นงนุช สิงหเดชะ : Common Ground การเมืองใหม่สไตล์ “จัสติน ทรูโด”

AFP PHOTO/NICHOLAS KAMM

นับจากนำพาพรรคเสรีนิยมชนะเลือกตั้งและได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหนุ่มที่สุดของแคนาดาเมื่อปลายปีที่แล้ว

จนถึงนาทีนี้นับว่า จัสติน ทรูโด ยังคงสามารถอยู่ในจอเรดาร์ของสื่อหลักๆ ทั่วโลกอยู่พอสมควร

เพราะนอกจากเขาจะเป็นลูกชายของ ปิแอร์ ทรูโด อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดาซึ่งบริหารประเทศกว่า 10 ปี

ความหล่อเหลาก็นับว่าดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนได้มาก

แต่นั่นก็อาจไม่สำคัญเท่า “แนวคิด” และความมุ่งมั่นของเขาที่แสดงออกชัดเจนว่าจะเล่นการเมืองแบบใหม่และทำให้แคนาดาดีขึ้นกว่าเดิม

เบื้องลึกเบื้องหลังของที่มาแห่งแนวคิดของ จัสติน ทรูโด ที่นำพาให้เขากลายเป็นฮีโร่ที่พลิกฟื้นชีวิตให้กับพรรคเสรีนิยมกลับมายิ่งใหญ่เช่นเดิม

ปรากฏอยู่ในหนังสือที่เขาเขียนเอง ชื่อ Common Ground

000-10-e1474888561788

แปลตามความหมายแล้ว common ground ก็คือข้อตกลงร่วมกันหรือสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน สิ่งนี้คือหัวใจของการเล่นการเมืองสไตล์ จัสติน ทรูโด จนชนะใจชาวแคนาดา

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และชาวแคนาดาจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลือกเขาเพราะชื่นชอบในแนวคิดของเขาผ่านหนังสือเล่มนี้

ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดในแคนาดาในเวลานั้น มีส่วนสำคัญทำให้เขาชนะเลือกตั้ง

หนังสือเล่มนี้นอกจากบอกเล่าแนวคิดทางการเมืองแล้ว จัสติน ทรูโด ยังเล่าถึงชีวิตส่วนตัวและครอบครัวแทบจะหมดเปลือก

หลายเรื่องไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน เริ่มจากการใช้ชีวิตในฐานะลูกชายนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เขาอายุยังน้อยไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ

เรื่องน่าเศร้าอยู่ตรงที่พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เขาอายุไม่ถึง 10 ขวบ เพราะพ่อแม่ของเขาอายุต่างกันมากถึง 30 ปี (แม่เขาคือมาร์กาเร็ต อ่อนกว่าพ่อเขา 30 ปี) และมีไลฟ์สไตล์ต่างกัน

แม่เป็นผู้หญิงรักอิสระ ค่อนข้างรักความสนุก จึงเป็นโรคซึมเศร้าและทนแรงกดดันไม่ไหวเมื่อต้องมาเป็นสตรีหมายเลข 1 ที่ต้องทำตามกฎระเบียบ

ขณะที่พ่อเป็นพวกเอาการเอางาน แนวนักวิชาการที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ในที่สุดเมื่อพ่อแม่แยกทางกัน (ซึ่งเป็นการจากกันด้วยดี) จัสตินน้อยกับน้องชายอีก 2 คน ต้องอยู่กับพ่อ

โดยมีแม่แวะมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว

 AFP PHOTO/NICHOLAS KAMM
AFP PHOTO/NICHOLAS KAMM

หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน จัสตินน้อยกลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการ เขาจึงกลายเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือมากหลากหลายแนวเกินวัย

ที่น่าอึ้งก็คือ ตอนอายุ 11 ขวบ จัสตินยังเรียนประถม ปรากฏว่าแม่ของเขาซึ่งกำลังคบกับผู้ชายคนใหม่ มาหาเขาที่โรงเรียนพร้อมกับฟูมฟายว่าผู้ชายคนนั้นทิ้งเธอไปแล้วแถมยังเอาทีวีไปด้วย กลายเป็นว่าจัสตินวัยแค่ 11 ขวบ ต้องเป็นฝ่ายปลอบโยนแม่

อย่างไรก็ตาม จัสติน ไม่ได้มีน้ำเสียงตำหนิแม่ แต่เขาเข้าใจสภาวะจิตใจของแม่ เมื่อมองย้อนกลับไปเขาคิดว่าหากในยุคนั้นสังคม คนใกล้ตัวและวงการแพทย์เข้าใจและรู้จักโรคซึมเศร้า แม่ของเขาคงไม่ต้องหย่ากับพ่อ เพราะทุกฝ่ายคงจะหาทางช่วยกันประคับประคองเยียวยารักษาแม่ของเขาให้หายได้

นี่คือส่วนแรกของหนังสือที่จะทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมไปจัสตินจนอยากติดตามส่วนหลังว่าด้วยการเข้าสู่ชีวิตการเมือง

AFP / KENA BETANCUR
AFP / KENA BETANCUR

แต่เดิมนั้นจัสตินไม่คิดจะเข้าสู่การเมืองเลย หลังจบปริญญา ก็แบกเป้ออกท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่ 1 ปี เมื่อกลับแคนาดาก็ไปเป็นครูมัธยม ใช้ชีวิตเงียบๆ

เหตุผลที่เขาไม่อยากเข้าสู่การเมืองเพราะคิดว่าเขาคงทำได้ไม่ดีเท่าพ่อ หากทำได้ไม่ดีเท่า เขาจะถูกสังคมตำหนิได้

อีกอย่างการเมืองจะสร้างภาระกดดันชีวิตครอบครัวอย่างที่พ่อกับแม่ของเขาเผชิญมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากบิดาของเขาเสียชีวิต ทำให้จัสตินในวัยหนุ่มกลับมาเป็นที่รู้จักของสาธารณชนอีกครั้งจากผลพวงที่สื่อมวลชนรายงานข่าวการเสียชีวิตของบิดาเขา รวมไปถึงการจัดงานศพแบบรัฐพิธีซึ่งในฐานะลูกคนโต จัสตินต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานพร้อมกับให้สัมภาษณ์สื่อ

จุดนี้ทำให้คนในพรรคเสรีนิยมหันมาให้ความสนใจและชักชวนเขาลงสมัคร ส.ส.

แต่ในตอนแรกเขายังไม่สนใจนัก จึงกลับไปสอนหนังสืออย่างเดิม ควบคู่กับการทำงานอาสาสมัครเกี่ยวกับเยาวชน

ขณะเดียวกัน เขาก็ช่วยงานพรรคอยู่ห่างๆ ในเรื่องที่ถนัดคือปัญหาเยาวชนและสิ่งแวดล้อม

bhs8ui9ccaejg_z

ต่อเมื่อพรรคเสรีนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งและตกต่ำอย่างน่าใจหายจากพรรคอันดับ 1 ร่วงไปอยู่อันดับ 3 แบบรวดเร็ว ทำให้เขาตัดสินใจจะเข้าสู่การเมืองเนื่องจากมองเห็นจุดอ่อนของพรรคว่าแพ้เพราะอหังการว่าเป็นพรรคที่ได้บริหารประเทศติดต่อกันมาหลายปียังไงก็ชนะ จึงเริ่มเหินห่างจากประชาชน ไม่ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนระดับฐานราก

เขาจึงคิดจะกลับไปใช้จุดแข็งเดิมที่เคยทำให้พรรคชนะนั่นคือการทำการเมืองจากระดับรากหญ้าขึ้นไป

จัสตินใช้สไตล์การเมืองและการหาเสียงต่างจากพ่อ พ่อของเขาอาจไม่ใช่คนที่ถนัดในการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับออกเดินถนนจับมือทักทายชาวบ้าน

แต่จัสตินใช้วิธีตรงข้ามกับพ่อเนื่องจากบุคลิกของเขาค่อนไปทางแม่คือเข้ากับคนง่าย ทำตัวสบายๆ

สไตล์การหาเสียงสมัยแรกของเขาจึงเป็นการเดินเคาะประตูบ้านทุกหลัง และในที่สุดเขาชนะเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนั้นเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อมเฉพาะเขตได้อย่างสบาย

ความสำเร็จจากการชนะเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้เขาฉายแสงในพรรคจนในที่สุดได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเสรีนิยม

จากจุดนี้เขาเสนอไอเดียการเมืองใหม่เพื่อเอาชนะพรรคอนุรักษนิยมที่บริหารประเทศอยู่ด้วยการสัญญากับประชาชนว่าเขาจะทำการเมืองแบบหาจุดร่วมกับประชาชนทุกฝ่ายในประเด็นปัญหาต่างๆ

จะสร้างการเมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ปลุกปั่นให้ประชาชนแตกแยกขัดแย้งกันเพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองอย่างที่พรรคอนุรักษนิยมทำ

เขาเห็นว่าแคนาดานั้นเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมแทบจะมากที่สุดในโลก

ความหลากหลายคือจุดเด่นที่ทำให้แคนาดาเจริญรุดหน้า

ดังนั้น ผู้นำที่ดีต้องเคารพและยอมรับความหลากหลายนี้เพื่อให้ความหลากหลายสร้างประโยชน์แก่ประเทศ

ไม่ใช่ใช้ความหลากหลายมาสร้างความแตกแยกอย่างที่นักการเมืองบางคนทำ

2-8-768x513

แนวคิด common ground ของจัสตินคงถูกใจชาวแคนาดาอย่างมาก

จึงกำชัยชนะกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ในวัยแค่ 44 ปี

หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชนในชื่อ “ก้าวที่แตกต่างบนทางเดียวกัน” และมีวางจำหน่ายแล้ว

ต้องบอกกล่าวด้วยว่าตอนออกเที่ยวทั่วโลก จุดหมายสุดท้ายของจัสตินคือเกาะสมุยของไทย

ที่นี่เขาสักรอยสักเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไหล่ซ้ายเป็นรูปลูกโลก

เพื่อเป็นที่ระลึกจบทริปเดินทางท่องโลก