อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Bangkok Biennial เทศกาลศิลปะใต้ดิน ที่ท้าทายการรวมศูนย์อำนาจ ในวงการศิลปะไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแวดวงศิลปะของบ้านเรา ก็น่าจะพอได้ทราบข่าวคราวว่าประเทศไทยเรากำลังจะมีการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติอันยิ่งใหญ่อลังการเป็นครั้งแรก ที่มีชื่อว่า “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale)

อนึ่ง เทศกาลศิลปะที่เรียกกันว่า “เบียนนาเล่” นั้นมีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี โดยเป็นเทศกาลศิลปะที่มีชื่อเรียกว่าเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale หรือในชื่อภาษาอิตาเลียนว่า La Biennale di Venezia) ที่จัดขึ้นในทุกๆ สองปี (Biennale เป็นภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า “ทุกๆ สองปี”)

ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลกที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1895 และกลายเป็นชื่อเรียกเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ และถูกจัดอย่างแพร่หลายในลักษณะเดียวกันไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เบอร์ลิน, มิวนิก, มอสโก, โคเปนเฮเกน, ลิเวอร์พูล, อิสตันบูล, เยรูซาเลม, ซิดนีย์, ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, ไทเป, จาการ์ตา, สิงคโปร์ เป็นอาทิ

เทศกาลศิลปะ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่” ที่กำลังจะจัดขึ้นในบ้านเรานั้นอยู่ภายใต้ธีม สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต (Beyond Bliss) โดยสถานที่จัดแสดงงานจะกระจายอยู่รอบๆ ตัวเมืองกรุงเทพฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ บ้านเราก็กำลังจะมีการจัดเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในชื่อ Thailand Biennale, Krabi 2018 ภายใต้ธีม สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ (Edge of the wonderland) อีกด้วย เรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็มกันจริงๆ อะไรจริงๆ คนดูอย่างเราๆ ก็ต้องรอชมกันด้วยใจระทึกพลัน

ส่วนเรื่องที่ว่าเทศกาลศิลปะเหล่านี้จะทำให้คนไทยสุขสะพรั่ง หรือย่างก้าวเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ได้จริงๆ หรือเปล่านั้น ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป

แต่ในคราวนี้เราไม่ได้กล่าวถึงเทศกาลศิลปะที่ว่านี้หรอก แต่จะขอกล่าวถึงเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในลักษณะเดียวกันที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย แบบคู่ขนานกันกับสองเทศกาลข้างต้น เทศกาลศิลปะนั้นมีชื่อว่า

Bangkok Biennial (บางกอก ไบแอนเนียล)

เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในลักษณะใต้ดินที่ทำขึ้นในเชิงยั่วล้อและโต้กลับเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่

และที่สำคัญเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ในครั้งนี้ นับเป็นเทศกาลศิลปะใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดขึ้นในบ้านเรา

และถือเป็นการจัดงานศิลปะร่วมสมัยแบบเบียนนาเล่ ที่จะมีการจัดขึ้นในทุกๆ สองปีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โดย Bangkok Biennial ถูกสร้างขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายอำนาจการจัดเทศกาลศิลปะโดยหน่วยงานรัฐ และเป็นการปฏิวัติรูปแบบในการเข้าถึงและการจัดการทางศิลปะ โดยมุ่งเน้นการทำลายการรวมศูนย์ และนำเสนอในรูปแบบของโอเพ่นซอร์ส (Open-source) หรือพื้นที่เท่าเทียมกันในการทดลองทางความคิดสร้างสรรค์และการจัดการทางสังคม โดยเลือกวิธีที่เปิดกว้างและเสมอภาค แทนที่การจัดการแบบอำนาจสั่งการแบบบนลงล่าง

พูดง่ายๆ ก็คือ Bangkok Biennial จะไม่มีภัณฑารักษ์กลางที่มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจเหมือนเทศกาลศิลปะอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยภาครัฐ (หนำซ้ำยังไม่จำเป็นต้องมีงานเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้นด้วย)

ด้วยการใช้ “พาวิลเลียน” (Pavillion : เป็นชื่อเรียกพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะในเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่) ที่มีความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วม พูดง่ายๆ ก็คือ แต่ละพาวิลเลียนนั้นจะสร้างโดยใครก็ได้ที่สามารถทำได้ ในรูปแบบที่ผู้ริเริ่มพาวิลเลียนนั้นๆ เป็นผู้สร้างสรรค์อย่างเสรี ดังนั้น ภาพรวมของเทศกาลก็จะถูกสรุปโดยเหล่าพาวิลเลียนที่อยู่ในงานทั้งหมด

ด้วยการเลือกรูปแบบโอเพ่นซอร์สอันเปิดกว้างและเท่าเทียมมากกว่าการพยายามเลียนแบบระบบของสถาบันเก่าแก่นับร้อยปีอย่าง เวนิส เบียนนาเล่

ซึ่งทางผู้จัดงานเชื่อว่าวิธีการเชิงทดลองเช่นนี้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มากกว่าการจัดการตามขนบแบบรวมศูนย์ หรือการกระจายอำนาจจากบนลงล่างอย่างที่แล้วมา

Bangkok Biennial คือการสำรวจหารูปแบบและโครงสร้างใหม่ๆ ในการแสดงออกทางศิลปะและเป็นการปฏิเสธผู้มีอำนาจที่เป็นผู้จำกัดและคัดเลือกการเข้าถึงผลประโยชน์ทางศิลปะ และเป็นการเรียกคืนสิทธิในการเข้าถึงศิลปะมาสู่ประชาชนในสังคมได้

และที่สำคัญ การมีส่วนร่วมกับเทศกาล Bangkok Biennial ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ศิลปินและทีมงานที่เข้าร่วมและมีส่วนเกี่ยวข้องแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังกินความรวมถึงผู้ชม และบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวงานนี้ด้วยเช่นกัน ผู้จัดงาน Bangkok Biennial เชื่อว่ารูปแบบเช่นนี้จะสามารถแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยได้ดีกว่า และสามารถทำให้เทศกาลศิลปะนี้เป็นเทศกาลที่มีคุณค่า น่าสนใจ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมและผู้คนได้อย่างแท้จริง ซึ่งในแวดวงศิลปะของโลกในปัจจุบันก็มีตัวอย่างเทศกาลมากมายที่ใช้หลักการเดียวกัน

และเพื่อที่จะให้วิธีการนี้บรรลุผล ทีมผู้ก่อตั้งจึงตัดสินใจที่จะไม่ออกหน้าแสดงตัวตนแบบเดียวกับเทศกาลศิลปะอื่นๆ เพื่อให้เทศกาลนี้ไม่ถูกอธิบายและทำความเข้าใจจากลักษณะตัวตนและบุคลิกภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

พวกเขาหวังว่าการจัดการแบบนี้จะทำให้เทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial สามารถเข้าถึงคนในวงกว้าง และมีความหลากหลายของรูปแบบการจัดงาน

Bangkok Biennial ประกอบด้วยศิลปิน 249 คน จาก 26 ประเทศ ใน 73 พาวิลเลียน แต่ละพาวิลเลียนในงาน Bangkok Biennial นั้นมีความเป็นเอกเทศทั้งการจัดการและคัดเลือกงาน โดยไม่มีทั้งภัณฑารักษ์หลัก หรือผู้อำนวยการของเทศกาล

แต่ละพาวิลเลียนสามารถตีความได้หลายหลาก

บางพาวิลเลียนอาจเป็นแกลเลอรี่ที่มีอยู่แล้ว และมีการจัดเลือกผลงานเข้ามาแสดงในนิทรรศการด้วยตัวเอง

บางพาวิลเลียนอาจจะมีหลายๆ สถานที่เข้าร่วมในนิทรรศการที่มีแนวความคิดหลักเดียวกัน และมีภัณฑารักษ์ของงาน บางพาวิลเลียนอาจจะเป็นการใช้สถานที่ที่ไม่เคยมีการใช้จัดนิทรรศการมาก่อน และมีภัณฑารักษ์หรือศิลปิน (ไทยหรือต่างชาติ) เข้ามาจัดการ

บางพาวิลเลียนอาจจะเน้นการแสดงเป็นแบบคืนเดียวจบ

บางพาวิลเลียนอาจจะไม่มีพาวิลเลียนเลยด้วยซ้ำไป

สำหรับ Bangkok Biennial พาวิลเลียนสามารถเป็นได้แทบทุกอย่างและเปิดกว้างให้กับทุกๆ ความคิด

อ้อ ถ้าใครสงสัยว่าทำไมเขาเลือกใช้คำว่า Biennial (ไบแอนเนียล) แทนที่จะเป็น Biennale (เบียนนาเล่) เหมือนเทศกาลที่เรากล่าวถึงไปข้างต้น

ทางผู้จัดงานกล่าวว่า ทั้งสองคำนี้ ต่างกันแค่ภาษาแต่มีความหมายเหมือนกัน และในทีมงานผู้จัด Bangkok Biennial นั้น ไม่มีใครเป็นคนอิตาเลียน ก็เลยไม่ใช้ชื่อภาษาอิตาเลียนนั่นแหละนะ

(อ่านะ!)

หลักๆ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

แต่มันก็อาจจะถูกจัดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆ อย่าง ปัตตานี, นราธิวาส, ราชบุรี, ฉะเชิงเทรา, ขอนแก่น, เชียงใหม่

หรือแม้แต่ต่างประเทศอย่างเมืองมาสทริชต์ (Maastricht) ในเนเธอร์แลนด์, โอกินาว่า ในญี่ปุ่น รวมถึงพื้นที่ในโลกเสมือนอย่างอินเตอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

โดยตัวเทศกาลเริ่มไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม และจะจัดไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2018 ซึ่งก็เรียกได้ว่าโคตรจะหลุดโลกและมันส์พ่ะย่ะค่ะกันตั้งแต่วันเปิดงานเลยก็ว่าได้ เพราะเขาเปิดเทศกาลศิลปะนี้กันด้วยการร่วมกันเต้นแอโรบิกหมู่กันอย่างครื้นเครง ใต้สะพานพระราม 8

ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมอันสนุกสนานและสร้างเสริมสุขภาพพลานามัยแล้ว มันยังสลายความศักดิ์สิทธิ์เคร่งขรึมของพิธีเปิดงานศิลปะ และดึงศิลปะให้เข้าใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนได้อีกด้วย เข้าไปดูคลิปเปิดงานกันได้ที่นี่ https://bit.ly/2u1FrZO

และเราก็จะทยอยรายงานความคืบหน้าของเทศกาล Bangkok Biennial ในตอนต่อๆ ไป ส่วนใครสนใจจะตามดูงานเทศกาลนี้ ก็เข้าไปดูรายละเอียดและปฏิทินการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ของ Bangkok Biennial ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก @BangkokBiennial และ http://bangkokbiennial.com/ กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพจากเพจ Bangkok Biennial, ARTIST+RUN GALLERY