ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
ผู้เขียน | เด็กเก็บบอล [email protected] |
เผยแพร่ |
เรียกได้ว่านี่คือความล้มเหลวครั้งหนึ่งของวงการฟุตบอลไทย หลังจากที่ “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ตกรอบแรกเอเชี่ยนเกมส์ เป็นหนแรกในรอบ 24 ปี
ครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทยตกรอบแรกเอเชี่ยนเกมส์นั้น คงต้องย้อนไปเมื่อปี 1994 ในการแข่งขันที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
มาครั้งนี้ ทีมชาติไทยเก็บได้เพียง 2 คะแนนจากการลงเล่น 3 นัด เสมอกาตาร์ 1-1 เสมอบังกลาเทศ 1-1 ก่อนจะแพ้ให้อุซเบกิสถาน เจ้าของแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทีมล่าสุด 0-1 แม้ว่าจะจบอันดับ 3 แต่ก็ไม่ได้เป็น 1 ใน 4 ทีมของอันดับ 3 ที่ดีที่สุด ที่จะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายไปได้
ตลอดทั้ง 3 เกม ผลงานภายใต้การนำทีมของ “โค้ชโย่ง” “วรวุธ ศรีมะฆะ” ผู้พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทอง “ซีเกมส์” เมื่อปีที่แล้ว ดูลุ่มๆ ดอนๆ
นัดแรกเปิดหัวดี แต่นัดต่อมากลับผิดฟอร์มอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนนัดสุดท้ายการเจอกับแชมป์เอเชียไม่ใช่เรื่องง่าย และการแพ้ประตูเดียวก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร เพียงแต่มันไม่พอที่จะเข้ารอบเท่านั้นเอง
นี่นับเป็นการตกรอบแรกครั้งที่ 6 ของทีมชาติไทยในเอเชี่ยนเกมส์
แต่เป็นครั้งแรกที่ตกรอบแรกหลังจากที่มีการเปลี่ยนกฎมาเป็นการแข่งขันด้วยการใช้ผู้เล่นอายุไม่เกิน 23 ปีลงแข่งขัน ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา
ซํ้าร้ายไปกว่านั้น เมื่อมองดูคู่แข่งชาติอาเซียนต่างๆ “เสือเหลือง” “มาเลเซีย” ชนะ “โสมขาว” “เกาหลีใต้” ทีมเต็งแชมป์ 2-1 “เวียดนาม” เอาชนะ “ซามูไรบลู” “ญี่ปุ่น” 1-0 หรือ “พม่า” เองก็ยังสามารถเอาชนะ “อิหร่าน” ได้ 2-0 ยิ่งเป็นการตอกย้ำทำให้ผลการแข่งขันของทีมชาติไทยดูย่ำแย่ลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม หากลองมองดูแล้ว ทีมชาติไทยชุดนี้ถือว่ามีปัญหาค่อนข้างมากทีเดียว
จึงอาจจะบอกได้ว่าไม่แปลกใจหากจะเห็นทีมไม่สามารถทำผลงานไปได้ไกลอย่างที่หวังๆ กันเอาไว้
อันดับแรกเลย เรื่องของการเตรียมทีม ทีมเอเชี่ยนเกมส์ชุดนี้มีปัญหาเรื่องของการเตรียมความพร้อมอย่างมาก เดิมทีสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ วางแผนเอาไว้ว่า จะไม่หยุดพักลีกภายในประเทศ แล้วจะใช้ผู้เล่นชุดอายุไม่เกิน 23 หรือ 21 ปี มาเล่น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมระยะยาวสู่ “โอลิมปิกเกมส์” ที่จะมีขึ้นในปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น
แต่เมื่อทนกระแสทัดทานไม่ไหว สโมสรต่างออกมาบอกว่าถ้าไม่หยุดลีก ก็คงให้นักเตะเยาวชนที่บางคนก็เป็นตัวหลักในสโมสรมาร่วมทีมได้
จนสุดท้ายสมาคมก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ปรับตารางแข่งขันใหม่เพื่อหลีกทางให้กับการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์
แต่แทนที่หยุดลีกแล้วจะมีเวลาเตรียมตัว ทว่ากว่าที่นักเตะชุดนี้จะได้เข้ามารายงานตัว ต้องรอจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม ก่อนเดินทางแค่ 6 วัน แถมยังอัดเกมอุ่นเครื่องไปอีก 2 เกม นอกจากนี้กว่าจะมารวมตัวกันครบทีม ต้องรอถึงวันที่ 9 สิงหาคม เพราะว่าบางสโมสรมีโปรแกรม” “โตโยต้า ลีกคัพ”” รอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกด้วย
เรื่องนี้ต้องโทษสมาคม รู้ทั้งรู้ว่าปีนี้มีการแข่งขันอะไรบ้าง แต่ไม่วางโปรแกรมเอาไว้ให้ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แถมเปลี่ยนแล้วยังทำให้ไม่มีเวลาเตรียมทีมอีก สุดท้ายก็ส่งผลเสียมากกว่าผลดีจนได้
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นผลพวงมาจากเรื่องของการจัดโปรแกรมที่ไม่ดี ทำให้คิวเตะแน่นขนัด นักเตะตัวหลักของทีมชุดนี้บางคนได้รับบาดเจ็บในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมาแข่งขัน
ไม่ว่าจะเป็น “ศศลักษณ์ ไหประโคน” ฟูลแบ๊กของ “ปราสาทสายฟ้า” “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด”, “เสฏฐวุฒิ วงค์สาย” กองหน้าของ “ฉลามชล” “ชลบุรี เอฟซี” รวมไปถึง 2 นักเตะจาก “สิงห์เจ้าท่า” “การท่าเรือ เอฟซี” ทั้ง “รัตนัย ส่องแสงจันทร์” นายทวารมือหนึ่งทีมชุดนี้ และ “เควิน ดีรมรัมย์” แบ๊กซ้ายลูกครึ่ง
อีกหนึ่งปัญหาที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการที่โค้ชโย่งตัดสินใจไม่เลือกผู้เล่นที่อายุมากกว่า 23 ปี เข้ามาติดทีมชุดนี้แม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่มีโควต้าให้ใช้ถึง 3 คนด้วยกัน
กับเรื่องนี้ วรวุธให้เหตุผลว่า ถ้าหากไม่ได้ผู้เล่นอายุเกินที่จะสามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้ อย่างเช่น “มุ้ย” “ธีรศิลป์ แดงดา”, “เมสซี่เจ” “ชนาธิป สรงกระสินธ์” หรือว่า “ตอง” “กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์” ก็อยากให้โอกาสเด็กอายุไม่เกิน ได้สั่งสมประสบการณ์ในการเล่นระดับเอเชียมากกว่า
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยคือ การนำผู้เล่นอายุเกินมา ไม่ใช่จะมาเติมในส่วนของการทำประตูเท่านั้น การเติมผู้เล่นที่มีประสบการณ์ ทั้งในแดนกลางหรือว่าแนวรับ ก็จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ ความแน่นอนในการเล่นให้กับทีมได้
หากลองเติม “ตั้ม” ธนบูรณ์ เกษารัตน์, “โย่ง” พรรษา เหมวิบูลย์ หรืออย่าง “ตั๊ก” สุมัญญา ปุริสาย เข้ามาในทีมชุดนี้ อาจจะทำให้เด็กๆ ในทีมเล่นได้อย่างสบายใจ เหมือนมีลูกพี่คอยนำทีมให้ก็ได้
อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาเลย ก็คือเรื่องของการจบสกอร์ ทีมชาติไทยใช้โอกาสเปลืองมากๆ จากทั้งหมด 3 เกมมีโอกาสยิงมากกว่า 40 ครั้ง แต่ได้เพียง 2 ประตูเท่านั้น
เรื่องคนจบสกอร์ กลายเป็นว่าเป็นปัญหาของทีมชาติไทยทุกชุดก็ว่าได้ ทุกวันนี้ไทยขาดแคลนกองหน้าชั้นยอด ที่จะเป็นผู้จบสกอร์ เพราะต่อให้สร้างเกมขึ้นมาดีแค่ไหน แต่เมื่อปลายยอดไม่สามารถปิดฉากการบุกได้ ทุกอย่างที่ทำมาก็สูญหมด
คงเป็นจุดที่จะต้องกลับมาคิดกันสักหน่อยว่า ควรจะมีการกำหนดโควต้ากองหน้าไทยในลีกได้บ้างหรือยัง เพราะถ้ามัวแต่ปล่อยให้กองหน้าต่างชาติมาเฉิดฉายกันอยู่ในเมืองไทย สุดท้ายทีมชาติไทยก็จะไม่มีกองหน้าชั้นดีขึ้นมาเสียที
นอกจากนี้ เรื่องของการขาดความต่อเนื่องของผู้เล่นที่จะขึ้นมาทดแทนในแต่ละชุด ก็ถือว่าเป็นปัญหาเช่นกัน นับตั้งแต่หมดยุคของชนาธิป, ธนบูรณ์ หรือ “ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์” ที่จัดว่าเป็นยุคทองของทีมชาติไทยชุดหนึ่ง ในช่วงอายุของผู้เล่นที่เป็นยู-23
ทีมชาติไทยชุดนี้แกนหลักเรียกได้ว่าเป็นชุดยู-21 ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “สุภโชค สารชาติ, ศุภชัย ใจเด็ด” หรือ “วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ” ยิ่งพอเอามาเล่นในการแข่งระดับยู-23 กระดูกนักเตะพวกนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะไปเจอกับผู้เล่นที่ร่างกายดีกว่า หรือเข้าใจแท็กติกมากกว่า
ส่วนผู้เล่นที่อายุเต็ม ก็ไม่ใช่ผู้เล่นที่จะพึ่งพาอะไรได้มาก เพราะในสโมสรยังไม่ได้เป็นตัวจริงเลย
สุดท้าย เรื่องตัวโค้ช ที่หลายคนไม่ค่อยพอใจการทำทีมอย่างมาก กลายเป็นแพะทางโซเชียลไปเต็มๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ซีเกมส์มาได้ด้วยซ้ำ
แต่จริงๆ หากว่ากันด้วยเรื่องแท็กติกแล้ว โค้ชโย่งเองก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเท่าไหร่ แม้จะมาในระดับเอเชีย แต่ก็พยายามเปิดเกมรุกสู้ด้วยซ้ำ ส่วนเกมรับอาจจะผิดพลาดบ้าง แต่ไม่ได้หนักหนามากอย่างที่คิด
ถ้ามองเรื่องของฝีมือ คิดว่าโค้ชโย่งมีโอกาสพาทีมชาติไทยไปได้ดีกว่านี้ แต่อาจจะต้องปรับเรื่องมุมมองการเลือกนักเตะอีกสักหน่อย บางครั้งหลายๆ คนควรจะติดทีมชุดนี้มา อย่างเช่น “จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์” หรือ “อานนท์ อมรเลิศศักดิ์” ที่กำลังฟอร์มดีและเป็นตัวหลักของสโมสร น่าจะดีกว่าบางคนที่ในสโมสรก็แทบไม่ได้ลง
เอาเป็นว่าปัญหาของทีมชุดนี้มีค่อนข้างมาก ก็เป็นโจทย์ให้สมาคมต้องเป็นฝ่ายนำไปขบคิดแล้วแก้ไขกันไป เพราะเป้าหมายต่อไปคือซีเกมส์ปีหน้า และการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ ที่ใกล้เข้ามาแล้ว