ทำไม “มิสแกรนด์ไทยแลนด์” ต้องตะโกนแนะนำตัว? เพราะเหตุใด “ชุดประจำจังหวัด” ถึงเว่อร์วังอลังการ? อยากทราบคำตอบ เชิญอ่าน…

การประกวดสาวงามในประเทศไทยมีหลากหลายเวทีให้ชื่นชมความงามและความสามารถของผู้เข้าประกวด แต่มีอยู่เวทีหนึ่งที่ผันตัวเองจากการเป็น “เวทีประกวดหน้าใหม่” ให้กลายเป็นประเด็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ได้หลายครั้งในระยะหลังๆ

นั่นคือการประกวดสาวงามตัวแทน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ในนาม “มิสแกรนด์ไทยแลนด์”

สิ่งที่เวทีนี้มักถูกกล่าวถึงในสังคมเป็นอันดับแรก ก็คือ “การตะโกนแนะนำตัวเอง” ของเหล่าสาวงาม ที่พากันเปล่งเสียงชื่อจังหวัดด้วยน้ำเสียงสูงและดังกว่าปกติ จนเกิดการทำคลิปวิดีโอล้อเลียน สร้างรอยยิ้มให้ผู้รับชมรับฟังเป็นอย่างมาก

แต่รู้หรือไม่ว่าการตะโกนชื่อจังหวัดของเหล่านางงามทั้ง 77 จังหวัดนั้นมีที่มาที่ไป และเป็นสิ่งที่กองประกวดไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น

“วรพงษ์ ปลอดมูสิก” คือนักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ความงามผ่านการประกวดมิสแกรนด์

แน่นอน ผลการศึกษาที่เขาได้รับ มีข้อค้นพบเกี่ยวกับเรื่องราวที่หลายคนสงสัยใคร่รู้รวมอยู่ด้วย

วรพงษ์ซึ่งทำการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์และเหล่าสาวงามที่เข้าร่วมประกวด อธิบายว่าเดิมทีทางกองประกวดไม่ได้ตั้งใจจะให้สาวงามตะโกนชื่อจังหวัด หรือตะโกนชื่อตัวเอง อย่างในปัจจุบัน

แต่เหตุการณ์ทำนองนี้เริ่มเกิดขึ้นในการจัดประกวดเมื่อปี 2559 ซึ่งเหล่าสาวงามได้ตะโกนชื่อตัวเองและชื่อจังหวัด จนเกิดการพูดถึงเป็นครั้งแรก

สาเหตุเนื่องจากเวทีมีขนาดใหญ่ แสงสีเสียงจัดเต็ม ประกอบกับจำนวนมหาศาลของกองเชียร์ที่ขนมาจาก 77 จังหวัด ซึ่งมีการตะโกนส่งกำลังใจให้ตัวแทนจังหวัดของตนเอง และบางครั้งก็มีเครื่องดนตรีประกอบการเชียร์อีกด้วย

ด้วยสภาพแวดล้อมอันอึกทึกครึกโครมเช่นนั้น เหล่าสาวงามจึงพร้อมใจกันเปล่งเสียงตะโกนชื่อตัวเองและชื่อจังหวัดให้ “ดังยิ่งกว่า”

หรือพูดง่ายๆ ว่านางงามต้องตะโกนแข่งกับกองเชียร์ของพวกเธอนั่นเอง

เมื่อได้รับความสนใจจากผู้ชมแล้ว ในปีต่อๆ มา จึงมีการตะโกนลักษณะนี้เป็นกิจวัตรประจำเวที

วรพงษ์สรุปสาเหตุและผลลัพธ์ต่อเนื่องของ “การตะโกนชื่อจังหวัด” โดยผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์เอาไว้ว่า

1.เพื่อเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มกองเชียร์และผู้ชม เมื่อได้รับความสนใจแล้วก็นำไปสู่ 2.การถูกจดจำและกลายเป็นที่กล่าวถึง และ 3.เพื่อให้กองเชียร์แต่ละจังหวัดได้รับรู้ถึงความมั่นใจของผู้เข้าประกวดตัวแทนจังหวัดนั้นๆ อันจะส่งผลให้กองเชียร์รู้สึกภาคภูมิใจและส่งกำลังใจช่วยลุ้นนางงามอย่างคึกคัก

ส่วนที่หลายคนมองว่าการตะโกนชื่อจังหวัดของเหล่าสาวงามอาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสมและกลายเป็นเรื่องตลก

วรพงษ์บอกว่า “สมัยนี้การทำอะไรที่เสมอตัวโลกอาจจะไม่จำ” และถึงแม้จะมีคนล้อเลียนเหล่าผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ ด้วยการตัดต่อคลิปออนไลน์แนวตลกขบขันกันมากมาย แต่ถึงที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยสร้างรอยยิ้มไม่ใช่หรือ ทั้งยังไม่ใช่การกระทำความผิดอะไรหรือทำให้ชื่อเสียงของจังหวัดเสียหาย

นักศึกษาปริญญาโทผู้นี้มองว่าการแนะนำตัวด้วยแนวทางดังกล่าวถือเป็นการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ซึ่งกองประกวดมิสแกรนด์ก็ได้เน้นย้ำและมีข้อปฏิบัติว่าการแนะนำชื่อตัวเองและชื่อจังหวัดจะต้องไม่ออกเสียงจนทำให้ชื่อเหล่านั้นผิดเพี้ยนไป

ล่าสุดในปี 2561 ยังมีการมอบรางวัล “การแนะนำตัวยอดเยี่ยม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองประกวดได้เล็งเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาผู้เข้าประกวด

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือ “ชุดประจำจังหวัด” ของเหล่าสาวงาม ที่เปิดตัวออกมาอย่างยิ่งใหญ่อลังการ บางชุดก็ผิดแผกแปลกตา จนหลายคนสงสัยว่าทำไมชุดประจำจังหวัดต้องเว่อร์วังขนาดนี้

วรพงษ์ค้นพบจากการศึกษาว่าทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยนั้นมีของดีประจำจังหวัดมากมาย การหยิบเอาของดีข้อใดข้อหนึ่งมาสื่อสารผ่านตัวผู้เข้าประกวด จึงถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ท้องถิ่นอย่างมาก

เช่น บางจังหวัดหยิบเอาคำขวัญประจำจังหวัดมาเป็นไอเดียตัดชุด บางจังหวัดหยิบเอาโบราณสถาน โบราณวัตถุ บุคคลสำคัญ รวมไปถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีในจังหวัดนั้นๆ มาใช้

เมื่อเลือกมาใช้แล้ว แต่ละจังหวัดก็ต้องจัดเต็ม ทั้งสีสัน รูปทรง แสดงออกมาให้ชัดเจนถึงอัตลักษณ์และแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อแข่งขันกับอีก 76 จังหวัดที่เหลือ

ซึ่งหากได้รางวัลชุดประจำจังหวัดยอดเยี่ยม ชุดดังกล่าวก็จะถูกเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้การประกวด “ชุดประจำจังหวัด” ของเวทีมิสแกรนด์ฯ มีความเว่อร์วังอลังการอย่างที่เป็นอยู่

นอกจากนั้น วรพงษ์ระบุว่าเมื่อภารกิจการออกแบบชุดประจำจังหวัดได้กระจายไปสู่คนเก่งๆ ของแต่ละพื้นที่ ก็ถือเป็นการผลักดันให้เหล่าดีไซเนอร์ท้องถิ่นมีโอกาสแสดงความสามารถและนำเสนอผลงานของตนเองบนเวทีใหญ่ระดับชาติด้วย

ผลการศึกษาวิจัยอัตลักษณ์ความงามผ่านการประกวดมิสแกรนด์ฯ ยังพบว่าเหล่าผู้เข้าประกวดของเวทีนี้ มีคุณสมบัติอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากเวทีอื่นๆ คือ “สวยพร้อมใช้”

โดยผู้เข้าประกวดจะต้องมีความสามารถหลากหลาย ทั้งการร้องเพลง การแสดง และการดูแลตนเอง เช่น การแต่งหน้า ทำผม แต่งตัวไปออกงาน (ด้วยตัวเอง) รวมทั้งการมีบุคลิกภาพที่ดี

วรพงษ์ค้นพบอีกว่าการคัดเลือกสาวงามของเวทีการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ มักจะเลือกผู้เข้าประกวดที่มีรูปร่างเป็น “นางแบบ” หรือ “ซูเปอร์โมเดล” และยอมรับเรื่องการทำศัลยกรรมมากขึ้น

แตกต่างจากค่านิยมในอดีตที่สาวงามจะต้องมีใบหน้าทรงกลม หน้าอกใหญ่ได้รูป หุ่นทรงนาฬิกาทราย

นั่นหมายความว่ารูปลักษณ์มาตรฐานของนางงามไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

เช่นเดียวกับเรื่องบุคลิกของสาวงามผู้เข้าประกวด ซึ่งในอดีตจะต้องดูเป็นคนเรียบร้อย อ่อนหวาน อ่อนโยน รักเด็ก แต่การประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์มักจะคัดเลือกผู้เข้าประกวดโดยพิจารณาจากบุคลิกภาพที่ดูเป็นสาวมาดมั่น ทันสมัย มั่นใจในตนเอง ดูแล้วเป็นผู้หญิงยุคใหม่

วรพงษ์ชี้ว่าสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงค่านิยมคำว่า “ความสวย” หรือ “ความงาม” ในปัจจุบัน ที่กำลังผันแปรไป

ผู้คนในสังคมมีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่รูปร่าง หน้าตา สีผิว แบบใดแบบหนึ่ง ทว่าทุกคนมีความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแบบฉบับของตนเอง ส่วนเวทีการประกวดก็เน้นพิจารณาศักยภาพอื่นๆ ของผู้หญิง มากกว่าประเด็นรูปลักษณ์

งานวิจัยของวรพงษ์เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นบทความ และอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับประเทศฉบับหนึ่งช่วงเดือนสิงหาคมนี้