วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (6)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ตัวอย่างที่ยกมานี้จะเห็นคติความเชื่อของชาวจีนได้หลายชั้น

ชั้นแรก เป็นเรื่องความกตัญญูและความซื่อสัตย์ ที่เห็นได้ชัดว่าตัวละครองค์ชายไม่มีเลยแม้แต่น้อย โดยในเรื่องความกตัญญูนั้นองค์ชายผู้นี้ได้บีบให้พระบิดาของตนที่มียศเทียบเท่าชั้นกษัตริย์ให้ทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อที่ตนซึ่งเป็นบุตรเพียงคนเดียวจะได้สืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไป

ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ก็เห็นได้ว่า องค์ชายผู้ซึ่งตระกูลได้รับอภิสิทธิ์ให้อยู่เหนือกฎหมายนั้น แทนที่จะวางตนให้ดีก็กลับทำแต่เรื่องโฉดชั่ว เป็นต้น

ในชั้นต่อมา เป็นคติความเชื่อของชาวจีนเรื่องสวรรค์ ความเชื่อนี้ดำรงอยู่มานานหลายพันปีในสังคมจีน และที่เกี่ยวข้องกับละครในตอนที่ยกมาเป็นตัวอย่างก็คือความเชื่อนี้ ที่ว่าหากแม้นคนชั่วจะรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจรอดพ้นเงื้อมมือของสวรรค์ไปได้อยู่ดี

ส่วนสวรรค์จะลงโทษได้จริงหรือไม่นั้น ก็สุดแท้แต่เวรแต่กรรมของสัตว์โลก

จะเห็นได้ว่า การผูกเรื่องที่ไม่อิงกับเหตุการณ์จริงในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่อิงโดยอ้อมกับคติความเชื่อที่ดำรงอยู่จริงนี้นับเป็นอีกสีสันหนึ่งของละครชุด เปาบุ้นจิ้น

การผูกเรื่องเช่นนี้ถือจึงเป็นเรื่องปกติของการสร้างละครหรือหนังที่เราดูตามโรง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างผลสะเทือนทางอารมณ์ให้กับผู้เสพได้ประทับใจไม่รู้ลืม

และถ้าส่งผลให้ผู้เสพได้คิดตรึกตรองในทำนอง “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” ได้ด้วยแล้วก็ยิ่งถือเป็นความสำเร็จของงานแสดงนั้นไม่น้อยเลยทีเดียวบ้างไม่มากก็น้อย

การสร้างแบบนี้จึงถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งไปโดยปริยายด้วยเหตุฉะนี้

 

ในส่วนที่เป็นการผูกเรื่องขึ้นใหม่โดยไม่อิงกับเหตุการณ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่อิงกับคติความเชื่อที่มีมานานนั้น คงกล่าวได้เพียงเท่านี้ ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปคือ เรื่องจริงในอีกบางด้านของเปาเจิ่งที่มีทั้งที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับละครชุด เปาบุ้นจิ้น

ประเด็นแรกสุดคือ ชื่อที่ใช้เรียกขานที่นอกจากชื่อเปาเจิ่งแล้วก็ยังมีชื่ออื่นที่เป็นเสมือนกับสมญานามของขุนนางผู้นี้

เริ่มจากชื่อที่ให้ความหมายอย่างมีนัยสำคัญก็คือชื่อที่จักรพรรดิซ่งเหญินจงพระราชทานให้แก่เปาเจิ่ง ชื่อนี้คือ เซี่ยวซู่ คำว่า เซี่ยว หมายถึง กตัญญู ส่วนคำว่า ซู่ หมายถึง เคารพ เคร่งขรึม โอ่อ่าน่าภูมิฐาน เกียรติภูมิ เกรงขาม เป็นต้น

คำในความหมายหลังออกจะกว้างขวาง การที่จะให้ความหมายแก่ชื่อนี้จึงต้องดูจากความเป็นจริงในชีวิตของเปาเจิ่งประกอบไปด้วย

หากพิจารณาในแง่ที่ว่าแล้ว ความหมายของคำหลังน่าจะตรงกับความเคร่งขรึมกับความน่าเกรงขามประกอบกัน ด้วยตรงกับชีวิตจริงของเปาเจิ่งมากที่สุด ดังนั้น หากว่าตามความหมายที่ว่าแล้ว ชื่อที่เป็นเสมือนสมญานามพระราชทานคือ เซี่ยวซู่ นี้ก็พอจะแปลได้ว่า ผู้ทรงความกตัญญูที่น่าเกรงขาม

ชื่อหรือสมญานามตามความหมายข้างต้นหากไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ทั้งนี้เพราะเมื่อดูจากสมญานามอื่นๆ ของเปาเชิ่งที่ผู้คนเรียกขานกันแล้ว ก็เห็นว่ามีความหมายไปในทางนั้น โดยสมญานามที่ผู้อื่นตั้งให้มีอยู่อย่างน้อย 2 สมญา

สมญาหนึ่งคือ เถี่ยเมี่ยนอู๋ซือ

คำใน 2 พยางค์แรกแปลตรงๆ ว่า หน้าเหล็ก

ส่วน 2 พยางค์หลังแปลตรงๆ ไม่ได้เหมือน 2 พยางค์แรก แต่พอแปลให้ได้ความหมายว่า ผู้มีแต่ความเที่ยงธรรมและไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง

ในที่นี้จึงขอแปลสมญานามแรกนี้ว่า ผู้ทรงธรรมหน้าเหล็ก

อีกสมญาหนึ่งคือ เสอเจิ้งหมางหาน คำใน 2 พยางค์แรกพึงแปลตามบริบทจริงของเปาเจิ่ง ซึ่งพอแปลได้ประมาณว่า สีหน้าเคร่งขรึมไม่เคยเปลี่ยน ส่วน 2 พยางค์หลังพอแปลได้ว่า หวาดผวาดุจมีเข็มมาทิ่มตำ

สมญานี้จึงพอแปลได้ประมาณว่า ผู้เคร่งขรึมที่น่าเกรงขาม คือพอให้ได้เห็นภาพว่าเมื่อเปาเจิ่งผ่านไปทางใด ผู้คนที่เห็นจะรู้สึกตกประหม่าระทึกใจด้วยเกรงในบารมี

 

จากสมญานามทั้งสองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์และนิสัยใจคอของเปาเจิ่งได้ดี ว่าในชีวิตจริงของเปาเจิ่งคงมีใบหน้าที่เคร่งขรึมจริง คือเป็นใบหน้าที่ดูจริงจังและไม่เคยยิ้มหรือยิ้มยาก เมื่อมาผนวกเข้ากับบทบาทหน้าที่ที่เที่ยงธรรมตรงไปตรงมาก็ดูจะไปกันได้ด้วยดี

ทั้งภาพลักษณ์ นิสัยใจคอ และบทบาทหน้าที่เช่นนี้ไม่เพียงจะรู้กันในราชสำนัก หากคงได้แพร่ออกมานอกราชสำนักจนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ราษฎรด้วย

จากเหตุดังกล่าว หลังจากที่เปาเจิ่งจากโลกนี้ไปแล้ว เรื่องจริงอันเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วในชีวิตจริงของเขาก็ถูกนำมาผูกเป็นเรื่องเล่า แล้วเรื่องเล่าก็ถูกนำมาเป็นการแสดงผ่านศิลปะการละเล่นในลักษณ์ต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ งิ้ว

เมื่อจะถูกนำมาแสดงเป็นงิ้วแล้วก็ต้องสร้างบุคลิกลักษณะให้กับตัวแสดง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่สร้างย่อมสร้างบนพื้นฐานความเป็นจริง และผลที่ออกมาคือ เปาเจิ่งที่กลายมาเป็นเปาบุ้นจิ้นจะมีใบหน้าเป็นสีดำ ทั้งนี้ เพื่อสื่อถึงความเคร่งขรึมหนักแน่นดุจแผ่นเหล็ก

และจากบุคลิกลักษณะเช่นนี้ก็ได้ทำให้ตัวละครที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเปาบุ้นจิ้นเรียกเปาบุ้นจิ้นว่า เปาเฮยจื่อ

คำเรียกนี้หากจะแปลให้ได้อารมณ์ตามผู้เรียก (ที่เป็นปฏิปักษ์กับเปาบุ้นจิ้น) แล้วก็แปลได้ว่า ไอ้เปาหน้าดำ

 

การนำเรื่องราวของเปาเจิ่งมาทำเป็นงิ้วดังกล่าวยังคงสืบทอดเรื่อยมา จนมาถึงโลกยุคปัจจุบันที่ศิลปะการแสดงได้ก้าวหน้ามากขึ้น บุคลิกภาพของเปาบุ้นจิ้นในงิ้วจึงถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังและละครชุดทางโทรทัศน์ และเปาบุ้นจิ้นที่มีใบหน้าดำก็ถูกถ่ายทอดมาด้วยดังที่เห็น

กรณีดังกล่าวนับเป็นตลกร้ายอย่างหนึ่ง เพราะทั้งหนังและละครโทรทัศน์เป็นศิลปการแสดงแบบสมจริง ไม่จำเป็นต้องแต่งใบหน้าของเปาบุ้นจิ้นให้มีสีดำก็ได้ หรือเพียงแต่แต่งให้มีสีผิวที่คล้ำกว่าสีผิวของชาวจีนโดยทั่วไปก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งหนังและละครโทรทัศน์กลับแต่งโดยอิงกับงิ้ว ซึ่งเป็นศิลปะในอีกแขนงหนึ่งที่มีการสื่อสารกับผู้เสพไปอีกแบบหนึ่ง เช่นนี้แล้วทำให้เห็นว่า ทั้งหนังและละครโทรทัศน์รับเอาอิทธิพลของงิ้วมาใช้ในงานของตน

และคงรับมาด้วยเห็นว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในแง่บุคลิกภาพของตัวละคร และจากบุคลิกภาพนี้ก็นำไปสู่เอกลักษณ์ของตัวละครในที่สุด

นั่นคือ หากเป็นตัวละครหน้าดำแล้วจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเปาบุ้นจิ้นเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะสมญานามแล้ว หากไม่นับสมญานามดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นซึ่งไม่สู้จะถูกนำมาเรียกขานกันมากนักนั้น เปาเจิ่งกลับมีสมญานามที่แพร่หลายมากกว่าอีกสมญาหนึ่ง สมญานี้ก็คือ เปากง

คำว่า เปา นั้นชัดเจนอยู่แล้วคือชื่อสกุล ส่วนคำว่า กง เป็นคำเดียวกับคำว่า ก๋ง ในภาษาถิ่นจีนแต้จิ๋วที่ไทยเรารู้จักกัน คำว่า กง นี้มีหลายความหมายคือ ปู่หรือตา ผู้อาวุโส หรือเทพเจ้า เป็นต้น ที่โดยสรุปแล้วจะมีความหมายที่ดี เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลอย่างยกย่อง และกรณีเปาเจิ่งที่ถูกเรียกว่า เปากง นี้ก็อาจแปลได้ว่า ผู้อาวุโสเปา แต่ในละครชุด เปาบุ้นจิ้น เรียกว่า ท่านเปา ซึ่งก็ดูเหมาะสมดีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เปาเจิ่งลาจากโลกไปแล้ว คำว่า เปากง ที่ยังคงเรียกขานกันอยู่ก็เริ่มมีความหมายเปลี่ยนไป

เพราะภายหลังจากนั้นชาวจีนก็สร้างศาลเจ้าเปากงขึ้นมาสำหรับแสดงความเคารพ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติของจีนที่มีให้กับบุคคลที่มีคุณูปการ ธรรมเนียมนี้จึงมีนัยไปในทางที่เกี่ยวพันกับความกตัญญูรู้คุณบุคคลไปด้วย ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับค่านิยมสมัยใหม่ในปัจจุบันแล้วศาลเจ้าเปากงก็ไม่ต่างกับอนุสาวรีย์ ที่โดยทั่วไปแล้วมักสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงบุคคลที่มีคุณูปการแก่สังคมอย่างสำคัญ

จะมีที่แตกต่างออกไปก็คือ กรณีของเปาเจิ่งซึ่งเมื่อเป็นศาลเจ้าเปากงไปแล้ว ฐานะของคำว่าเปากงที่หมายถึงผู้อาวุโสเปาหรือท่านเปาก็มีอันเปลี่ยนไปเป็นเทพเจ้าเปา คือได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใครต่อใครต่างมาสักการะเพื่อขอพรไปด้วย

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ปกติในสังคมตะวันออกที่สามารถเห็นได้แม้ในยุคสมัยใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานหลายแห่งในสังคมนี้ที่มิได้มีไว้สำหรับระลึกถึงบุคคลแต่เพียงหน้าที่เดียว แต่ยังขยายไปสู่ความเชื่อในสิ่งที่เหนือจริงด้วย

 

พ้นไปจากเรื่องชื่อเรียกขานของเปาเจิ่งจากที่กล่าวมาแล้ว ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เห็นควรกล่าวเอาไว้ด้วยก็คือชื่อที่เรียกขานว่า เปาบุ้นจิ้น

ชื่อนี้ออกจะแปลกอยู่อย่างคือ เมื่อดูจากเอกสารต่างๆ แล้วกลับไม่พบชื่อนี้ในสารบบ

ส่วนชื่อที่ถูกใช้เป็นชื่อหนังหรือละครชุดคือ เปาชิงเทียน (จีนกลาง) ชื่อนี้นอกจากคำในพยางค์แรกคือ เปา อันเป็นชื่อสกุลของเปาเจิ่งแล้ว คำใน 2 พยางค์หลังคือ ชิงเทียน นั้นกลับมิใช่ บุ้นจิ้น ที่เป็นชื่อหนังหรือชื่อละครชุด เปาบุ้นจิ้น (จีนแต้จิ๋ว) แต่ประการใดเลย

โดยสรุปคือ ชื่อ เปาชิงเทียน กับชื่อ เปาบุ้นจิ้น เป็นคนละชื่อกัน

ถ้าเช่นนั้นแล้วชื่อ เปาบุ้นจิ้น มาจากไหน?