ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/THE DARKEST MINDS ‘เด็กพิเศษ’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

 

THE DARKEST MINDS

‘เด็กพิเศษ’

กำกับการแสดง  Amanda Stenberg
นำแสดง  Harris Dickinson Skylan Brooks Mandy Moore

สร้างจากนิยายวัยรุ่นในชื่อเดียวกันของอเล็กซานตรา แบรกเคน ซึ่งเก็บเล็กประสมน้อย (หรือพูดให้สวยหน่อยคือ ได้รับแรงบันดาลใจ) จากนิยายและภาพยนตร์ในกระแสสำหรับวัยรุ่น แบบที่เรียกว่า ผู้ใหญ่ในวัยเยาว์ (young adults) เอามาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ด้วยคาแร็กเตอร์ชุดใหม่และการผจญภัยครั้งใหม่
น่าจะต้องทำตามขนบนิยมแบบไตรภาคอีกนั่นแหละ เนื่องจากดูท่าว่าจะมีเรื่องราวต่อจากตอนจบแบบนี้ไปอีกเยอะ
ในโลกอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนัก เกิดไวรัสล้างโลก สังหารประชากรเด็กไปถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กที่เหลืออีก 2 เปอร์เซ็นต์นั้นต่างพัฒนาความสามารถพิเศษในรูปแบบต่างๆ กัน จนกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับความอยู่รอดปลอดภัยของโลก จนต้องถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับตัวส่งไปอยู่ในค่ายกักกัน เพื่อควบคุมพฤติกรรม
เด็กจะถูกคัดแยกและกำหนดสีเป็นห้ากลุ่มตามความสามารถพิเศษในตัวตามระดับอันตรายที่อาจกลายเป็นภัยพิบัติคุกคามประชากรทั่วไป
สีเขียว เป็นกลุ่มที่มีพิษภัยน้อยที่สุด คือพวกเด็กที่มีสติปัญญาฉลาดล้ำ
สีน้ำเงิน เป็นเด็กที่มีพลังจิตสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุได้
สีทอง เป็นเด็กที่มีพลังจิตบังคับกระแสไฟฟ้า
สีส้ม เป็นเด็กที่มีพลังจิตบังคับและควบคุมจิตใจของผู้อื่นได้
สีแดง เป็นเด็กที่มีพลังจิตสามารถพ่นไฟเผาผลาญสิ่งตรงหน้าให้ราพณาสูรไป
เด็กที่คัดแยกไว้ในกลุ่มสีส้มและสีแดงโดนตีตราว่าอันตรายสุดยอด และจำต้องกำจัดให้หมดไปจากโลกเสีย

สาวน้อยรูบี้ในวัยสิบหก (อแมนดา สเตนเบิร์ก) โดนพรากจากครอบครัวและจับตัวส่งเข้าค่ายกักกันตั้งแต่วัยสิบขวบ เธอมีพลังจิตในกลุ่มสีส้ม แต่ตอนที่มีแพทย์ตรวจเคมีในร่างกายเธอบอกว่าเป็นสีส้มนั้น เธอใช้พลังจิตควบคุมความคิดของหมอให้จัดเธอไปอยู่ในกลุ่มสีเขียวเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
รูบี้ได้รับความช่วยเหลือจากหมอผู้หญิง (แมนดี้ มัวร์) ที่ช่วยพาเธอหนีออกจากค่ายกักกัน แต่ก็ดูจะมีจุดประสงค์อื่นนอกจากด้านมนุษยธรรมเฉพาะตัวเด็ก
รูบี้จึงหนีเตลิดแยกตัวจากการตกไปอยู่ในมือคนกลุ่มใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใดก็ยังไม่แจ้ง พาตัวสู่โลกกว้างด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มเด็กพเนจรร่อนเร่ไร้สังกัดสามคน
เด็กกลุ่มนี้ประกอบด้วย หนุ่มน้อยผิวขาวเลียม (แฮร์ริส ดิกคินสัน) หนุ่มน้อยผิวดำ ชาร์ลส์ (สกายลัน บรุกส์) และเด็กหญิงชาวเอเชีย ซูซูเมะ (มิยะ เชค) ซึ่งเป็นใบ้
เลียมมีพลังจิตเคลื่อนย้ายวัตถุได้ และซูซูเมะควบคุมกระแสไฟฟ้าได้
การผจญภัยของเด็กกลุ่มนี้ เป็นเรื่องของการหนีไปตายเอาดาบหน้าแบบที่ต้องหลบซ่อนไม่ให้ใครเห็นตัวได้ เพราะเพียงแค่ความเป็นเด็กก็จะโดนจับได้แล้ว โดยไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลกำลังตามจับเด็กทุกคนในประเทศไปควบคุมตัวไว้ต่างหาก จนไม่มีเด็กคนไหนเพ่นพ่านอยู่ตามบ้านเรือนหรือท้องถนนได้

มิไยจะถวิลหาอาวรณ์ต่อครอบครัวเพียงใด แต่รูบี้ก็ไม่สามารถกลับไปสู่อ้อมแขนอบอุ่นของครอบครัวได้ เพราะพ่อแม่จำไม่ได้แล้วว่าเธอเป็นลูก รูบี้เหลืออยู่เพียงความทรงจำอันเจ็บปวดและความว้าเหว่อ้างว้างที่ต้องเผชิญโลกกว้างอันเต็มไปด้วยภยันตรายแต่เพียงลำพังกับกลุ่มเพื่อนเพียงไม่กี่คน
รูบี้พัฒนาความสัมพันธ์เยี่ยงหนุ่มสาวกับเลียมผู้อยู่เคียงข้าง และได้ไปร่วมกลุ่มเด็กพิเศษที่มีแคลนซี่ เกรย์ (แพทริก กิบสัน) เป็นผู้นำ เกรย์เป็นสีส้มอีกคน ในกลุ่มที่มีอยู่น้อยมาก และได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มอันตรายที่ต้องถูกกำจัดให้หมดไป
แม้จะถูกดึงดูดด้วยความเข้าใจอันดีระหว่างคนที่เหมือนกัน จนกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดและความน้อยอกน้อยใจเยี่ยงหนุ่มๆ สาวๆ ระหว่างคู่พระคู่นาง แต่ไม่ทันไร รูบี้ก็ค้นพบความจริงอันร้ายกาจในตัวเกรย์ และแยกตัวเองให้พ้นมาเสียก่อน
จากกลุ่มของเกรย์ รูบี้พาตัวกลับสู่ความอนุเคราะห์ของแพทย์สาวคนที่ช่วยเธอหลบหนีออกจากค่ายกักกัน โดยต้องแลกมาด้วยราคาสูงลิ่ว โดยใช้พลังจิตลบความทรงจำออกจากหัวของคนรัก
ตอนจบของหนังภาคนี้จึงยังค้างเติ่งอยู่กลางอากาศ เรื่องราวยังไม่ขมวดลงจบ และตัวเอกยังจะต้องฝ่าฟันต่อไปอีกมาก

อย่างที่บอกแล้วว่าเรื่องราวเก็บเล็กประสมน้อยมาจากนิยายวัยรุ่นอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมมากบ้างน้อยบ้าง
ในเรื่องเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้น แน่นอนว่าได้ความคิดมาจากนิยายภาพและหนังยอดฮิตติดอันดับเรื่อง X-Men ที่อยู่ในความนิยมต่อเนื่อง จนบางครั้งต้องย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวความเป็นมาก่อนหน้า ยาวจนเกินขนาดไตรภาคไปมากแล้ว
เด็กๆ ของเอ็กซ์เมน มีโปรเฟสเซอร์เอ็กซ์ หรือชาร์ลส์ เซเวียร์ คอยช่วยเหลือด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนเด็กที่โดนโลกประณามจากการเกิดมาแตกต่างเหล่านี้ และโดนรัฐบาลหมายหัว ในลักษณะของกลุ่มที่เป็นภัยต่อโลกอย่างที่สมควรจะขจัดให้หมดไปอย่างสิ้นซาก
ในไตรภาคชุด Divergent ซึ่งเป็นเรื่องราวของโลกอนาคตในอเมริกา มีการจัดคนแยกกลุ่มตามความถนัดออกเป็นห้ากลุ่ม เพียงแต่ไม่ได้กำหนดสีให้ แต่เรียกชื่อกลุ่มตามลักษณะนิสัยต่างๆ เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความฉลาด ความซื่อสัตย์ และความไร้ตัวตน โดยกำหนดเขตกักกันไว้ไม่ให้ออกมาใช้ชีวิตปะปนกับโลกภายนอก
ท้องเรื่องของ The Maze Runner คือการเกิดไวรัสล้างโลก แบบที่ไวรัสแพร่เชื้อให้ผู้คนกลายเป็นซอมบี้ไปมากมาย และเด็กๆ ถูกจับไปควบคุมไว้เหมือนหนูทดลองในเขาวงกต
ใน The Hunger Game ในโลกอนาคต เด็กวัยรุ่นถูกคัดเลือกให้ไปเล่นเกมของการเอาชีวิตรอด โดยต้องประหัตประหารกันและกัน จนคนสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่จะได้เป็นผู้ชนะซึ่งยืนอยู่เหนือความพ่ายแพ้และความสูญเสียของผู้คนโดยรอบ
นอกจาก X-Men ที่มีภาคพิสดารตามมาอีกหลายเรื่อง เรื่องอื่นๆ ที่กล่าวถึงล้วนเป็นไตรภาคทั้งนั้นค่ะ และเป็นวรรณกรรมวัยรุ่นที่เป็นนิยายขายดีมาก่อน

Darkest Minds คล้ายกับ Hunger Game และ Divergent อีกอย่างคือมีนางเอกวัยรุ่นเป็นตัวเดินเรื่อง เนื่องจากนักประพันธ์เป็นผู้หญิงและมุ่งถึงกลุ่มผู้อ่านวัยรุ่นหญิง
ทุกเรื่องมีฉากหลังเป็นโลกอนาคตที่ต่างจากโลกในอุดมคติ เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ เกิดความเดือดร้อนแทบจะทุกหย่อมหญ้า มีผู้ปกครองประเทศที่เชื่อถือไม่ได้และไม่น่าไว้วางใจ
ภาพในจินตนาการของนิยายและวัฒนธรรมมวลชนเหล่านี้ น่าจะสะท้อนให้เราเห็นได้ไม่มากก็น้อย ถึงความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อผู้ปกครองประเทศและสภาพสังคมอันวุ่นวายยุ่งเหยิงที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน
เราได้เห็นการนำเสนอภาพโลกแบบที่เรียกว่า ดิสโตเปีย (dystopia) ซึ่งตรงข้ามกับยูโทเปีย (utopia) อันเป็นสังคมสมบูรณ์แบบที่พึงปรารถนา ซึ่งยังไงๆ ก็คงจะไม่มีวันมาถึงเลย
เจนนิเฟอร์ ยู่ เนลสัน (ซึ่งกำกับหนังชุด Kunfu Panda ได้สนุกน่าประทับใจ) ทำหนังที่ใช้คนเล่นไม่ได้รสชาติเท่าที่ควร
และเหมือนกับภาคแรกของ Maze Runner ตอนที่ออกฉาย ผู้เขียนไม่ได้นึกอยากคอยตามดูภาคต่อไปอีกเลย
ผิดกับ Hunger Game ซึ่งสนุกชวนติดตามทุกหยาดหยดทุกบททุกตอน ขนาดที่ไตรภาคกลายเป็นหนังสี่เรื่องไปได้ก็ยังชวนติดตามอยู่
สงสัยว่าไตรภาคชุดนี้ คงต้องเปลี่ยนผู้กำกับฯ ในภาคต่อๆ ไปเสียแล้ว