เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : เมื่อเรารู้…เราก็ไม่ได้อยู่ที่เดิมอีกต่อไป

การอ่านกับการเดินทางมีอะไรคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่มันทำให้เราไม่ได้อยู่ ณ จุดเดิมๆ อีกต่อไป ประสบการณ์ใหม่ทั้งจากการอ่านและการเดินทางเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป บางครั้งมันอาจถอนรากความคิดเดิมๆ จนหมดสิ้นไปด้วยซ้ำ

การเดินทางของคนที่มีรากอยู่ในเมืองหลวงสู่เมืองอื่นๆ ที่อยู่รายรอบทั้งใกล้และไกล ทั้งในเมืองที่เราเรียกว่าหัวเมืองและชนบทที่อยู่ห่างออกไป หรือแม้แต่ในถิ่นทุรกันดารที่ยากต่อการเดินทางไปถึงจนสุดชายแดนประเทศ สุดราวป่า สู่ภูเขาสูง และป่าดงดิบที่มีทั้งพืชพรรณที่ไม่เคยเห็น มีมนุษย์ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เราไม่เคยสัมผัส

เป็นเรื่องที่ทำให้การรับรู้เปิดกว้าง และความคิดเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่าเราไม่อาจใช้บรรทัดฐานของเราไปตัดสินคนอื่น เราไม่อาจเปรียบเทียบว่าใครดีกว่า เจริญกว่า เพราะว่าจะเอาอะไรมาเป็นมาตรฐาน

ในเมื่อชาวลัวะบนเขาสูงเรียนรู้จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษและรักษาระบบนิเวศอย่างแข็งขัน

ในเมื่อธุรกิจชาวกรุงไม่รู้เรื่องการรักษาระบบนิเวศ และนำพืชเชิงเดี่ยวไปให้เขาปลูกจนทำลายระบบนิเวศราพณาสูร

ในเมื่อชาวมลาบรีหรือผีตองเหลืองบอกว่าเขานุ่งแต่ผ้าเตี่ยวเพราะทำให้เขาเคลื่อนไหวในป่าสะดวกกว่าการสวมใส่เสื้อผ้าที่โดนหนามและกิ่งไม้เกี่ยวได้ง่าย

เสื้อผ้าที่กรมประชาสงเคราะห์นำไปแจกจึงถูกเอาไปทำฟืน

ในเมื่อชาวมลาบรีมีวิถีชีวิตไม่สะสม มีอะไรก็แบ่งปัน เขาจึงไม่ทำลายป่า แค่หาอาหารมาปะทังไปวันๆ ด้วยการหาเผือกมัน และล่าสัตว์มาไว้บริโภค

เราชาวกรุงที่ทำมาหากินกันตัวเป็นเกลียว รู้ว่าน้ำท่วมทุกปี ทุกครั้งเราคิดว่าเพราะชาวเขาตัดป่าทำไร่เลื่อนลอย จะต้องช็อกที่รู้ว่าชาวเขาไม่ได้ทำ

ชาวกรุงนี่แหละทำ

ชาวเขามีอยู่ขยิบมือเดียว พื้นที่ป่ามีตั้งมากมาย ชาวเขาไม่สามารถทำลายพื้นที่ได้มากขนาดนั้น แต่ถ้าหากว่าชาวกรุงยืมมือชาวเขาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องถางป่าเป็นหมื่นไร่ แล้วจะตัดสินว่าใครคือผู้ทำลายระบบนิเวศกันแน่

เพราะความที่ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นพลเมืองไทยอยู่ห่างไกลยากจะไปถึง เราจึงยากที่จะเข้าถึงความเป็นจริง

%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b9%87%e0%b8%8d%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5-3

จังหวัดน่านเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มาก หากมีโอกาสเดินทางไปไกลถึงบางอำเภอ และมีเวลาสักครึ่งวันนั่งคุยกับปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่บนที่ลุ่มมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ต้องบุกป่าปีนขึ้นเขาสูงจนพบ “คนไทยเหมือนกัน” ที่อยู่บนภูเขา เราก็จะรู้เรื่องราวของเขาได้

เมื่อรู้ว่าชาติพันธุ์บนภูเขานั่นแหละคือผู้รักษาระบบนิเวศตัวจริงด้วยการถนอมรักษาผืนดิน ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำลายหน้าดิน ใช้เพียงผืนดินเพียงพอเพาะปลูกข้าวไร่แบบไม่ใช้สารเคมี เราจะเปลี่ยนจากความหวาดระแวงรังเกียจพวกเขามาเป็นเคารพนับถือ

และทำให้เราเข้าใจกรณีของปู่คออี้อายุ 105 ปีแห่งหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่กาญจนบุรีได้ดีขึ้น ปู่คออี้ซึ่งรักษาผืนดินตรงนั้นไม่เพียงร้อยปีเท่าอายุ แต่บรรพบุรุษของปู่ก็รักษามันมาตลอด อาจนานถึงสองร้อยปี พอๆกับที่ผู้คนจากทวีปยุโรปจับจองทวีปอเมริกา

การต่อสู้ระหว่างรัฐและปัจเจกที่เป็นชนเผ่าได้เกิดขึ้น ใครเป็นเจ้าของแผ่นดินนั้นกันแน่

คำถามเหล่านี้ และความเข้าใจใหม่ๆ ที่ก่อตัวขึ้นได้ทำให้การรับรู้ของเราเปลี่ยนไป และตัวเราเปลี่ยนไป

ทำไมรัฐจึงขับไล่ชนเผ่า แต่ยอมให้นายทุนเข้ามาหากิน เป็นคำถามที่น่าจะหาคำตอบว่ามันเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร ตัวบทกฎหมายเป็นอย่างไร ครอบคลุมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาอย่างไร

%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b9%87%e0%b8%8d%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5-1

เรื่องที่ได้รับรู้อีกเรื่องคือเรื่องของชนเผ่ามลาบรีหรือผีตองเหลือง ชนเผ่านี้ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในป่าแล้ว แต่รัฐจัดที่ให้อยู่ ถ้าอยากรู้จักก็สามารถเข้าไปเยี่ยมเยียนพูดคุยได้ แต่เดิมพวกเขาอยู่ในป่า ย้ายที่ไปเรื่อย และมีวิถีชีวิตที่ “ไม่สะสม” แต่ “แบ่งปัน” คือหิวก็ออกไปขุดหาของกินและล่าสัตว์ ได้มาเท่าไหร่ก็แบ่งเท่าๆ กัน ไม่มีแอบกั๊กไว้เป็นของตัว สมัยอยู่ในป่าก็ไม่ต้องใช้เงินเพราะใช้วิธีหาอาหารตามธรรมชาติและมีการแลกเปลี่ยนบ้าง ส่วนที่อยู่อาศัยก็ตัดไม้ไผ่จากในป่ามาและเอาใบตองจากในป่ามามุง ใบตองแห้งก็ย้ายที่

ปัจจุบันป่าหมด อาหารในป่าก็หมด มลาบรีต้องทำงานรับจ้างในไร่ข้าวโพดรับค่าจ้างเป็นเงินซึ่งไม่มากมาย ต้องใช้เงินซื้ออาหาร และเริ่มเป็นหนี้

วิถีสมัยใหม่ที่ใช้เงินเป็นสะพานได้สร้างปัญหาใหม่ๆ ให้คนที่ปรับตัวไม่ทันกลายเป็นหนี้กันถ้วนหน้า

น่าคิดว่าคืนป่าให้เขาจะดีไหม

มลาบรีเล่าว่าในป่ามีเก้ง มีหมูป่า มีค่าง ใช้หอกแทงเอามาแบ่งเนื้อกันทุกบ้าน ต่างคนต่างเอาไปแล่หั่นใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ผิงไฟ แล้วก็นำมากิน

วันรุ่งขึ้นก็ทำอย่างนี้ใหม่

ถามว่าเพื่อรักษาระบบนิเวศไว้ จะคืนป่าให้มลาบรีดีไหม คืนป่าให้ลัวะและชนเผ่าอื่นๆ ดีไหม

คำตอบคือ คงไม่ได้ เพราะยากต่อการ “ปกครอง”

แต่อย่าลืมว่า เมื่อได้สิ่งไรมา ก็ต้องเสียบางอย่างไป นี่เป็นสัจธรรมของโลก

เมื่อรัฐได้ “การปกครอง” คนไทยต้องสูญเสียระบบนิเวศไป

การรับรู้จากการเดินทางครั้งนี้บอกผู้เขียนว่า ไม่มีใครรักษาระบบนิเวศได้ดีเท่าชนเผ่าที่อยู่กับผืนดินมาตั้งแต่เกิด