย พุฒิกุลางกูร”

เพราะเขาเป็น Illustrator อันดับ 1

ไม่ใช่ของเมืองไทย

แต่เป็นมือ 1 ของโลก

ถึงวันนี้เขาครองอันดับ 1 ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 6 ครับ

จากนั้นเป็นต้นมา “สุรชัย” ก็กลายเป็นวิทยากรประจำหลักสูตร ABC

เขาไม่ใช่คนที่เก่งในสายงานของเขาเท่านั้น

แต่ยังเป็น “นักคิด” ที่เฉียบคมมาก

ถ้าใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ “สุรชัย” จะรู้เลยว่าคนคนนี้ช่างคิดจริงๆ

เขาวางแผนชีวิตและคิดตลอด

มุมคิดของเขาคมมากครับ

แนะนำให้ไปอ่านสัมภาษณ์เก่าๆ ของ “สุรชัย”

เรื่องหนึ่งที่ผมเคยเขียนถึง เป็นตอนที่เขาเล่าบนเวที

ทฤษฎี “แม่น้ำเปลี่ยนทิศ”

เป็นมุมที่เขาได้จากตอนเป็นเด็ก

พ่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง วางแผนว่าจะทำโรงน้ำแข็ง

โรงน้ำแข็งต้องใช้ “น้ำ”

ที่ดินแปลงนี้จึงอยู่ริมแม่น้ำครับ

แต่เมื่อเขาโตขึ้น ที่ดินแปลงนี้กลับทำโรงน้ำแข็งไม่ได้แล้ว

เพราะไม่ได้อยู่ติดน้ำ

“แม่น้ำ” เปลี่ยนทิศครับ

ที่ดินแปลงเดิม แต่ทางน้ำเปลี่ยนไป

“สุรชัย” สอนว่าทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ให้ถามว่า “น้ำขึ้น-น้ำลง”

หรือ “แม่น้ำเปลี่ยนทิศ”

ถ้าเป็นสถานการณ์ “น้ำลง” เช่น เศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้

พอถึงเวลาหนึ่งเศรษฐกิจดีหรือ “น้ำขึ้น”

ยอดขายก็จะกลับมา

แต่ถ้า “แม่น้ำเปลี่ยนทิศ” เช่น จากฟิล์มไปสู่กล้องดิจิตอล

ถ้ายังทำฟิล์มเหมือนเดิม

อย่างไรก็ขายไม่ออก

ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่

คมมาก…

ปีนี้ “สุรชัย” บรรยายจบก่อนเวลา

จึงมีเวลา “ถาม-ตอบ”

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนที่เป็นแชมป์มา 6 ปีแล้วไม่เบื่อบ้างหรือ

“สุรชัย” บอกว่า ตอนที่ได้รางวัลครั้งแรก

มันคือ “รางวัล”

แต่ครั้งต่อไปคือ การสร้างแบรนด์

บอกให้ลูกค้าทุกคนรู้ว่าใครอยากได้รางวัลให้ใช้บริษัทอิลลูชั่นของเขา

ถามถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการทำงาน

เพราะคนที่เป็นแชมป์มา 6 ปีแล้ว

น่าจะถึงเวลาไปหา “ดินแดนใหม่” ที่ท้าทาย

แต่ “สุรชัย” ไม่เห็นด้วย

เขามองเรื่อง comfort zone ในอีกมุมหนึ่ง

ในขณะที่คนชอบพูดว่าเราต้องกล้าออกจาก comfort zone

ออกจากพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายๆ

เพราะถ้าไม่ออกมา เราจะไม่พัฒนาตัวเอง

ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่

“สุรชัย” บอกว่า ใครอยากจะออกก็ออกไป

แต่เขาไม่ออก

มีแต่จะเพิ่มคุณภาพของ comfort zone ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

เขาเลือกทำงานใน comfort zone เพราะเป็นพื้นที่ที่เขามีความสุขที่สุด

ศิลปะการใช้ชีวิตของ “สุรชัย” คือการเลือกตัดคำว่า “ไม่”

อะไรที่ไม่ชอบ เขาตัดทิ้ง

“สุรชัย” เคยเล่าว่าตอนที่อยู่ญี่ปุ่น เขาใฝ่ฝันจะเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์

จนวันหนึ่งได้เจอกับ “คัตซุมิ อะซะบะ” ซึ่งเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่เขาชอบ

“อะซะบะ” ถามเขาว่า ทำไมไม่เป็นอิลลัสเตรเตอร์

มาเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ทำไม

ในมุมคิดของ “สุรชัย”

“อาร์ตไดเร็กเตอร์” ใหญ่กว่า

ทำไมมาลดชั้นเขา

“อะซะบะ” บอกว่า เขาฝีมือดีมาก สามารถทำงานที่ญี่ปุ่นได้เลย

แต่ถ้าจะเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์

“สุรชัย” จะต้องเรียนรู้ใหม่

และเขาต้องทำงานกับลูกค้าและนักการตลาด

ซึ่งพูดคนละภาษากับเขา

ไม่เหมือนอิลลัสเตรเตอร์ที่จะทำงานกับอาร์ตไดเร็กเตอร์

ที่พูดภาษาเดียวกัน

คือ “ภาษาศิลปะ”

ดังนั้น เมื่อเขาชอบทำงานสร้างสรรค์ ชอบคิด

เขาก็ตัดทอนเรื่องการบริหารคนให้เป็นไปในแบบที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยให้เหลือน้อยที่สุด

มีคนที่ขึ้นตรงกับเขาเฉพาะคนที่ทำงานกันมานาน

เข้าใจกันดี

ไม่ต้องพูดมาก

ไม่ต้องจูนเครื่องกันใหม่

ตัดทุกอย่างออก เหลือแต่สิ่งที่เขารักที่สุด

“ตอนนี้ผมมีความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่รัก”

เขาจึงเลือกอยู่ใน comfort zone

วิธีคิดเรื่องการทำธุรกิจของ “สุรชัย” ก็แปลก

เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Aday ถึงหนังเรื่องหนึ่ง

“อเล็กซานเดอร์มหาราช”

ทหารถามอเล็กซานเดอร์ว่า “ท่านบอกว่าถ้าเราตีเมืองได้กว้างใหญ่ไพศาลแล้วจะให้ผมอยู่กับลูกกับเมีย

ผมร่วมทำสงครามกับท่าน ผมก็ยังไม่ได้อยู่กับลูกเมียสักที”

“สุรชัย” บอกว่า เขาดูฉากนี้แล้วสะเทือนใจมาก

เพราะบางครั้งเราคิดถึงเป้าหมายของตัวเองจนลืมคนอื่น

“อเล็กซานเดอร์” คิดแต่จะขยายอาณาจักร

ยิ่งรบชนะ ยิ่งมีความสุข

เขานึกถึงแต่ตัวเอง

ไม่ได้นึกถึงความรู้สึกของทหาร

คำถามแห่งชีวิตของ “สุรชัย” จึงเกิดขึ้น

“คุณต้องการอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลหรือต้องการชีวิต”

ช่วงหลังๆ บริษัทอิลลูชั่นของเขากำไรน้อยลง

เพราะเขาต้องการดูแลพนักงานให้มีความสุขมากขึ้น

เมื่อพนักงานมีความสุข

เขาก็จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดี

“สุรชัย” บอกว่า เมื่อปีที่แล้วมีคนถามเมสซี่ว่าใครควรได้รางวัลบัลลงดอร์

“บัลลงดอร์” คือรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปี

“เมสซี่” ชี้ไปที่ “อีเนียสต้า” มิดฟิลด์อัจฉริยะของทีมบาร์เซโลนาในยุคนั้น

คนที่ส่งบอลให้เขาทำประตู

“เหรียญทองโอลิมปิกเห็นเล็กๆ แค่นั้น แต่เรายกคนเดียวไม่ไหวหรอก”

ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ “ทีม”