หนุ่มเมืองจันท์ : แพ้แต่ชนะ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งดูหนังสารคดีเรื่องใหม่ของ “เต๋อ” นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มาครับ

GIRL DON”T CRY

เป็นสารคดีของ BNK48 ในแง่มุมที่คนไม่เคยรู้มาก่อน

ได้ข่าวว่าเป็นหนังที่มีคนจองบัตรล่วงหน้าเยอะมากจนเอสเอฟและเมเจอร์ต้องเพิ่มรอบ

คาดว่าจะเป็นกลุ่ม “โอตะ” แฟนคลับของ BNK48

มีรูปแบบการจองบัตรแบบแปลกๆ ด้วยครับ

แฟนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันจองบัตรในโรงหนึ่งแบบเว้นช่องว่าง

เหมือนกับการแปรอักษร

ให้อ่านได้ว่า BNK48

“นิว” ผู้บริหารรุ่นใหม่ของแซลมอน กรุ๊ปที่ทำหนังเรื่องนี้ บอกว่าเป็นครั้งแรกที่โปสเตอร์หนังที่สั่งพิมพ์หายไปหลายแผ่นแบบไร้ร่องรอย

พิมพ์งานหนังสือมามากมายไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้

ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ BNK48 ล้วนมี “มูลค่า” ทางใจสำหรับกลุ่มโอตะ

ผมได้รับเชิญไปดูหนังเรื่องนี้รอบเดียวกับ “นิ้วกลม-ชิงชิง-โตมร ศุขปรีชา”

ถือว่าเป็นกลุ่มคนธรรมดาที่ไม่ใช่ “โอตะ”

ผมอาจจะเขียนเรื่อง BNK48 หลายครั้ง

แต่เป็นการติดตาม BNK48 แบบ “นักข่าว” ที่เห็นว่านี่คือ “ปรากฏการณ์” ที่น่าจับตามองตั้งแต่เริ่มต้น

คล้ายๆ กับเห็นระดับน้ำทะเลที่ชายหาดเริ่มลดลง

ตอนนั้นแค่สงสัย และคิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการบันเทิงไทย

แปลกดี

ไม่ได้นึกว่า BNK48 จะกลายเป็น “สึนามิ” แบบที่เห็นในวันนี้

ที่ผ่านมาภาพที่เห็นภายนอกคือ เด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่วิ่งตามความฝันของตัวเอง

หน้าตาไม่ได้สวยมากมาย

แต่น่ารักและมีเสน่ห์

แต่ GIRL DON”T CRY เปิดเรื่องราวด้านลึกในใจของเด็กกลุ่มนี้

ภายนอกที่เราเห็นคือความน่ารัก สดใสของศิลปินกลุ่มหนึ่ง

แต่เบื้องลึกแล้ว เด็กกลุ่มนี้กำลังต่อสู้กับ “ความรู้สึก” บางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ทุกคนเป็นเพื่อนกัน

ฟันฝ่าความยากลำบากของการฝึกซ้อมมาด้วยกัน

แต่ด้วยกติกาของ BNK48 ทุกคนต้องแข่งขันกัน

เพื่อแย่งชิงตำแหน่ง “เซ็มบัตสึ”

มีอยู่ 16 คนจะได้ออกซิงเกิลเพลงของวง

และยังต้องแย่งชิงตำแหน่ง “เซ็นเตอร์” ที่อยู่กลางวงและเด่นที่สุด

ในเกมนี้มี 16 คนเป็น “ผู้ชนะ”

และอีก 10 กว่าคนที่เป็น “ผู้แพ้”

ลองนึกแบบ “ย้อนเวลาหาอดีต” ดูสิครับ

ถ้าเป็นเราในวัยนั้น

บางคนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

แต่บางคนยังอยู่มัธยมต้น

อย่าลืมว่าวัยนี้จะถือว่า “เพื่อน” เป็นใหญ่

แต่เกมนี้เราต้องแข่งกับเพื่อน

คนที่อยู่ในสถานะ “ผู้ชนะ” ไม่เท่าไร

ดีใจแต่ก็สงสารเพื่อน

คนที่หนักที่สุดคือเด็กๆ ที่ต้องอยู่ข้างล่าง

เปรียบเสมือนเป็น “ผู้แพ้” ในเกม

ความรู้สึกของเธอจะเป็นอย่างไร

เรื่องแบบนี้เข้าทาง “เต๋อ” นวพลครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยดูสารคดีเรื่อง “โตเกียว ไอดอล”

เป็นสารคดีชีวิตของ “ไอดอล” แบบ BNK48 ที่ญี่ปุ่น

แต่เขาเจาะชีวิตของ “ไอดอล” ที่ยังไม่ดังมาก

มี “โอตะ” แค่กลุ่มเล็กๆ

ไม่เหมือนกับ BNK48

แต่ “โตเกียว ไอดอล” ทำแบบครบวงจร

คือเจาะชีวิตทั้ง “ริโอะ” ไอดอลเด็กสาว

และเหล่าโอตะทั้งหลาย

ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงลงทุนลงแรงสนับสนุน “ริโอะ” อย่างเต็มที่

มีมิติทางความรู้สึกหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจ

แต่ “เต๋อ” นั้นเลือกทำเฉพาะ BNK48 อย่างเดียว

และใช้การสัมภาษณ์ในสตูดิโอเป็นการเดินเรื่อง

ภาพจึงค่อนข้างอึดอัดบ้าง

เพราะเป็นเฟรมเดิมๆ ตลอด

ที่สำคัญ “เต๋อ” เลือกที่จะเล่าแต่ “เบื้องหลัง”

ไม่ยอมให้ “ความสดใส” ที่เป็น “เบื้องหน้า” โผล่ให้เห็นบนจอเลย

กลางเรื่องที่ถึงตอนเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” เปลี่ยนชีวิตของวง

พอเสียงเพลงดังขึ้น

ผมนึกว่า “เต๋อ” จะปรับโหมดเข้าสู่ความสดใส

เปล่าเลยครับ

สดใสแวบเดียว

กลับไป “เต๋อ” เหมือนเดิม 555

GIRL DON”T CRY จึงเหมือน “หนังชีวิต” ของเด็กสาวกลุ่มหนึ่ง

มีทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตา

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่มันเป็น “เรื่องจริง”

ไม่มี “พล็อต”

น้องๆ ทุกคนเล่า-เล่าและเล่าเต็มที่

เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้อยู่ที่คนเล่าเรื่องเป็น “เด็ก”

ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่”

เพราะถ้าเป็นสารคดีที่ “ผู้ใหญ่” เล่าเรื่อง

เขาจะกั๊ก

เลือกเล่าในสิ่งที่ควรเล่า

ในขณะที่ “เด็ก” จะกล้าพรั่งพรูความรู้สึกจริงๆ ออกมา

น้อยใจก็เล่า

เรื่องน่าอายก็เล่า

ทำให้หนังเรื่องนี้ REAL มาก

มีหลายตอนที่เราจะหลุดขำในความน่ารักแบบเด็กๆ

จะมีก็เพียง “เฌอปรางค์-อรอุ๋ง” ที่โตหน่อย

ทั้งคู่จะกลั่นกรองเรื่องราวก่อนเล่า

ช่วยทำให้หนังเรื่องนี้มีมิติมากขึ้น

ไม่เหมือนเด็กๆ

…จัดเต็ม

ถามว่าชอบไหม

ตอบได้เลยว่า “ชอบ”

แต่เล่าไม่ได้มากนัก เพราะเกรงใจเหล่า “โอตะ” ที่ยังไม่ได้ดู

วันก่อนเจอ “แพม” หลานคนหนึ่งที่เป็นแฟน BNK48 ในงานวันเกิดของอา

แกล้งเดินไปหาบอกว่าได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว

“เรื่องเป็นแบบนี้นะ”

“แพม” เอามือปิดหูวิ่งหนีเลยครับ

มีหลายประโยคในเรื่องที่ชอบ

อย่างน้องบางคนที่ไม่เคยได้รับการคัดเลือกเป็น 16 คนแรกเลย

และอยู่ในอันดับท้ายๆ ตลอด

เธอตั้งคำถามว่า “จะต้องพยายามแค่ไหนจึงจะเรียกว่าพยายาม”

แต่น้องคนนั้นก็ยังสู้ต่อ

ภาพที่ผมชอบที่สุดคือ ภาพการซ้อมของ “เซ็มบัตสึ” 16 คนบนเวทีแสดงจริง

คนอื่นๆ นั่งอยู่ด้านล่าง

แต่น้องคนนี้เลือกยืนอยู่บนเวที

ไม่ใช่กลางเวที

แต่เป็นตรงด้านหลังๆ ริมเวที

ในขณะที่ “ผู้ชนะ” 16 คนซ้อมเต้นบนเวที

เธอก็เต้นตาม

ซ้อมเหมือนกับเป็นตัวจริง

ครับ ไม่ว่ากติกาในเกมนี้จะบอกว่าเธอเป็น “ผู้แพ้”

แต่สำหรับผม น้องคนนี้ชนะแล้วครับ

เพราะเธอไม่ยอมแพ้