อภิญญา ตะวันออก : แด่ความเบาหวิวเหลือทนในปม “ชู้รัก” ฉบับดูราส์

ความเป็นตัวตนและเส้นสนกลในของนักเขียนคนหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานกำเนิดจากอินโดจีน ภาคหนึ่งที่มาร์เกอริต ดูราส์ (2457-2539) ก็ดูจะสวยงามในโลกวรรณกรรม

แต่ภาคหนึ่งของมาร์เกอริต ดูราส์ นั้น เธอมีนักเขียนชนผู้ปนไปด้วยความคลุมเครือ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเยาว์ที่เมืองเกียดินห์-เวียดนาม และกระทั่งเมื่อมารดาของเธออพยพมาตั้งรกรากที่เมืองกำปอด-กัมพูชา

อย่างที่ทราบ ณ กาลอันผ่านมาหลังจากทรงจำอยู่กับ 2 เมืองเก่าอินโดจีน ดูราส์ก็สร้างงานเขียนที่เกี่ยวข้องกัน ทั้ง “ลามองท์” (L”Amant) หรือ เดอะ เลิฟเวอร์ (the lover) ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1984 เมื่อปลายอายุ 70 ปีแล้ว สำหรับฉากรักเร่าร้อนอันเกี่ยวข้องกับไซ่ง่อน เมืองที่เด็กสาวช่างฝันดูราส์เคยใคร่ปรารถนา อยากมีชีวิตแบบชนชั้นฝรั่งเศสอินโดจีนสมัยนั้น

แต่สาวน้อยกำพร้าที่มารดาหญิงม่ายแม่ของเธอได้สิทธิ์รับราชการทางกฎหมายแทนสามี แต่การเป็นครูของนางโดนาดิอู (Donadieu) ดูจะประสบแต่อุปสรรค แรกเลย เธอมีชื่อเป็นครูใหญ่โรงเรียนหลวงแห่งกรุงพนมเปญที่ก่อตั้งโดยกษัตริย์เขมร แต่จู่ๆ โชคชะตาก็เปลี่ยนให้เธอและลูกๆ ย้ายไปกำปอด ซ้ำยังจับจองที่ดินสัมปทานที่ซื้อมาราคาถูก แต่กลายเป็นเขตดินเค็มที่ไม่สร้างประโยชน์ในทางเกษตรกรรม

มาร์เกอริต ดูราส์ ได้แรงบันดาลใจในชะตากรรมของมารดา และแต่งเป็นนิยายงานยุคแรกในชื่อ “ทำนบกั้นแปซิฟิก” (Un barrage contre le Pacifique) ที่กลายเป็นพล็อตประโลมโลกย์ในงานเขียนยุคหลังคือ L”Amant หรือ “ชู้รัก” (1984) ที่สร้างชื่อเสียงช่วงปลายชีวิตขณะอายุได้ 70 ปี

ทว่า เมื่อ L”Amant ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ (Jean Jacques Annaud) นั้น เขาได้ผสมผสานเสน่ห์ของโฮจิมินห์-1929 และกำปอดไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อ “เดอะ เลิฟเวอร์-ชู้รัก” อย่างพอเหมาะพอดี ตั้งแต่เสน่ห์ของเมือง แม่น้ำ และแนวชนบท ดิน โคลน ตม หากจะสังเกตและทราบถึงลักษณะบางอย่างอันคาบเกี่ยวกันในนิยายทั้ง 2 เล่มนี้

และดูเหมือนว่า ความลุ่มหลงต่อเดอะ เลิฟเวอร์จะยิ่งทำให้งานเขียนของมาร์เกอริต ดูราส์ ขจรขจายชื่อเสียงออกไป

หากย้อนไปอีกก็จะพบว่า ดูราส์เขียนชู้รักโดยอาศัยตัวละคร มิสเตอร์โจ นายหน้านักธุรกิจจีนจาก “ทำนบกั้นแปซิฟิก” คือตัวละครที่ทับซ้อนอยู่ใน “L”Amant” ที่กลายเป็นบุรุษผู้น่าจดจำใน “เดอะ เลิฟเวอร์” ฉบับอังกฤษนั้น เห็นได้ชัดว่า อังโนด์ยังเสริมฉากคันดินโคลนที่ควรจะอยู่ใน “Un barrage contre le Pacifique” ในตำบลไพรนบของเมืองกำปอด และอีกหลายฉากของตัวพระ-นางในชู้รัก-L”Amant

ทว่า จินตนาการอันบรรเจิดนี้ ดูจะไม่พบว่าจับใจต่อมาร์การิต ดูราส์ขณะนั้น สำหรับนักเขียนถือสถานะสูงในโลกวรรณกรรมฝรั่งเศส ทำให้เธอทุกข์ต่อ “L”Mant” ฉบับภาพยนตร์อย่างมาก ถึงกับอ้างว่า เพื่อรักษาเกียรติยศนั้น โดยแม้ว่ามันจะเป็นปฏิปักษ์กับทีมภาพยนตร์ของฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ ก็ตาม

ด้วยความที่โปรดักชั่นสุดเว่อร์วังไปด้วยทีมงานแบบอังโนด์อย่างที่รู้กัน ดังนี้ การปกปักชื่อเสียงดังกล่าว ดูราส์จึงงัดข้ออย่างสุดกำลังอีโก้ต่อทีมภาพยนตร์และความเชื่อในแบบของตน

เห็นชัดว่า แม้ว่าจะไม่มีผลต่อการทำงานของอังโนด์ แต่ทีมงานของเขา โดยเฉพาะผู้จัดการภาพยนตร์หรือโปรดิวเซอร์ กลับตกอยู่ในฝันร้าย

โดยแม้กองภาพยนตร์จะได้ลิขสิทธิ์เต็มแล้วก็ตาม แต่เพื่อให้การทำงานเดินต่อไปได้ พวกเขาจำต้องเลือกทำในบางอย่าง

นั่นคือ กำจัดนักเขียนเจ้าของบทประพันธ์ให้ออกไป

 

มันทำให้เราจินตนาการไม่ออกเลยว่า เมื่อผู้กำกับฯ คนดังเผชิญหน้ากับเอ็มดี (มาร์เกอริต ดูราส์) นั้น เขาจะรับมืออย่างไร

แม้เป็นที่รู้ขานกันว่า ตรรกะการทำหนังของฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์นั้นลุ่มลึกเกินกว่าความมีอีโก้จะครอบงำเขาได้ แต่สำหรับเอ็มดีแม้ขณะนั้นร่วงโรยชราแล้ว แต่ก็ใช่ว่าอีโก้ของเธอจะชราตามไปเสียเมื่อไร

โชคดีที่ฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ มีความซื่อสัตย์ต่อสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์และศิลปะการทำหนังอย่างเหนือจินตนาการ หากปราศจากซึ่งสิ่งนี้ในผู้กำกับฯ รายนี้เสียแล้ว เชื่อว่างานเขียนของมาร์เกอริต ดูราส์ คงจะมาไม่ไกลถึงขนาดนี้ โดยมิใช่ในฐานะวรรณกรรมที่คว้ารางวัลสำคัญของฝรั่งเศส

แต่เป็นฉบับภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงของศิลปะ อย่างเปิดเผยต่อสัญชาตญาณและความเป็นมนุษย์ จนกลายเป็นแง่งามต่องานเขียนของดูราส์ที่มากขึ้นไปอีก

และนั่นต่างหากที่ทำให้จดจำ

แต่ดูราส์ดูจะไม่เห็นภาพ เธอยังมีปฏิกิริยากล่าวหาฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ ว่าทรยศต่องานและบทภาพยนตร์ที่ตนเขียนขึ้นและตั้งชื่ออย่างตรงทื่อว่า “L”Amant de la Chine du Nord” (ชู้รักชาวจีนเหนือ)

ตอนนั้นที่ทีมงานเดอะ เลิฟเวอร์ดูจะเริ่มตระหนักแล้วว่า พวกเขาจะทำงานต่อไปเยี่ยงใด หากปล่อยให้ดูราส์สร้างอิทธิพลต่อโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ของฝ่ายตน

ด้วยเหตุนั้น แรกเลย ดูราส์ซึ่งได้ค่าลิขสิทธิ์ต้นฉบับ “ลาม็องต์” เป็นเงิน 500,000 ฟรังก์ แต่มันคงไม่พอเสียแล้วกระมัง ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้รับอีก 500,000 ฟรังก์ สำหรับค่าเขียนบท 4 ตอน ซึ่งมันก็เป็นข้อเสนอที่เธออยากร่วมทำ

แต่หยุดก่อน มันยังมีบทหลอนอื่นๆ ที่ตามมา ซึ่งก็คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองถ่ายและอื่นๆ

ปฏิกิริยาต่อต้านกองถ่ายโดยเจ้าของบทประพันธ์เสียเองเยี่ยงนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพยนตร์ในอนาคต และเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว ทีมภาพยนตร์จึงตัดสินใจจ่ายเงินอีก 1.5 ล้านฟรังก์ สำหรับ “ยุติ” ทุกบทบาทของการแสดงออกและการเขียน ตลอดจนการต่อต้านกองงานภาพยนตร์ของมาร์เกอริต ดูราส์ ทั้งหมด (ดู Adler, Laure จาก op.cit.pp 849-850)

ทว่าทันทีที่ภาพยนตร์ออกฉายในรอบกาล่าที่ปารีส (1992) มาร์เกอริต ดูราส์ ก็ยังให้สัมภาษณ์ Le Monde โดยถูกกระเซ้าถึงจำนวนเงินมหาศาลในการนั้น ดูราส์อ้างว่าทั้งหมดนั้นเธอทำขึ้นมาก็เพื่อ “ปกป้อง” บทประพันธ์ของตน

และจริงๆ แล้ว ลูกๆ ของเธอก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน (1)

 

ฟังดูเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ ผู้กำกับหนัง ที่… ไม่เคยเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับดูราส์แม้แต่น้อย

เขาไม่เคยย่างกรายไปที่บ้านของเธอ ขณะเดียวกันก็ต้องการชีวิตและข้อมูลทั้งหมดของดูราส์มาสร้างแรงบันดาลใจในภาพยนตร์

ดูราส์เองก็ยอมรับว่า เขาเก็บรายละเอียดเธอแทบจะหมดเปลือก แต่ผ่านทีมงานของตนที่ชื่อลินดอนเท่านั้น และแม้จะให้น้ำหนักต่อชีวิตส่วนตัวเจ้าของบทประพันธ์

แต่เมื่ออังโนด์ไปเวียดนาม เขาได้ตามหาทุกซอกมุมจนพบบ้านชินัวส์ (Chinois) หนุ่มพระเอกของเรื่อง ผู้ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าที่เขาจะมาถึง แต่อังโนด์ก็ยังหาที่อยู่ของเขาจนเจอ รวมทั้งหลุมฝังศพที่เขาไปแสดงความเคารพ และส่งภาพทั้งหมดไปให้ดูราส์

เธอสารภาพว่า “มันทำให้ฉันเป็นสุขมากที่ได้เห็นรูปเหล่านั้น”

และฉายชัดถึงวิธีทำงานอย่างมืออาชีพของอังโนด์mujเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น “แต่กระนั้น” ดูราส์กล่าว “มันก็ไม่ใช่อัตชีวประวัติของฉัน”

ตอกย้ำถึงความพยายามมีอิทธิพลต่อกองถ่ายภาพยนตร์ แต่ทำให้เธอนอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์แล้วยังถูกจำกัดบทบาทด้วยเงินก้อนใหญ่

แต่ไม่จบลงได้ ดูราส์ยังวิจารณ์ตัวแสดงนำคือ เจน มาร์ช (Jane March) ผู้นำบทตัวเธอ แต่มันก็ยังไม่ใช่อยู่ดีในสายตาของดูราส์ ผู้ยอมรับว่า “ที่จริงแล้ว ฉันไม่มีสิทธิ์จะแสดงความเห็น แต่ฉันเห็นว่า นางเอกหน้าตาสวยเกินไป”

ข้อสังเกตนี้ทำให้เธอถึงกับเขียนบันทึกว่า “สาวน้อยคนนั้นดูสวยมาก ความสวยแบบนั้นมันจะไปบดบังความสามารถในการแสดง และทำให้เธอถูกมองไม่ต่างจากวัตถุ”

ก้าวล่วงถึงวิธีการคัดตัวนักแสดงนำของฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ ผู้คัดนักแสดงนำจำนวนมาก และมาตกที่เจน มาร์ช ผู้ที่เขากล่าวว่า เธอมีดวงตาและริมฝีปากแบบเดียวกับดูราส์

ต้นแบบสำคัญที่กองถ่ายเดอะ เลิฟเวอร์ยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อปิดปากนักเขียนท่านนี้

—————————————————————————————————————————-
(1) Kampot : Miroir du cambodge, promenage historique, touristique et litt?raire โดย Luc Mogenet (2003)