วิเคราะห์ : จัดระเบียบ “สื่อทำเนียบ” (อีกแล้ว) ระเบียบไม่ขลัง หรือกฎไม่ชอบธรรม?

การจัดระเบียบสื่อทำเนียบไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

มีรายงานว่าการจัดระเบียบการแต่งกายสื่อมีมานานแล้ว

ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ โดยมีการขอความร่วมมือสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลในการแต่งกายที่สุภาพและเหมาะสม

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบ ช่วงแรกๆ ปี 2557 ได้ให้เจ้าหน้าที่แจ้งไปยังผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขอความร่วมมือในการแต่งกายให้เรียบร้อย ให้ผู้สื่อข่าวหญิงสวมกระโปรงหรือกางเกงผ้า งดสวมกางเกงยีนส์สีซีด

ส่วนผู้สื่อข่าวชายงดใส่กางเกงยีนส์สีซีด ให้ใส่กางเกงยีนส์สีน้ำเงินหรือสีดำได้ และขอให้งดการใส่รองเท้าผ้าใบสีฉูดฉาด งดใส่เสื้อยืดคอกลม

และให้โกนหนวดเครา ไม่ให้ไว้รุงรัง

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ผ่านมาเกือบ 4 ปี ในสัปดาห์นี้ ที่มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบ ก่อนการประชุม ครม. เจ้าหน้าที่ได้มีการประสานงานกับสื่อมวลชน ขอความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 สถานที่ประชุม ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่จะเข้าไปทำข่าวกิจกรรมประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ ภายในตึก จะได้รับอนุญาตเฉพาะผู้ที่เป็นตัวแทน (พูล) ซึ่งจะต้องแจ้งรายชื่อล่วงหน้า และติดปลอกแขนสีส้มเท่านั้น เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไม่ให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพยืนรอดักที่บันไดทางขึ้นตึกบัญชาการ 1 เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพจำนวนมาก จึงเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของ ครม. เจ้าหน้าที่ และข้าราชการ โดยให้ยืนรอบริเวณที่จัดไว้ให้ ซึ่งมีแนวกั้นไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งได้ขอความร่วมมือเป็นการภายใน ขอไม่ให้สวมใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืดไม่มีปก เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาล

แน่นอนว่าคำสั่งห้ามใส่กางเกงยีนส์นี้มีมาตั้งแต่ปี 2557 จึงไม่ใช่คำสั่งใหม่ที่เกิดขึ้น แต่การปฏิบัติงานที่ให้เฉพาะทีมพูลทำข่าวนายกฯ ทำข่าวกิจกรรมประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ ใต้ตึกบัญชาการ 1 วันประชุม ครม. นั้น มีคำสั่งมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2559

ซึ่งที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้ผ่อนปรนลงไป ไม่ได้คุมเข้มมากนัก

แต่ในสัปดาห์นี้ได้กลับมาคุมเข้มอีกครั้ง โดยการจัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ก่อนการประชุม ครม. แต่เดิมนั้นจัดบริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี ที่ใช้เป็นที่ประชุม ครม. ชั่วคราวช่วงปี 2557

ต่อมาจึงมาจัดกิจกรรมระหว่างถนนทางเดินตึกไทยคู่ฟ้ามายังตึกบัญชาการ 1 ช่วงปี 2558 และได้ปรับเปลี่ยนสถานที่มาเป็นใต้ตึกบัญชาการ 1 ช่วงปี 2559 ด้วยสภาพอากาศ และเป็นช่วงไว้อาลัยของคนไทย จึงลดการจัดกิจกรรมกลางแจ้งลงไป

แต่สัปดาห์นี้มาพร้อมข้อสั่งการในที่ประชุม คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ คสช. รัฐมนตรี ผบ.เหล่าทัพ นายทหาร-ตำรวจ ปรับลดขบวนรถและทีม รปภ. ให้เหมาะสม หลังมีประชาชนร้องเรียนมามาก ให้ทีม รปภ. ขอทางประชาชนอย่างสุภาพ เพราะไปขอทางประชาชน ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องปิดทางแยกหรือทางร่วม ก็ใช้เวลาให้น้อยที่สุด 30 วินาที ถึง 1 นาที เป็นต้น

การออกคำสั่งนี้ก็ถูกมองว่าเพื่อมา “เอาใจ” หรือ “สร้างแต้ม” ใดๆ หรือไม่ ท่ามกลางการจัดระเบียบสื่อที่เข้มงวดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าแม้แต่ฝั่งผู้นำเองก็มีการ “จัดระเบียบ” กันเองด้วย ให้น้ำหนักการจัดระเบียบต่างๆ ชอบธรรมขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ได้มีข้อกำหนดกับสื่อ ในเรื่องมารยาทในการทำข่าวนายกฯ หลายข้อ โดยเฉพาะเรื่องให้ห่างนายกฯ 5 เมตร และให้คำนับก่อน-หลังถ่ายภาพ

1. ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกฯ และแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ

2. การแต่งกายที่สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น

3. กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล

4. ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกฯ 5 เมตร เป็นอย่างน้อย

5. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน

พร้อมทั้งข้อควรปฏิบัติในการบันทึกภาพ

1. ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกฯ อยู่ในห้องรับรอง

2. ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได ฯลฯ

3. ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร

4. ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลน ห้อมล้อม กีดขวางทางเดิน

5. ให้บันทึกภาพได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้

6. หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ

ทําให้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาชี้แจงว่า เป็นเอกสารปี 2558 ไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ หากพิจารณาความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาก็ไม่ได้บังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้โดยเคร่งครัดนัก

“เรื่องคำนับหรือไม่คำนับผม เป็นเรื่องของท่าน ผมไม่ได้ดีใจหรือเสียใจกับการคำนับของทุกท่าน เพราะเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างหัวเสีย 6 สิงหาคม 2561

อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเมื่อทำเนียบออกกฎระเบียบใดๆ มาใช้กับสื่อ โดยเฉพาะยุค พล.อ.ประยุทธ์มีการออกระเบียบและกำชับอยู่ให้เห็นตลอด ซึ่งมีการมองว่าเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอดีตนายทหารและเป็น ผบ.ทบ. มาถึง 4 ปี จึงต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบขึ้น ตั้งแต่การแต่งกายจนไปถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติงานของสื่อในพื้นที่ต่างๆ

แต่ในทางปฏิบัติก็มีการผ่อนปรนมาตลอด

โดยเฉพาะในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่ามีภาพลักษณ์เป็น “นักการเมือง” มากขึ้น โดยที่มาควบคู่คือ มาตรการ รปภ. ผ่อนคลายลงไปจากช่วงปี 2557-2558

แต่ทั้งหมด หากมองด้วยใจเป็นธรรม ทุกฝ่ายล้วนทำตาม “หน้าที่” ทั้งเจ้าหน้าที่ทำเนียบและสื่อ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะต้องรักษาสิทธิของตัวเอง แต่จะต้องไม่ “ละเมิดสิทธิ” กัน แต่สื่อเองก็มีวิธีรับมือกับระเบียบต่างๆ อยู่แล้ว เพราะสื่ออยู่มาหลายรัฐบาลและหลายนายกฯ ที่มีสไตล์หรือแนวคิดการทำงานที่แตกต่างกัน

แต่ในวันนี้ “สื่อ” กับความเป็น “ฐานันดรที่ 4” กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะรัฐมีสื่อในมือมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่เปิดเพจต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ไม่รวมถึงเพจเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยแชร์กระจายข่าว

วันนี้จัดระเบียบ “สื่อทำเนียบ” กลับมาใหม่ ในยุค คสช. เป็นเพราะระเบียบไม่ขลัง

หรือกฎไม่ชอบธรรม? คำตอบชัดเจนอยู่แล้ว